พาราสาวะถี
การอพยพคนไทยจากอิสราเอลกลับประเทศไทยยังคงดำเนินไปต่อเนื่อง แต่ละวันมีเที่ยวบินขนคนกลับมาตุภูมิไม่ต่ำกว่าครึ่งพันคน
การอพยพคนไทยจากอิสราเอลกลับประเทศไทยยังคงดำเนินไปต่อเนื่อง แต่ละวันมีเที่ยวบินขนคนกลับมาตุภูมิไม่ต่ำกว่าครึ่งพันคน โดยมีคนไทยแสดงความประสงค์จะเดินทางกลับเกือบ 8 พันคน กระทรวงการต่างประเทศและกระทรวงแรงงาน ยืนยันจะเร่งดำเนินการช่วยเหลือให้แล้วเสร็จ ทุกคนกลับบ้านอย่างปลอดภัยภายในสิ้นเดือนตุลาคมนี้ ส่วนตัวเลขผู้เสียชีวิตก็ต้องลุ้นกันรายวัน ผู้ที่ถูกจับเป็นตัวประกันการประสานการช่วยเหลืออย่างเป็นทางการคงไม่มีอะไรคืบหน้า หรือเป็นไปด้วยความล่าช้า
หน้าที่ของรัฐบาลทางการทูตก็ว่ากันไป แต่ต้องใช้ช่องทางอื่นเพื่อที่จะสามารถติดตาม รับทราบข่าวสาร รวมไปถึงประสานงานทางลับให้ได้รับการยืนยันว่า ผู้ที่ถูกจับไปเป็นตัวประกันทั้งหมดนั้นยังปลอดภัย กรณีนี้มี วันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ใช้สายสัมพันธ์ของพี่น้องมุสลิมขอให้ทางผู้นำสูงสุดมุสลิมชีอะห์ของไทยประสานไปยังขบวนการฮามาสผ่านทางประเทศอิหร่าน ซึ่งได้คำตอบว่าทุกคนได้รับการดูแลในระดับที่ไม่มีการใช้ความรุนแรงใด ๆ ถือเป็นสัญญาณเชิงบวก
ส่วนประเด็นที่ว่าจะสามารถรุกคืบไปถึงการขอให้ปล่อยตัวทั้งหมด โดยจะต้องผ่านการประสานทางอิหร่าน นั่นก็เป็นอีกเรื่องที่ต้องปกปิดไม่เปิดเผย ซึ่งจะต้องมีอะไรแลกเปลี่ยนเพื่อตอบแทนไม่เรียกว่าค่าไถ่หรือไม่นั้น เป็นสิ่งที่ต้องว่ากันไปตามบริบทของกระบวนการเจรจา ถ้าทุกคนได้รับอิสรภาพก็ถือว่าคุ้มแสนคุ้มแล้ว ขณะที่การรับตัวกลับประเทศคงต้องปิดเป็นความลับเช่นเดียวกัน ไม่ใช่ส่งตัวกลับผ่านทางอิสราเอลแน่นอน ไม่ผ่านอิหร่านก็อียิปต์ ประเทศใดประเทศหนึ่ง
เกมการเมืองรุกไล่ไถ่ถามถึงการก้าวเข้าไปกุมอำนาจรัฐของพรรคเพื่อไทย เพื่อแลกกับการได้กลับประเทศบวกกับการดูแลในระดับวีวีไอพีของ ทักษิณ ชินวัตร ยังคงเดินหน้าต่อเนื่อง หลังภาพการเข็นผู้ต้องขังที่รักษาตัวชั้น 14 โรงพยาบาลตำรวจไปทำการซีที สแกน ถูกตั้งคำถาม เป็นการสร้างภาพเพื่อไม่ให้เกิดคำถามจากฝ่ายต่อต้านต่อการที่ยังไม่ส่งตัวนักโทษชายรายนี้กลับไปยังเรือนจำ ซึ่งอธิบดีกรมราชทัณฑ์ยืนยันภาพที่ปรากฏเป็นเรื่องจริง ส่วน พลตำรวจเอก ต่อศักดิ์ สุขวิมล ผบ.ตร.บอกขอดูรายงานจากทางโรงพยาบาลตำรวจก่อน
จะว่าไปในการติ๊ดชึ่งของฝ่ายตำรวจนั้น ออกตัวได้ไม่ยาก เนื่องจากทักษิณถือเป็นผู้ต้องขังที่อยู่ในการดูแลของกรมราชทัณฑ์ การเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลตำรวจก็เป็นการประสานงานมาจากทางราชทัณฑ์ เนื่องจากมีการลงนามบันทึกข้อตกลงร่วมกันหรือเอ็มโอยูอยู่ ตำรวจจึงมีหน้าที่แค่ช่วยดูแลเรื่องความปลอดภัยเท่านั้น งานนี้ไม่มีอะไรซับซ้อนเมื่อทุกอย่างผ่านกระบวนการชี้แจงและเป็นตามกฎ ระเบียบ อธิบายกันได้ไม่มีอะไรต้องติดใจ
เช่นเดียวกับการได้รับการปล่อยตัวของ เปรมชัย กรรณสูต อดีตประธานบริหารและกรรมการผู้จัดการ บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) ซึ่งถูกคุมขังที่ในเรือนจำทองผาภูมิ จังหวัดกาญจนบุรี หลังจากถูกศาลตัดสินมีความผิดในคดีล่าสัตว์ป่าคุ้มครองคือเสือดำ ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรฝั่งตะวันตก จำคุก 2 ปี 14 เดือนไม่รอลงอาญา ชดใช้เงิน 2 ล้านบาท
ทางกรมราชทัณฑ์ได้ออกจดหมายชี้แจงระบุชัดมีการกำหนดให้มีการประชุมคณะอนุกรรมการเพื่อพิจารณาวินิจฉัยลดวันต้องโทษจำคุก ครั้งที่ 13/2566 ในวันที่ 17 ตุลาคม 2566 โดยมีผู้ต้องขังที่เข้ารับการพิจารณารวมทั้งสิ้น 567 ราย อนุมัติ 484 ราย ไม่อนุมัติ 83 ราย โดยกลุ่มที่อนุมัติปล่อยตัวลดวันต้องโทษจำคุกมีจำนวน 113 คน ในกลุ่มนี้มีนักโทษเด็ดขาดเป็นที่สนใจของสังคม 1 คนคือ เปรมชัย มติที่ประชุมคณะอนุกรรมการฯ ได้เห็นชอบอนุมัติให้ปล่อยตัวลดวันต้องโทษจำคุกเพื่อคุมความประพฤติ ตั้งแต่วันที่ 17 ตุลาคมนี้ และจะพ้นโทษในวันที่ 7 ธันวาคม 2566
มีคำถามตามมาว่าหลังการปล่อยตัวเปรมชัยต้องใส่กำไลอีเอ็มซึ่งเป็นอุปกรณ์ติดตามตัวหรือไม่ ราชทัณฑ์ก็ชี้แจงชัดเจน เนื่องจากเจ้าตัวมีปัญหาด้านสุขภาพ ตรงบริเวณข้อเท้าที่เคยถูกคว้านเนื้อที่ตายจากอาการเบาหวานลงขา เพราะป่วยเป็นโรคเบาหวานที่ควบคุมได้ยาก และหากใส่อุปกรณ์ดังกล่าวจะมีการเสียดสีจนเกิดบาดแผลที่รุนแรงขึ้นอีก ซึ่งเป็นอุปสรรคต่อการบำบัดรักษาในกรณีฉุกเฉิน จึงไม่ให้ใช้อุปกรณ์ดังกล่าว แต่เมื่อปล่อยตัวแล้ว จะต้องมารายงานตัวและอยู่ภายใต้เงื่อนไขคุมความประพฤติจนกว่าจะครบกำหนดโทษจริงต่อไป
ทุกอย่างเมื่อผ่านกระบวนการชี้แจงตามข้อเท็จจริงแล้ว สังคมย่อมหายเคลือบแคลง ประเด็นอารมณ์ ความรู้สึกที่ว่า บุคคลระดับวีวีไอพีมักจะได้รับสิทธิพิเศษนั้นเป็นเรื่องที่ห้ามความคิดกันไม่ได้ แต่สุดท้าย สิ่งหนึ่งที่เป็นบทพิสูจน์คือ ไม่ว่าจะรวยล้นฟ้า หรือมีอำนาจมหาศาลเพียงใด หากทำผิดก็หนีไม่พ้นบ่วงกรรมที่จะต้องได้รับโทษเมื่อเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม ข้อสงสัย เสียงวิจารณ์เป็นเรื่องปกติธรรมดาในสังคมที่ได้ชื่อว่าเป็นประชาธิปไตย
ไม่ต่างกันกับกรณีของนโยบายดิจิทัลวอลเล็ตของรัฐบาล การที่ เศรษฐา ทวีสิน จะเรียกร้องให้คนที่สนับสนุนออกมาแสดงความเห็น จนถูกมองว่าเป็นการปลุกระดมให้คนที่อยากได้เงิน 1 หมื่นบาท เคลื่อนไหวปะทะกับฝ่ายเห็นต่าง ก็เป็นเรื่องที่ต้องยอมรับกับการจะถูกโจมตีจากฝ่ายตรงข้าม แต่ทั้งหมดเพื่อไม่ให้เกิดข้อครหา จนกลายเป็นว่า รัฐบาลลุแก่อำนาจ นอกจากจะฟังเสียงคนค้านและหนุนแล้ว ผู้มีหน้าที่ทั้งฝ่ายบริหารและปฏิบัติ จะต้องแจกแจงทุกอย่างให้เกิดความกระจ่างชัดเช่นกัน
วันนี้มีการปูดซูเปอร์แอปในการจ่ายเงินดิจิทัลต้องใช้เงินลงทุนสูงถึงกว่าหมื่นล้านบาท จุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยคลังยืนยัน ไม่มีทาง ฟังแล้วก็ยังตลกอยู่เลย พร้อมอธิบายต่อผู้ที่จะทำแอปดังกล่าวไม่ใช่บริษัท แต่เป็นธนาคารที่อยู่ในการกำกับของรัฐ ไม่ได้มีการจ้างบริษัทภายนอก ไม่มีการจัดซื้อจัดจ้าง จะไม่มีคนกลุ่มใดได้ประโยชน์จากการทำแอปนี้ เป็นโครงการที่โปร่งใสมาก และระบบบล็อกเชนก็มีความปลอดภัยมากที่สุดในตอนนี้ สามารถตรวจสอบความผิดพลาดและการทุจริตได้ด้วย เริ่มต้นตรวจสอบกันเข้มข้นขนาดนี้รัฐบาลที่มีธรรมาภิบาลต้องยอมรับว่าเป็นประโยชน์อย่างยิ่ง