Green Finance ธุรกรรมการเงินสีเขียว

หลายประเทศทั่วโลกเกิดการตื่นตัวและประกาศนโยบายเพื่อมุ่งสู่เป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero)


หลายประเทศทั่วโลกเกิดการตื่นตัวและประกาศนโยบายเพื่อมุ่งสู่เป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) หลังการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) ทวีความรุนแรงมากขึ้นโดยกลุ่มสถาบันการเงินถือว่ามีบทบาทสำคัญต่อการขับเคลื่อนนโยบายดังกล่าวผ่านกลไกการเงินรูปแบบต่าง ๆ เพื่อสร้างแรงจูงใจให้ภาคอุตสาหกรรมในการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนและเปลี่ยนผ่านสู่ “เศรษฐกิจสีเขียว” มากยิ่งขึ้น

นั่นจึงทำให้ “การเงินสีเขียว” (Green Finance) กลายเป็นเมกะเทรนด์ที่กำลังได้รับความสนใจมากขึ้นทั่วโลกเนื่องจากเป็นแนวทางช่วยให้การดำเนินธุรกิจของโลกทุนนิยมที่เคยถูกมองว่าเป็นหนึ่งในต้นตอสำคัญทำให้เกิด Climate Change สามารถดำเนินธุรกิจได้อย่างยั่งยืนและตอบโจทย์การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม เช่นเดียวกับผู้บริโภคที่หันมาใช้สินค้าและบริการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น

โครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (UNEP) ให้คำนิยาม Green Finance ว่าเป็นการเพิ่มกระแสการเงินไม่ว่าจะจากธนาคาร การให้สินเชื่อ การประกันภัยและการลงทุนทั้งจากภาครัฐและภาคเอกชนเพื่อให้ไหลเข้าสู่กิจกรรมของโลกธุรกิจที่ให้ความสำคัญกับการพัฒนาอย่างยั่งยืน

ไฮไลต์สำคัญ..อยู่ที่การบริหารความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อมและสังคมให้ดีขึ้น คว้าโอกาสในการ “ให้ผลตอบแทน” พร้อมกับ “ประโยชน์ต่อสิ่งแวดล้อม” เพื่อนำไปสู่การดำเนินธุรกิจที่มีความรับผิดชอบ

ช่วงที่ผ่านมา ทั่วโลกมีความต้องการเงินทุนจำนวนมาก เพื่อบรรลุเป้าหมายด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ทำให้จำเป็นต้องมีการพัฒนาเครื่องมือทางการเงินเพื่อจับคู่นักลงทุนกับความต้องการด้าน Green Finance และเพื่อกระจายเงินทุนในอัตราส่วนที่ต้องการ ปัจจุบันเครื่องมือทางการเงินส่วนหนึ่งที่ใช้สำหรับ Green Finance ประกอบด้วย..

ตราสารหนี้สีเขียว (Green bonds) ถือเป็นตัวเลือกที่ได้รับความนิยมในการระดมทุนสำหรับโครงการที่เป็นประโยชน์กับสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะโครงการที่เกี่ยวกับการคมนาคมที่คาร์บอนต่ำ พลังงานสะอาดและอาคารที่มีประสิทธิภาพการใช้พลังงานที่ดี

กองทุนรวมตราสารทุนสีเขียว (Green equity funds) ถือเป็นกองทุนรวมตราสารทุนที่เน้นลงทุนโครงการที่มีนโยบายด้านความยั่งยืนและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมเป็นเครื่องมือที่ทำให้นักลงทุนสามารถรวมเงินลงทุนเพื่อลงทุนตามนโยบายการลงทุน โดย Green equity funds มีการใช้กันอย่างแพร่หลายตลอดช่วง 15 ปีที่ผ่านมา

การกู้ยืมสีเขียว (Green loans) คือการกู้ยืมเงินเพื่อไปใช้สร้างความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม จะมีลักษณะคล้ายกับตราสารหนี้สีเขียว

รายงานผลการสำรวจของ Global Green Finance Index (GGFI 7) ปี 2564 มีการจัดอันดับศูนย์กลางการเงินด้านการเงินสีเขียวโลกโดยพิจารณาจากความพร้อมทั้ง 4 ด้าน คือด้านความยั่งยืน ด้านธุรกิจ ด้านทรัพยากรมนุษย์ และด้านโครงสร้างพื้นฐานพบว่ามาตรฐานการเงินสีเขียวทั่วโลกปรับดีขึ้นศูนย์กลางการเงินชั้นนำในยุโรปตะวันตกเป็นผู้นำกลุ่มโดยติดอันดับ TOP 10 ถึง 8 แห่งจากทั้งหมด 78 ศูนย์การเงินทั่วโลก 

สำหรับประเทศไทยข้อมูลจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ บ่งชี้ว่าช่วงปี 2550-2560 จำนวนบริษัทจดทะเบียนที่จัดอยู่ในกลุ่มธุรกิจสีเขียวมีสัดส่วนน้อยเพียง 0.4% จากบริษัทจดทะเบียนนิติบุคคลทั้งหมด (ไม่นับรวมธุรกิจโรงไฟฟ้า) มีจำนวน 12,322 บริษัทในปี 2560 เพิ่มขึ้นจาก 9,632 บริษัทในปี 2550

อย่างไรก็ดีตัวเลข “สินเชื่อสีเขียว” พบว่ามีการขยายตัวต่อเนื่องโดยปี 2563 อยู่ที่ 2.5% ของสินเชื่อทั้งหมด ในส่วนนี้เป็นสินเชื่อกลุ่มโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทนจำนวนกว่า 280,000 ล้านบาทและปี 2564 ไทยมีโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทนกว่า 844 แห่ง เพิ่มขึ้นกว่า 2 เท่าตัว จากปี 2556 มีจำนวนเพียง 357 แห่ง

นั่นสะท้อนว่าสถาบันการเงิน ผู้ประกอบการธุรกิจและนักลงทุนของไทยเริ่มปรับตัวตามโมเดลธุรกิจใหม่ที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมมากขึ้นและนำไปสู่ความสมดุลระหว่าง “ผลตอบแทนการลงทุน” และ “ผลประโยชน์ต่อสิ่งแวดล้อม” ที่นับจากนี้จะได้เห็นชัดเจนมากยิ่งขึ้น

สำหรับประเทศไทยมีการส่งเสริมกลไกการเงินสีเขียว (Green Finance) ผ่านการออกพันธบัตรเพื่อความยั่งยืนปัจจุบันสามารถระดมเงินได้กว่า 1.25 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐโดยมีการออกพันธบัตรเชื่อมโยงกับความยั่งยืนกระตุ้นการเติบโตของพันธบัตรสีเขียว เพื่อให้มั่นใจว่าองค์กรต่าง ๆ จะได้รับแรงจูงใจในการบรรลุเป้าหมายดังกล่าว

Back to top button