พาราสาวะถี
สถานการณ์สงครามอิสราเอล-ฮามาส ไม่ต้องถามถึงจุดจบ ดูในส่วนความเสียหายของผู้ที่ได้รับผลกระทบโดยเฉพาะแรงงานไทยดีกว่า
สถานการณ์สงครามอิสราเอล-ฮามาส ไม่ต้องถามถึงจุดจบ ดูในส่วนความเสียหายของผู้ที่ได้รับผลกระทบโดยเฉพาะแรงงานไทยดีกว่า ความสูญเสียในแง่ของชีวิตตัวเลขจะอยู่ที่เท่าไหร่ ตัวประกันที่ถูกจับชะตากรรมจะเป็นแบบไหน ส่วนผู้ประสงค์จะเดินทางกลับประเทศก็ยังเพิ่มจำนวนต่อเนื่อง เป็นเรื่องธรรมดาที่ไหนไร้ความสงบ มีชีวิตเป็นเดิมพันแขวนอยู่บนเส้นด้าย การกลับมาตั้งหลักยังภูมิลำเนาแล้วหาหนทางไปข้างหน้าย่อมดีกว่า ขณะที่ผู้ตัดสินใจปักหลักสู้ต่อก็ต้องเข้าใจในภาระหนักอึ้งที่รออยู่เบื้องหน้า
ด้าน เศรษฐา ทวีสิน หลังจากเสร็จภารกิจเยือน 3 ประเทศ 1 เขตปกครองพิเศษ เครื่องบินแตะรันเวย์ที่บน. 6 รีบบึ่งไปหารือกับกระทรวงการต่างประเทศทันที ทุกอย่างต้องบัญชาการแก้ไขความเดือดร้อนของคนไทยในดินแดนยิวอย่างเร่งด่วน สอดรับกับความเดือดร้อนของคนที่นั่นและญาติที่รออยู่ที่นี่ ส่วนการลงพื้นที่ดูแลคนในประเทศก็เดินทางไปพิษณุโลกเตรียมการรับมือสถานการณ์น้ำท่วม สารพัดปัญหาที่เป็นความหวังของคนไทยยังไงก็ต้องทำงานตามที่ได้พูดไว้ต้องไม่รู้จักเหน็ดจักเหนื่อย
ที่เฉื่อยชาไม่ได้คือ รัฐมนตรีร่วมคณะและ สส.โดยเฉพาะจากเพื่อไทยต้องขยันเพิ่มเท่าตัว จากเคยพบปะประชาชนรับเรื่องจากชาวบ้านแล้วสะท้อนให้รัฐบาล จากนั้นก็รอแล้วแต่เวรแต่กรรม ได้เมื่อไหร่ก็เมื่อนั้น สำหรับรัฐบาลนี้ไม่ได้ ปัญหาไหนที่แก้ได้ต้องทำทันที แต่ต้องอาศัยงบประมาณและมีกระบวนการขั้นตอนของทางราชการก็ให้รอ แต่ต้องไม่นาน นี่คือนโยบายหลักที่สั่งการกันในพรรคเมื่อเทเดิมพันหมดหน้าตักไปแล้ว ก็ต้องช่วยกันทุกทางเพื่อเรียกคะแนนนิยมกลับคืนมา
ปัญหาใหญ่ที่สร้างความหนักใจให้กับเศรษฐาและเพื่อไทยหนีไม่พ้นนโยบายดิจิทัลวอลเล็ต เห็นได้ชัดว่าพวกคนหน้าเดิมสุมหัวกันทำเป็นขบวนการเพื่อล้มเรื่องนี้ให้ได้ การหยิบยกเอาโครงการจำนำข้าวมาเปรียบเทียบก็เท่ากับการกระทืบเท้าขู่ การตั้งคณะอนุกรรมการขึ้นมาศึกษาเรื่องนี้นี่เป็นภาพของการแยกเขี้ยวใส่ ปลายทางหากนโยบายนี้มีตำหนิก็พร้อมที่จะถูกขย้ำทันที แต่งานนี้เมื่อมันเป็นเดิมพันอนาคตพรรคและสร้างความหวังให้ประชาชน บนความเชื่อมั่นว่าจะกระตุ้นเศรษฐกิจให้ฟื้นคืนมาได้ ก็ต้องใส่กันเต็มสูบ
องคาพยพที่ขับเคลื่อนเรื่องนี้มีการเตรียมพร้อมกันอย่างเต็มที่ เพียงแต่ต้องอาศัยกลไกคณะกรรมการที่รัฐบาลตั้งขึ้น ซึ่งมีตัวแทนของคนเห็นต่างมาถกเถียงกันให้ตกผลึก เดินหน้าได้ไม่ได้ต้องให้จบกันตรงนี้ ที่คาใจกันคงหนีไม่พ้นงบประมาณที่จะนำมาใช้มาจากไหน ก่อเกิดภาระทางการเงินการคลัง เป็นหนี้ผูกพันก้อนโตตามที่ฝ่ายต่อต้านค้านหัวชนฝาหรือไม่ ถ้าอธิบายได้ ชี้แจงชัด แล้วรีบเดินหน้าให้เห็นผล ก็ไปวัดกันว่าจะเป็นไปอย่างที่วาดหวังไว้หรือล้มเหลวไม่เป็นท่า
ปัญหาภายในพรรคนายใหญ่ไร้แรงกระเพื่อมใด ๆ หลังเกิดปฏิกิริยาจาก เฉลิม อยู่บำรุง กระทุ้งไปถึง ทักษิณ ชินวัตร คนที่นอนอยู่ชั้น 14 โรงพยาบาลตำรวจ จะว่าเป็นจำอวดการเมืองของนักการเมืองรุ่นเก่าก็ไม่คงไม่ผิด ไม่มีอะไรลึกลับซับซ้อนเป็นเสียงเรียกของคนที่ไม่ได้รับการแยแส ดูแลให้สมฐานะคนที่เคยมีอิทธิพลทางการเมือง แต่การที่เจ้าตัวหลุดปากบอกว่าคบหาแต่ทักษิณกับ คุณหญิงพจมาน ดามาพงศ์ เท่านั้น มันก็เหมือนการยกตนข่มท่าน ขู่ผู้บริหารในพรรคว่าอย่ามาด้อยค่าคนอย่างตน
พลันที่หัวหน้าพรรคคนต่อไปจะชื่อ แพทองธาร ชินวัตร มันก็เหมือนการส่งสัญญาณถึงบรรดาผู้อาวุโสทั้งหลายภายในพรรคต้องปรับเปลี่ยนตัว และพร้อมรับความเปลี่ยนแปลง บทบาทของพรรคหลังจาก 23 ตุลาคมนี้ไปจะตกไปอยู่ภายใต้ความรับผิดชอบของคนรุ่นใหม่ภายใต้การนำของอุ๊งอิ๊ง สิ่งที่คนภายนอกจับตามองนอกเหนือจากคนในพรรคที่มีอยู่แล้ว จะมีการเติมบางรายชื่อเข้ามาเพื่อเรียกคะแนนนิยมจากพวกที่เบื่อสีส้มแล้วต้องการหาทางเลือกใหม่หรือไม่
ไม่ใช่แค่ดิจิทัลวอลเล็ตที่ถือเป็นเดิมพันสูงสำหรับพรรคนายใหญ่ การแก้ไขรัฐธรรมนูญซึ่ง ภูมิธรรม เวชยชัย เป็นประธานคณะกรรมการขับเคลื่อน ฟังจากตัวแทนนักวิชาการที่ร่วมเป็นกรรมการแล้ว มีแนวโน้มว่าน่าจะขยับกันได้ เมื่อไม่แตะหมวด 1 หมวด 2 ไม่สุดโต่ง ก็เท่ากับเป็นการตัดเงื่อนไขการคัดค้านไปได้มากโข ที่เหลือเป็นเรื่องของกระบวนการไม่ว่าจะต้องทำประชามติกี่ครั้ง แบบไหน อย่างไร และจะให้มี ส.ส.ร.เพื่อมายกร่างหรือไม่
เงื่อนไขทั้งสองประการอยู่ที่คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญคือ ต้องทำประชามติอย่างน้อย 3 ครั้ง ซึ่งรัฐบาลมองว่าน่าจะเป็นภาระงบประมาณ ขณะเดียวกัน ก็ต้องมองกันว่าเมื่อคำวินิจฉัยที่ให้ทำประชามติแบบนั้น เป็นเรื่องของการแก้ไขทั้งฉบับ แต่รัฐบาลตัดประเด็นไม่แตะสองหมวดสำคัญไปแล้ว ก็เท่ากับว่าไม่ใช่แก้ทั้งฉบับ สามารถตัดประเด็นไม่ต้องทำประชามติส่วนนี้ได้หรือไม่ ส่วนรายละเอียดปลีกย่อยอื่น ๆ ก็เคาะกันในคณะกรรมการ ประกอบกับการรับฟังความเห็นจากภายนอกให้รอบด้าน
ประวิงเวลาหรือไม่ มีคำตอบจาก นิกร จำนง กรรมการในส่วนของพรรคชาติไทยพัฒนา กรอบการทำประชามติรัฐธรรมนูญจะชัดเจนภายในเดือนธันวาคมนี้ คงเคาะกันให้เห็นพัฒนาการเป็นเบื้องต้นก่อน เพราะรายทางมีเงื่อนใหญ่ที่ต้องรวบรวมเสียงสะท้อนจากทุกภาคส่วน ดังนั้น กรอบกว้าง ๆ ที่ทั้งภูมิธรรมและกรรมการเห็นตรงกันคือ รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ต้องเสร็จภายใน 4 ปีก่อนที่รัฐบาลนี้จะหมดวาระ (ถ้าอยู่ยาวขนาดนั้น) อาจจะได้เห็นการเร่งเป็นบางช่วงบางจังหวะที่มีกลุ่มเคลื่อนไหวเรียกร้อง เร่งเร้า
แต่นาทีนี้ สิ่งที่ประชาชนอยากเห็นมากที่สุดเป็นเรื่องปากท้องที่เดือดร้อนกันมากว่า 9 ปีแล้ว ชัดเจนผ่านผลสำรวจความคิดเห็นของโพลสำนักต่าง ๆ เห็นกันอย่างนี้ก็น่าจะรู้แล้วว่า เสียงค้านมีมากหรือน้อยกว่าคนที่ยกมือหนุนเติมเงิน 1 หมื่นบาทเข้ากระเป๋าเงินดิจิทัล นั่นจึงเป็นอีกเหตุผลที่ทำให้เศรษฐาสอบถามและตอกย้ำทุกครั้งเวลาลงพื้นที่ว่า ประชาชนกำลังรอความหวังจากรัฐบาลในการเดินหน้านโยบายนี้ แบบนี้แล้วจะให้ใส่เกียร์ถอย ไม่เดินหน้าได้อย่างไร