บาทอ่อนกับแบงก์ชาติ
กรณีที่ CFETS ของแบงก์ชาติจีนรายงานว่า อัตราค่ากลางสกุลเงินวานนี้ แตะที่ 7.1789 หยวนต่อดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งถือเป็นกรณีพิเศษเพราะมีแต่จีนเท่านั้นที่ทำได้
กรณีที่ China Foreign Exchange Trading System (CFETS) ของแบงก์ชาติจีนรายงานว่า อัตราค่ากลางสกุลเงินวานนี้ แตะที่ 7.1789 หยวนต่อดอลลาร์สหรัฐซึ่งถือเป็นกรณีพิเศษเพราะมีแต่จีนเท่านั้นที่ทำได้ ก่อนหน้านี้ในปีที่ผ่านมาค่าเงินดอลลลาร์สหรัฐเทียบกับค่าเงินหยวนที่ระดับ 5.5 หยวนเท่านั้น
การอ่อนค่าดังกล่าวถือเป็นกรณีพิเศษทั้งที่จีนได้เปรียบดุลการค้าสหรัฐฯ อย่างต่อเนื่องและสหรัฐฯ มักจะกล่าวหาว่าจีนกำลังบิดเบือนค่าเงินหยวนให้ถูกเกินจริงเหมือนกับยอมถอยให้กับการแข็งค่าของดอลลาร์สหรัฐเพราะจีนยังต้องการได้เปรียบดุลการค้ากับสหรัฐฯ ต่อไป โดยไม่หวั่นกับแรงกดดันจากสหรัฐฯ ที่ต้องการให้ค่าเงินหยวนแข็งค่าขึ้น
กรณีที่แบงก์ชาติจีนทำการแข็งข้อต่อสหรัฐฯ โดยแท้จริงคือรุกทางการค้าด้วยค่าเงินที่ต่ำลง เป็นกรณีศึกษาที่น่าสนใจเช่นเดียวกันกับแบงก์ชาติอื่นที่กำหนดค่าเงินสกุลตัวเองให้ต่ำลงเพื่อรักษาความได้เปรียบของดุลการค้ากับสหรัฐฯ ต่อไปอีก สำหรับประเทศไทยนั้นแบงก์ชาติแม้จะประกาศค่าเงินบาทลอยตัวเสรีแต่ก็ยังติดตามดูอยู่ห่าง ๆ มองผิวเผินแล้วเหมือนไม่ได้ทำอะไร แต่การกระทำด้วยการปรับอัตราดอกเบี้ยก็ถือเป็นการกระทำที่ยากเย็นของนโยบายสร้างเสถียรภาพของค่าเงินบาทด้วยการตั้งเป้าหมายเงินเฟ้ออยู่แล้ว วิธีการของแบงก์ชาติไทยคือป้องกันไม่ให้เงินบาทแข็งค่าเกินไป เพราะถ้าเงินบาทแข็งค่านอกจะกระทบการส่งออกแล้วยังมีผลให้แบงก์ชาติขาดทุนอย่างหนักในแต่ละปีอีกด้วย กรณีที่เงินบาทอ่อนค่าจนทะลุ 37 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐจึงถือเป็นการยิงกระสุนนัดเดียวได้นกสองตัว
คือด้านหนึ่งทำให้การส่งออกของไทยดีขึ้นโดยธรรมชาติและธุรกิจการบริการท่องเที่ยวได้รับประโยชน์ไปเต็ม ๆ
และอีกด้านหนึ่งยังทำให้แบงก์ชาติมีกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยนและการไม่ต้องแทรกแซงตลาดเงินอย่างรุนแรงด้วยการพิมพ์พันธบัตรออกมาขายในตลาดเหมือนในช่วงเงินบาทแข็งค่า
งบการเงินของแบงก์ชาติที่เคยขาดทุนหนักจากการแทรกแซงตลาดเงินช่วงเงินบาทแข็งถึงแม้จะยังไม่ออกมา แต่ก็คาดว่าจะมีกำไรมหาศาลจากการที่แบงก์ชาติยอมปล่อยให้เงินบาทอ่อนค่าลง
ที่เป็นเช่นนี้เพราะนโยบายเป้าหมายเงินเฟ้อที่แบงก์ชาติไทยยึดถือมาตั้งแต่ปล่อยค่าเงินบาทลอยตัวในปี 2540 ทำให้แบงก์ชาติต้องเข้าแทรกแซงเงินบาทที่กำลังแข็งค่าด้วยการออกพันธบัตรเพื่อลดค่าเงินบาทลง ทำให้เกิดตัวเลขขาดทุนในงบการเงินของแบงก์ชาติซึ่งปรากฏตัวเลขขาดทุนไปถึง 8 แสนล้านบาทจนเป็นที่น่ากังวลมาแล้ว
ในทางกลับกัน หากเป็นช่วงค่าเงินบาทอ่อนแบงก์ชาติก็ไม่จำเป็นต้องมีภาระอุ้มชูเอกชนที่ก่อหนี้กับบริษัทหรือสถาบันการเงินต่างชาติตามสไตล์นโยบาย “คุณพ่อรู้ดี” และเปิดช่องให้เอกชนกู้เงินในตลาดตราสารหนี้ในประเทศมากขึ้น ทำให้ตลาดตราสารหนี้เติบใหญ่อย่างมาก
ตัวเลขงบการเงินที่สวยหรูในปีนี้ของแบงก์ชาติน่าจะช่วยคลายกังวลของพวกนักเศรษฐศาสตร์ที่เคยห่วงว่าแบงก์ชาติจะขาดทุนจนถึงขั้นล้มละลายไปได้
การอ่อนค่าของเงินบาทจึงไม่เป็นเรื่องเลวร้ายเสมอไป