ทาง 2 แพร่ง ธนาคารกลางจีน.!?

เริ่มต้นสัปดาห์ด้วยความเคลื่อนไหวของธนาคารกลางจีน (People's Bank of China : PBOC) ที่เร่งเพิ่มสภาพคล่องในการสนับสนุนระบบธนาคาร


เริ่มต้นสัปดาห์ด้วยความเคลื่อนไหวของธนาคารกลางจีน (People’s Bank of China : PBOC) ที่เร่งเพิ่มสภาพคล่องในการสนับสนุนระบบธนาคาร เนื่องจากธนาคารกลาง มีการต่ออายุสัญญาทางการเงินในสินเชื่อกู้ยืมของนโยบายระยะกลาง แต่ยังคงอัตราดอกเบี้ยไม่เปลี่ยนแปลงอะไร

ท่ามกลางความกังวลเกี่ยวกับความเสี่ยงที่มากขึ้น จากการอ่อนค่าของเงินหยวนแบบฉับพลัน.!!

นั่นทำให้มีการวิเคราะห์กันว่า “ธนาคารกลางจีน” กำลังเดินอยู่บนทางสองแพร่ง ระหว่างการคงรักษาสภาพคล่องจำนวนมาก เพื่อช่วยเหลือเศรษฐกิจที่กำลังต่อสู้ดิ้นรน และการทำให้ค่าเงินหยวนมีเสถียรภาพ ท่ามกลางความคาดหวังที่ว่า อัตราดอกเบี้ยของสหรัฐฯ จะ “อยู่ระดับสูงเป็นเวลาที่ยาวนานขึ้น”

โดยธนาคารกลางจีน ระบุในแถลงการณ์ว่า..“จะดำเนินการธุรกรรมให้กู้ยืมสภาพคล่องระยะกลาง (MLF) มูลค่า 7.89 แสนล้านหยวน (หรือประมาณ 107.96 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) เพื่อรักษาสภาพคล่องในระบบธนาคารให้เพียงพอ

เป็นผลมาจากมูลค่าธุรกรรมกู้ยืมสภาพคล่องระยะกลาง (MLF) มูลค่า 5 แสนล้านหยวน กำลังจะครบกำหนด ธนาคารกลางจีนกำลังอัดฉีดสภาพคล่องใหม่จำนวน 2.89 แสนล้านหยวนเข้าสู่ระบบธนาคาร นับว่าเป็นการอัดฉีดเงินที่มากสุดรอบเกือบ 3 ปี

ขณะเดียวกันธนาคารกลางจีนคงอัตราดอกเบี้ยเงินกู้นโยบายระยะ 1 ปี ไม่เปลี่ยนแปลงที่ระดับ 2.50%

Stone Zhou ผู้อำนวยการฝ่ายตลาดทั่วโลกของ UOB ประเทศจีน กล่าวว่า “การดำเนินการดังกล่าว แสดงถึง ความหวังของธนาคารกลางจีนที่จะจัดหาสภาพคล่องเพื่อผ่อนคลายความตึงตัวของตลาด

โดยช่วงเดือน ต.ค.รัฐบาลท้องถิ่นของจีนทำเรื่องที่น่าตกตะลึงมากหลายอย่าง รวมถึงมณฑลเหลียวหนิง (Liaoning) และนครฉงชิ่ง (Chongqing) ต่างกำลังเร่งที่จะออกพันธบัตรรีไฟแนนซ์พิเศษเพื่อชำระคืนหนี้สิน

ขณะที่รัฐบาลปักกิ่ง เพิ่มความพยายามที่จะลดความเสี่ยงของหนี้ ที่กำลังเพิ่มพูนสูงขึ้น และยังคงสร้างความกังวลต่อนักลงทุน

ทำให้นักวิเคราะห์ประมาณการว่า “ปีนี้การออกพันธบัตรรัฐบาลเหล่านี้จะสูงจนแตะระดับ 1 ล้านล้านหยวน”

ที่สำคัญการเก็บภาษีของรัฐบาลจีนช่วงเดือน ต.ค.อาจทำให้เกิด “ความตึงเครียดของสภาพคล่อง” ได้

โดยปีนี้ธนาคารกลางจีน มีการลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ระยะกลาง (MLF) ซึ่งเป็นอัตราดอกเบี้ยกู้ยืมเกณฑ์มาตรฐานที่ชี้นำของจีนลงมาแล้ว 2 ครั้ง

เพื่อต้องการที่จะลดต้นทุนการกู้ยืมในเศรษฐกิจที่ถูกกระหน่ำจากการบริโภคที่ยังอ่อนแอและวิกฤตภาคอสังหาริมทรัพย์ที่เกิดขึ้น

ทว่า..การผ่อนคลายทางการเงินเพิ่มเติม อาจเป็นการทำให้ช่องว่างอัตราผลตอบแทน (yield gap) ของจีนกับสหรัฐฯ ห่างกันมากขึ้น

นั่นยิ่งอาจทำให้เกิดแรงกดดันต่อการเคลื่อนไหวในทิศทางขาลงของค่าเงินหยวน ที่ปีนี้ทำสถิติอ่อนค่าลงแล้วประมาณ 5.5% เมื่อเทียบเงินดอลลาร์สหรัฐ..!!

จึงถือเป็นทาง 2 แพร่งของนโยบายการเงินของจีน..ที่ต้องติดตามกันอย่างใกล้ชิด..!?

Back to top button