คดีปลดแอกเด็ก

กรณีสะเทือนขวัญของการที่เด็กนักเรียนอายุ 14 ปีเอาปืนมาเที่ยวกราดยิงผู้คนในศูนย์การค้าสยามพารากอนที่มีทีท่าว่าผู้กระทำผิดอาจไม่ต้องได้รับโทษ


กรณีสะเทือนขวัญของการที่เด็กนักเรียนอายุ 14 ปีเอาปืนมาเที่ยวกราดยิงผู้คนในศูนย์การค้าสยามพารากอนในช่วงบ่ายวันอังคารที่ผ่านมา ที่มีทีท่าว่าเด็กผู้กระทำผิดอาจไม่ต้องได้รับโทษ เพราะกฎหมายอาญาของไทยระบุว่า ผู้เยาว์อายุไม่เกิน 16 ปีการทำความผิดไม่ต้องได้รับโทษ แต่ในทางแพ่งผู้เสียหายหรือญาติอาจเรียกร้องความผิดทางแพ่งจากผู้ปกครองของเด็กในข้อหาละเลยปล่อยให้ผู้เยาว์ไปกระทำความผิด

คดีดังกล่าวดูจะเข้าเค้าไปในทางที่ว่านี้เพราะมีข่าวออกมาแล้วว่าเด็กมีแรงกดดันจากการต้องเรียนพิเศษวันละ 5 ชั่วโมง รวมเวลาเรียนทั้งในห้องเรียนตามปกติตกวันละไม่ต่ำกว่า 9 ชั่วโมงมาตั้งแต่อายุ 6 ขวบ เพื่อสอบเข้าโรงเรียนดัง ๆ ให้ได้ และพ่อแม่สนับสนุนให้เด็กไปเรียนยิงปืนเพื่อคลายเครียด และเด็กก็ใช้ปืนนั้นมากราดยิงผู้คนในสยามพารากอนโดยที่ไม่รู้จักหรือมีความโกรธเคืองมาก่อนเลย

ทำไปทำมาการก่ออาชญากรรมของเด็กคนนี้จึงเกิดจากการหลงผิดของพ่อแม่และระบบการศึกษาของไทยที่เป็นแบบ “แพ้คัดออก” นั่นเอง

ระบบแพ้คัดออกนี้ไม่ใช่เฉพาะประเทศไทยเท่านั้น แต่เป็นปัญหาเกือบทั่วโลก

ตัวอย่างเช่นประเทศญี่ปุ่น มีนักเรียนที่ฆ่าตัวตายปีละไม่ต่ำกว่า 1,000 คน เนื่องจากทนแรงกดดันไม่ไหวจากการเรียนในห้องเรียนสัปดาห์ละ 6 วัน และต้องเรียนพิเศษนอกห้องเรียนอีกเยอะแยะ ส่วนในเกาหลีใต้ก็ไม่แพ้กัน ซึ่งปรากฏในซีรีส์เกาหลีชุด Extraordinary Attorney Woo ในตอนที่มีชื่อว่า The Pied Piper ที่วิพากษ์วิจารณ์ระบบการศึกษาของเกาหลีในปัจจุบันอย่างตรงไปตรงมาว่ากำลังทำลายเยาวชนที่เป็นอนาคตของชาติอย่างรุนแรง

เนื้อหาของซีรีส์เรื่องนี้เริ่มด้วยทนายความอูยองอูไปรับว่าความให้กับคดีลักพาตัวเด็ก 12 คน โดยผู้ก่อเหตุชื่อบงกูปง ซึ่งเป็นลูกชายของเจ้าของโรงเรียนกวดวิชาชื่อมูจิน ที่เข้มงวดกับการสอนมาก เด็กต้องเรียนตั้งแต่ 17.00-22.00 น.

บงกูปงอ้างว่าโรงเรียนกวดวิชาดังกล่าวคือเล่ห์เพทุบายของพ่อแม่และโรงเรียนกวดวิชาที่ทำให้เด็กขาดเสรีภาพ ต้องทำตัวว่านอนสอนง่ายในนามของความปรารถนาดีที่จอมปลอม ซึ่งทำให้เด็กไม่มีความสุข เพราะไม่ได้เล่น และสุขภาพก็ย่ำแย่เพราะกินอาหารผิดเวลา ตอนที่ลักพาตัวเด็ก ๆ ไปเค้ามีข้อเสนอให้เด็กเลือก 3 ข้อ เพื่อรับเด็กเข้าเป็นสมาชิกกองทหารปลดแอกเด็ก ประกอบด้วย

ข้อที่หนึ่ง ขอให้เด็กได้เล่นเดี๋ยวนี้

ข้อสอง ขอให้เด็กได้มีสุขภาพดีเดี๋ยวนี้

ข้อสาม ขอให้เด็กได้มีความสุขเดี๋ยวนี้

ข้อเสนอดังกล่าวเด็กชื่นชอบมาก แต่ผู้ปกครองเด็กและแม่ของบงกูปงมองว่าเขามีสติไม่สมประกอบ 

บรรดาทนายความที่รับว่าความให้เขารวมทั้งอูยองอูพยายามช่วยให้เขาหลุดพ้นคดีซึ่งมีโทษรุนแรง แต่เขายืนกรานว่ากองทหารปลดแอกเด็กของเขาเป็นสิ่งที่ถูกต้อง แม้หนังจะไม่ได้สรุปว่าเขาหลุดพ้นข้อกล่าวหาหรือไม่ แต่ข้อกล่าวหาที่เขามีต่อระบบการศึกษาแบบแพ้คัดออกของเกาหลีใต้นั้นตรงกับเรื่องราวของเนื้อหาเพลงก้อนอิฐก้อนหนึ่งบนกำแพง หรือ another brick in the wall ของวง Pink Floyd ของอังกฤษ ที่โจมตีระบบการศึกษาปัจจุบันว่าเปรียบเสมือนการสร้างเด็กให้เป็นอิฐก้อนหนึ่งบนกำแพงเท่านั้น และงานทางด้านการศึกษาของเปาโล แฟร์แห่งบราซิลที่เป็นที่มาของคำขวัญยุคหนึ่งของกระทรวงศึกษาธิการไทย เรื่องให้เด็กเป็นศูนย์กลางของการเรียนรู้ ซึ่งไม่เคยเป็นจริง เพราะระบบการสอบเข้ายังคงเป็นระบบแพ้คัดออกเหมือนเดิม

โรงเรียนกวดวิชาคือคำตอบของระบบนี้ เนื่องจากข้อสอบเข้าเป็นข้อสอบที่ครูไม่ได้สอน แต่โรงเรียนกวดวิชาสอน

ระบบการศึกษาแบบแพ้คัดออกนี้ได้ส่งเสริมให้โรงเรียนกวดวิชาได้ทำมาหากินกันอย่างโจ๋งครึ่ม เนื่องจากข้อสอบเข้าส่วนใหญ่เจอได้ในเฉพาะโรงเรียนกวดวิชาเท่านั้น ทำให้เราได้เห็นโรงเรียนกวดวิชาที่อาจารย์อุ๊ลงทุนสร้างคอมเพล็กซ์ราคา 800 ล้านบาทใจกลางกรุงเทพฯ และคุมองได้กลายเป็นที่พึ่งของเด็ก ๆ และผู้ปกครองทุกชั้นเรียนด้วยแฟรนไชส์มูลค่ามากกว่า 1,000 ล้านบาทต่อปี ซึ่งก็มีผู้ซื้อแฟรนไชส์ไปเปิดทั่วประเทศ นับเป็นธุรกิจที่ใหญ่โตโดยไม่ต้องเสียภาษีรายได้

การศึกษาแบบแพ้คัดออกนี้น่าจะเป็นส่วนหนึ่งของแรงกดดันให้เด็กเกิดความเครียด ซึ่งมีการแสดงออกต่าง ๆ กันไป รวมทั้งการติดยาเสพติด

กรณีของเด็กที่ก่ออาชญากรรมในสยามพารากอนน่าจะทำให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างกว้างขวาง แต่ต้องไม่ลืมเรื่องระบบการศึกษาแบบแพ้คัดออกที่ผิดพลาดนี้ด้วย

Back to top button