BCP-ESSO ตั้งลูกเชื่อม Synergy

หลังจากเสร็จสิ้นกระบวนการปรับโครงสร้างผู้ถือหุ้นใหญ่ ESSO โดย BCP ซื้อหุ้นจาก ExxonMobil สัดส่วน 65.99% และตั้งโต๊ะเทนเดอร์ฯ หุ้นส่วนที่เหลือทั้งหมด


หลังจากเสร็จสิ้นกระบวนการปรับโครงสร้างผู้ถือหุ้นใหญ่บริษัท เอสโซ่ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ ESSO โดยบริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ BCP ซื้อหุ้นจาก ExxonMobil สัดส่วน 65.99% และตั้งโต๊ะเทนเดอร์ฯ หุ้นส่วนที่เหลือทั้งหมด แต่ปรากฏว่ารอบแรก (ระหว่างวันที่ 8 ก.ย.-5 ต.ค.) มีผู้แสดงเจตจำนงขายหุ้นแค่ 61.03 ล้านหุ้น คิดเป็น 1.76% เท่านั้น (รอบที่สองยังไม่มีการเปิดเผยข้อมูล)

สะท้อนว่าผู้ถือหุ้นรายย่อยไม่ได้ต้องการจะขายหุ้น ESSO ให้กับบางจากน่ะสิ..!! ก็ว่ากันไป

แต่บางจากคงไม่ได้ซีเรียสอะไร เพราะแค่นี้ก็มีอำนาจเบ็ดเสร็จใน ESSO แล้วล่ะ…

สเต็ปถัดไปก็เป็นเรื่องของการดำเนินธุรกิจว่าจะเอายังไง..?? และเนื่องจากหลังควบรวมกันแล้วจะมีโรงกลั่น 2 แห่ง โดยโรงกลั่นบางจาก (ตั้งอยู่ที่เขตพระโขนง กรุงเทพฯ) มีกำลังกลั่นเฉลี่ยอยู่ที่ 120,000 บาร์เรลต่อวัน ส่วนโรงกลั่นเอสโซ่ (ตั้งอยู่ที่ อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี) มีกำลังการกลั่นเฉลี่ยอยู่ที่ระดับ 170,000 บาร์เรลต่อวัน

ดังนั้น เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด จึงได้ร่วมกันจัดตั้งบริษัทที่ชื่อบริษัท รีไฟเนอรี่ ออฟติไมซ์เซชั่น แอนด์ ซินเนอร์ยี่ เอนเตอร์ไพรส์ จำกัด (ROSE) ซึ่งมีทุนจดทะเบียน 1 ล้านบาท โครงสร้างการถือหุ้นแบ่งเป็น BCP และ ESSO ถือหุ้นเท่า ๆ กันคนละครึ่ง…

หน้าที่ของ ROSE จะเป็นผู้ให้บริการสนับสนุนด้านบริหารงาน (Shared Service) สำหรับธุรกรรมที่เกี่ยวข้องกับการวางแผนและให้คำแนะนำในธุรกิจโรงกลั่นน้ำมันของทั้งสองบริษัท โดยมีขอบเขตการให้บริการตั้งแต่การวางแผนการกลั่น จะเพิ่มประสิทธิภาพอย่างไรให้เกิดประโยชน์สูงสุด ปรับเปลี่ยนเทคโนโลยี หรืออะไรยังไง

ตามด้วยการวางแผนการผลิตของแต่ละโรงกลั่น เช่น โรงกลั่นเอสโซ่ สามารถผลิตน้ำมันเจ็ท หรือน้ำมันเติมเครื่องบินได้ ซึ่งเดิมอาจผลิตน้ำมันเจ็ทอยู่ที่ 70% ก็อาจเพิ่มเป็น 100% ไปเลย เพราะมีมาร์จิ้นที่สูงกว่าน้ำมันทั่วไป ในขณะที่โรงกลั่นบางจากมีความทันสมัยน้อยกว่า ก็เน้นการผลิตน้ำมั่นทั่วไปแทน

การวางแผนกระบวนการจัดหาน้ำมันดิบ จะนำเข้าจากแหล่งไหน ใช้ปริมาณเท่าใด กี่ล้านลิตร กี่บาร์เรล จะขึ้นท่าเทียบเรือที่ไหน จะขนส่งอย่างไร เพื่อให้ประหยัดต้นทุนได้มากสุด รวมถึงการบริหารความเสี่ยงด้านราคาน้ำมัน หรือ Hedging ตามสถานการณ์ตลาด บริหารการขาย และงานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง เป็นต้น

เรียกว่าเป็นการตั้งบริษัทลูกเพื่อเชื่อม Synergy ของทั้งสองบริษัทนั่นเอง..!!

ซึ่งหาก ROSE โชว์ฝีไม้ลายมือ สามารถบริหารงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ นั่นหมายถึงมีโอกาสจะได้เห็นผลการดำเนินงานของ BCP และ ESSO เติบโตมากขึ้นน่ะสิ

ไม่นับรวมการรับรู้รายได้และกำไรจาก ROSE ตามสัดส่วนการถือหุ้นที่จะเข้ามาอีกขาหนึ่งนะ…

แล้วถ้าให้เดา การจัดตั้ง ROSE เป็นแค่จุดเริ่มต้นของการ Synergy ธุรกิจระหว่าง BCP กับ ESSO หลังควบรวมกันเท่านั้น หลังจากนี้น่าจะเห็นการควงแขนกันทำอะไรต่อมิอะไรด้วยกันมากขึ้น…เชื่อหัวไอ้เรืองสิ

ส่วนจะเป็นอะไรบ้างนั้น..?? ถ้าใครอยากรู้ คงต้องยกหูไปถาม “เฮียชัยวัฒน์ โควาวิสารัช” แม่ทัพใหญ่ของบางจากเอาเองละกัน…

…อิ อิ อิ…

Back to top button