พาราสาวะถี
ชีพจรลงเท้านายกรัฐมนตรีคนที่ 30 เสร็จสิ้นภารกิจลงพื้นที่ 3 จังหวัดภาคอีสาน ก็มีโปรแกรมเดินทางต่อไปเขตบริหารพิเศษฮ่องกง
ชีพจรลงเท้านายกรัฐมนตรีคนที่ 30 เสร็จสิ้นภารกิจลงพื้นที่ 3 จังหวัดภาคอีสาน ศุกร์และเสาร์ที่ผ่านมา วันอาทิตย์ก็มีโปรแกรมเดินทางต่อไปเขตบริหารพิเศษฮ่องกง โดยที่วันนี้ (9 ตุลาคม) เศรษฐา ทวีสิน มีกำหนดการพบหารือทวิภาคีกับผู้บริหารสูงสุดเขตบริหารพิเศษฮ่องกง ณ ทำเนียบผู้บริหารสูงสุดฮ่องกง และพบหารือภาคธุรกิจฮ่องกง จากนั้นรุ่งขึ้นบินไปยังบันดาร์เสรีเบกาวัน ประเทศบรูไน เข้าร่วมพิธีต้อนรับอย่างเป็นทางการ และเข้าร่วมหารือทวิภาคีกับสมเด็จพระราชาธิบดีแห่งบรูไนดารุสซาลาม
วันถัดไปเดินทางต่อไปที่มาเลเซีย มีพบหารือกับนายกรัฐมนตรีมาเลเซีย แถลงข่าวร่วมกัน และในช่วงเย็นทางนายกฯ มาเลเซียจะเป็นเจ้าภาพเลี้ยงอาหารเย็นเพื่อเป็นเกียรติแก่ผู้นำไทย ปิดท้ายทริปนี้ของเศรษฐา พฤหัสบดีที่ 12 ตุลาคม ไปสิงคโปร์ ช่วงเช้ามีกำหนดการหารือทวิภาคีกับนายกรัฐมนตรีสาธารณรัฐสิงคโปร์ แถลงข่าวร่วมกัน ก่อนที่ช่วงบ่ายจะพบหารือกับนักธุรกิจสิงคโปร์ โดยคณะของท่านผู้นำจะเดินทางกลับถึงประเทศไทยที่บน.6 ในช่วงเย็นวันเดียวกัน
เป็นการแสดงความฟิต ทำงานอย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย ในแง่ของภาพจำจากประชาชนย่อมปฏิเสธไม่ได้ว่าเศรษฐามุ่งมั่นที่จะเข้ามาแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของคนส่วนใหญ่ และแกนนำพรรคเพื่อไทยเองก็เข้าใจกันดีว่า ภายในระยะเวลาอันสั้นคือไม่เกิน 3 เดือนต้องมีรูปธรรมของงานที่ได้ลงแรงกันไป ขณะนี้ที่ถูกจับตาคงหนีไม่พ้นสองเรื่องสำคัญคือ นโยบายดิจิทัลวอลเล็ต กับ คณะกรรมการศึกษาการทำประชามติเพื่อนำไปสู่การแก้ไขรัฐธรรมนูญ
เรื่องของเงิน 1 หมื่นบาทที่จะเติมเข้ากระเป๋าดิจิทัลของประชาชน ซึ่งท่านผู้นำลั่นวาจาไว้ว่าจะต้องเริ่มดำเนินการในต้นเดือนกุมภาพันธ์ปีหน้านั้น วันนี้มีเสียงวิจารณ์กันอย่างกว้างขวางโดยเฉพาะฝ่ายที่ไม่เห็นด้วย แต่เนื่องจากเป็นนโยบายสำคัญของพรรคเพื่อไทย และเศรษฐาก็เชื่อมั่นว่าจะสร้างประโยชน์มหาศาลทั้งกับประชาชนและเศรษฐกิจของประเทศ มันจึงเป็นประเภทยกเลิกไม่ได้ถอยหลังหกล้ม ไม่ว่าจะยังไงต้องเดินหน้าต่อไป
ชัดเจนจากคำให้สัมภาษณ์ล่าสุดของเศรษฐา นักวิชาการออกมาวิพากษ์วิจารณ์เยอะ ตนน้อมรับ แต่อย่าลืมว่านักวิชาการก็เป็นแค่หนึ่งเสียง ประชาชนมีอีกหลายสิบล้านเสียงที่ต้องการเงินดิจิทัล รัฐบาลน้อมรับฟังและนำไปปรับปรุงเพื่อให้ประโยชน์สูงสุดตกอยู่กับทุกฝ่าย ทั้งฝ่ายที่เสียภาษี ฝ่ายประชาชนที่มีความเดือดร้อนจากปัญหาเศรษฐกิจอย่างมากที่หมักหมมมานาน ซึ่งเจ้าตัวก็ย้ำว่าขอให้มั่นใจรัฐบาลนี้จะไม่ลุแก่อำนาจ และจะฟังความคิดเห็น
เหนือสิ่งอื่นใดความลำบากของประชาชน การที่ประชาชนขาดเงินทุนที่จะไปดำรงชีพเป็นเรื่องสำคัญ เป็นเรื่องที่รัฐบาลต้องให้ความสำคัญที่สุด “ยืนยันจะไม่มียกเลิกเงินดิจิทัล” พร้อมเรียกร้องด้วยว่านักวิชาการควรรับฟังความคิดเห็นของประชาชนด้วย ตนขอวิงวอนว่านักวิชาการแสดงความคิดเห็นมาเยอะ ขอให้แสดงความคิดเห็นออกมาอีก และนักวิชาการที่เห็นด้วยก็มีก็ช่วยแสดงความคิดเห็นมาด้วย ตนในฐานะคนกลางตัวแทนประชาชน จะนำไปพิจารณาและปรับปรุงโครงการให้มีประสิทธิภาพสูงสุดให้โดนใจทุกคน
อย่างไรก็ตาม ปัญหาของฝ่ายไม่เห็นด้วยนั้น เศรษฐามองว่าน่าจะเป็นการยังไม่ได้เห็นรายละเอียดทั้งหมดของการดำเนินนโยบาย ดังนั้น จึงขอให้ตกผลึกทั้งหมดก่อนในแง่นโยบายว่ารายละเอียดมีอะไรบ้าง รัฐบาลรับฟังและจะไปพิจารณาใหม่ ทั้งนี้ ปลายเดือนตุลาคมนี้ทุกอย่างน่าจะออกมา จึงขอให้อดทนนิดหนึ่ง ซึ่งก็เหมือนที่เจ้าตัวพูดในที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายโครงการเติมเงิน 10,000 บาทผ่านดิจิทัลวอลเล็ต อะไรที่ไม่ได้ถก ไม่ได้พูดกัน หรือมีข้อตกลงที่ขัดแย้งกัน ขอให้พูดคุยกันในคณะกรรมการเพื่อจะหาทางออกที่สมบูรณ์ให้ได้ อย่าให้สาธารณชนมีความสับสน
ความมั่นใจที่จะเดินหน้าโครงการนี้ของเศรษฐานั้น น่าจะมาจากข้อมูล รายละเอียดในส่วนของพรรคเพื่อไทยและทีมที่เตรียมการมีพร้อมทุกอย่างแล้ว นโยบายนี้เป็นนโยบายที่ใช้ครั้งเดียวไม่ได้ทำทุกปี ถ้าทำแล้วไม่ใช่แค่ประชาชน ภาคอุตสาหกรรมก็จะได้ สื่อลองคิดดูวันที่ดิจิทัลวอลเล็ตไปสู่กระเป๋าเงินประชาชนทุกคนประมาณ 5 แสนกว่าล้านบาท ถ้าเป็นภาคอุตสาหกรรมจะผลิตสินค้ามารองรับหรือไม่ ก็จะมีการซื้อวัตถุดิบมีการจ้างงาน ห้างร้านก็จะมีกำไร มีการจ่ายภาษีเกิดขึ้น รัฐบาลไม่ใช่จ่ายอย่างเดียวก็มีรายรับกลับมา ก่อนที่จะตบท้ายว่า “เราคิดแล้ว”
ทั้งนี้ ประสาคนที่มีความมั่นใจในตัวเอง และพร้อมตอบทุกคำถามของสื่อ เราจึงได้ยินคำตอบหลังจากถูกตั้งปุจฉากังวลหรือไม่กับนโยบายที่มีคนออกมากระตุกแขนกระตุกขาตลอดเวลาว่า “ผมกังวลทุกเรื่อง” เพราะอยู่ตำแหน่งตรงนี้ ต้องให้ความสำคัญกับข้อคิดเห็นของทุกฝ่าย ถ้ามีเสียงทักท้วงมาก็กังวล เพราะรัฐบาลโดยเฉพาะตนเชื่อว่าทุกคนก็เป็นประชาชนคนไทยคนหนึ่งที่มีสิทธิให้ความคิดเห็น แม้มีความกังวลแต่ก็พยายามทำดีที่สุด ทางเลือกเดียวที่ทำได้คือ ก้มหน้าก้มตาทำงานต่อไป
ส่วนคณะกรรมการศึกษาการทำประชามติยกร่างรัฐธรรมนูญที่ ภูมิธรรม เวชยชัย นั่งเป็นประธานหลังจากที่เศรษฐาต้องลงนามยกเลิกคำสั่งแต่งตั้งก่อนหน้า แล้วเซ็นคำสั่งใหม่ ด้วยการปลดบรรดาพวกที่เป็น สส.จากพรรคต่าง ๆ ยกชุด ด้วยเหตุที่ว่าคณะกรรมการกฤษฎีกาชี้คนเหล่านั้นเป็นกรรมการไม่ได้ แต่รายชื่อคนที่มาใหม่ ก็ถือว่าชื่อชั้นเป็นที่ยอมรับจากสังคมเช่นกัน อย่าง วุฒิสาร ตันไชย อดีตเลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า เข้ามาเป็นรองประธานกรรมการคนที่ 1 แทนที่ ชูศักดิ์ ศิรินิล สส.ปาร์ตี้ลิสต์และรักษาการรองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย
ส่วนคนอื่น ไม่ว่าจะเป็น สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ ประธานคณะทำงานนโยบาย กทม. พรรคประชาธิปัตย์ วิศิษฏ์ วิศิษฏ์สรอรรถ ปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ชวลิต วิชยสุทธิ์ จากไทยสร้างไทย เจือ ราชสีห์ จากรวมไทยสร้างชาติ กฤช เอื้อวงศ์ อดีตรองเลขาธิการ กกต. ล้วนแต่เป็นบุคคลที่คร่ำหวอดและแนบชิดแวดวงการเมืองมายาวนาน ดังนั้น ภาพของคณะกรรมการชุดนี้จึงยังพอเป็นความหวังได้อยู่ อยู่ที่ว่าจะทำงานได้เร็วและเข้าตาแค่ไหนเท่านั้นเอง