พาราสาวะถี

การเดินทางไปเยือนจีนของ เศรษฐา ทวีสิน ถามว่าได้ประโยชน์อะไร ขนาดไหน มีตามมามหาศาลแน่นอน ในแง่ของเศรษฐกิจ การลงทุนและอื่น ๆ


การเดินทางไปเยือนจีนของ เศรษฐา ทวีสิน ถามว่าได้ประโยชน์อะไร ขนาดไหน มีตามมามหาศาลแน่นอน ในแง่ของเศรษฐกิจ การลงทุนและอื่น ๆ ที่ได้แน่ ๆ คือ แนวโน้มต่อบทสรุปของปัญหาการจัดซื้อเรือดำน้ำที่ “บิ๊กทิน” สุทิน คลังแสง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เผยถึงข้อเสนอที่ได้ส่งให้ทางการจีนพิจารณาซึ่งมีความเข้าใจรัฐบาลไทยและรับข้อเสนอไปพิจารณา โดยข้อเสนอดังกล่าวเกิดจากผลการร่วมแก้ปัญหาและศึกษาหาทางออกร่วมกันระหว่างกระทรวงกลาโหม กองทัพเรือ และรัฐบาล

โดยมี 2 แนวทางคือ เปลี่ยนรายการจากเรือดำน้ำ เป็นเรือฟริเกตที่รบได้ 3 ระบบ ราคาประมาณ 17,000 ล้านบาท สูงกว่าเรือดำน้ำประมาณ 1,000 ล้านบาท หรือจัดหาเรือตรวจการระยะไกล (OPV) โดยกระทรวงกลาโหมเลือกแนวทางแรกคือซื้อเรือฟริเกตแทนเรือดำน้ำ ส่วนราคาที่สูงกว่าเรือดำน้ำประมาณ 1,000 ล้านบาทนั้น จะนำงบประมาณสร้างอาคารเรือดำน้ำมาเสริม สิ่งที่บิ๊กทินชี้แจงกับนักข่าวคือ เรือฟริเกตที่จะจัดซื้อมีสมรรถนะปราบเรือดำน้ำได้

แนวทางที่รัฐบาลมีบทสรุปนั้น พลเรือเอก อะดุง พันธุ์เอี่ยม ผบ.ทร. ยืนยันว่า พร้อมที่จะปฏิบัติตามนโยบายรัฐบาลและกระทรวงกลาโหม ยึดถือนโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมขับเคลื่อนการทำงาน ด้านบิ๊กทินก็ย้ำว่า การตัดสินใจเช่นนี้ของตนทุกคนเข้าใจ เพราะก่อนที่จะมีการตัดสินใจได้มีการหารือกันอย่างละเอียด ไม่ได้ตัดสินใจโดยพลการหรือใช้อำนาจของรัฐมนตรีทุบโต๊ะแบบบ้าอำนาจ มีการประชุมกันทุกแง่ทุกมุม

ส่วนเสียงวิพาษ์วิจารณ์โดยเฉพาะจากฝ่ายค้าน และการจับผิดของพวกขาประจำนั้น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมยืนยันว่า แนวทางที่ออกมาเช่นนี้ทางการไทยไม่ได้เสียเปรียบจีน ต้องดูที่มูลค่าของแต่ละอย่าง หากมูลค่าเรือถูกอยู่แล้วแต่มีการบวกอย่างอื่นแพง แบบนี้ถือว่าเสียเปรียบ แต่ทุกอย่างอยู่บนราคาที่รู้กันทั่วโลก ราคามาตรฐาน สำหรับประเด็นที่มองกันว่าฝ่ายจีนผิดสัญญานั้น ไม่อยากให้มองเช่นนั้น ทุกอย่างไม่เป็นไปตามข้อตกลง ไม่ได้ผิดสัญญา ซึ่งมีมิติของความเป็นมิตรระหว่างประเทศ มิติความร่วมมือทางยุทธศาสตร์ที่ต้องพิจารณาประกอบ 

การเจรจาที่ผ่านมาใช้กลไกของกระทรวงกลาโหมในการพูดคุยกับจีนก่อนที่คนไทยจะมีการวิพากษ์วิจารณ์ แต่เชื่อว่าจะสามารถอธิบายได้ จะว่าไปแล้วกรณีการเปลี่ยนจากจัดซื้อเรือดำน้ำกลับไปเป็นเรือฟริเกตนั้น ก็เหมือนกลับไปเริ่มต้นก่อนที่จะมีรัฐบาลเผด็จการ คสช.นั่นเอง เพียงแต่ว่าเปลี่ยนการจัดซื้อจากเกาหลีใต้มาเป็นของจีนเท่านั้นเอง เนื่องจากเรือฟริเกตในประเทศไทย หรือ เรือฟริเกตชุดเรือหลวงภูมิพลอดุลยเดช เป็นชุดเรือฟริเกตของกองทัพเรือไทย ออกแบบมาจากแบบของเรือพิฆาตชั้นควังแกโทมหาราช ของกองทัพเรือสาธารณรัฐเกาหลี

เรือฟริเกตชุดเรือหลวงภูมิพลอดุลยเดช เป็นเรือชุดที่ต่อขึ้นเพื่อทดแทนเรือฟริเกตชุดเรือหลวงพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกซึ่งปลดประจำการในปี 2560 โดยกองทัพเรือได้เปลี่ยนเงินงบประมาณจากเดิมจะนำไปจัดหาเรือดำน้ำแบบ U-206A จากประเทศเยอรมนี จำนวน 6 ลำ งบประมาณ 7.6 พันล้านบาท แต่ถูกระงับโครงการเนื่องจากเกินกรอบระยะเวลาที่ทางเยอรมนีกำหนด มาเป็นโครงการจัดซื้อเรือฟริเกตสมรรถนะสูง ได้รับการอนุมัติโครงการภายใต้รัฐบาล ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ในปี 2555

กองทัพเรือได้ลงนามในการผลิตเรือลำแรกกับบริษัท แดวู ชิปบิลดิ้ง แอนด์ มารีน เอ็นจิเนียริ่ง เมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2556 เพื่อสร้างเรือฟริเกตที่มีสมรรถนะสูง มีความทันสมัย และมีโครงสร้างที่แข็งแรง ด้วยวงเงิน 14,600 ล้านบาท กำหนดส่งมอบเรือลำแรกภายในวันที่ 22 ธันวาคม 2561 กองทัพเรือได้ทำพิธีต้อนรับเรือเพื่อเข้าประจำการเมื่อวันที่ 7 มกราคม 2562 ณ ท่าเรือจุกเสม็ด ฐานทัพเรือสัตหีบ เดิมชื่อว่า เรือหลวงท่าจีน ต่อมาได้รับพระราชทานชื่อเป็น เรือหลวงภูมิพลอดุลยเดช ซึ่งเป็นพระนามของพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร

สำหรับเรือลำที่สองของชุดคือ เรือหลวงประแส วางแผนที่จะต่อในประเทศไทย โดยใช้อู่มหิดลอดุลยเดช หรือ บริษัท อู่กรุงเทพ จำกัด ผ่านบันทึกความเข้าใจร่วมกันหรือเอ็มโอยูกับกองทัพเรือ ในการซ่อม สร้าง และการดัดแปลงเรือ แต่ถูกระงับในปี 2562 เนื่องจาก พลเรือเอก ลือชัย รุดดิษฐ์ ผู้บัญชาการทหารเรือในขณะนั้น เห็นความสำคัญของโครงการต่อเรือดำน้ำของประเทศจีนมากกว่า จึงได้นำงบประมาณในการต่อเรือหลวงประแส และงบประมาณในการจัดหาอากาศยานลาดตระเวนไปจัดซื้อเรือยกพลขึ้นบกขนาดใหญ่ ซึ่งจะใช้เป็นเรือพี่เลี้ยงของเรือดำน้ำก่อนในงบผูกพันกับเรือดำน้ำลำที่ 2 

เมื่อสถานการณ์จัดซื้อเรือดำน้ำเจออุปสรรคสำคัญคือเครื่องยนต์จากจีน ทำให้กระบวนการเจรจาต่อรองกับทางการจีนกลายเป็นเผือกร้อนที่ตกมาถึงมือรัฐบาลเศรษฐา โดยมีบิ๊กทินเป็นผู้รับหน้าที่ในการพิจารณาและตัดสินใจ บทสรุปจึงออกมาเช่นนี้ หลังจากนี้อยู่ที่ทางจีนจะตอบรับข้อเสนอจากทางการไทยหรือไม่ จะมีเงื่อนไขอะไรเพิ่มเติมหรือเปล่า ส่วนกระทรวงกลาโหมและรัฐบาล ทั้งรัฐมนตรีและผู้ที่เกี่ยวข้องคงต้องเตรียมตัวไปชี้แจงต่อคณะกรรมาธิการของสภา รวมทั้งแจกแจงข้อสงสัยจากสังคมกันให้กระจ่าง

อย่างไรก็ตาม สำหรับเรือฟริเกตก็คือเรือรบที่มีความเร็วสูง มีระวางขับน้ำประมาณ 1,500 ถึง 3,000 ตัน แบ่งออกได้เป็นหลายประเภทตามระบบอาวุธประจำเรือ อาทิ เรือฟริเกตต่อสู้อากาศยาน เรือฟริเกตควบคุมอากาศยาน เรือฟริเกตปราบเรือดำน้ำ และเรือฟริเกตอเนกประสงค์ รัฐบาลใหม่เข้ามาไล่แก้ปัญหาที่ผู้มีอำนาจทุกฝ่ายในรัฐบาลของขบวนการสืบทอดอำนาจสร้างขึ้นมา คำถามที่สังคมอยากรู้คือ ความเสียหายที่ทิ้งไว้เช่นนี้จะมีใครหน้าไหนแสดงความรับผิดชอบหรือไม่ เหล่าคนดี พวกขาประจำทั้งหลายจะไม่ช่วยกันออกมาเรียกร้องเหมือนที่พร้อมใจกันตั้งข้อกังขาดิจิทัลวอลเล็ตกันหน้าสลอนบ้างเชียวหรือ

Back to top button