พาราสาวะถีอรชุน
เสร็จสิ้นไปเรียบร้อยกับการระบาย เอ้ย! การแถลงผลงานรัฐบาลครบรอบ 1 ปีที่นำทีมโดย พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา พร้อมรองนายกรัฐมนตรีอีก 6 ราย สรุปได้ว่า ผลงานที่เป็นรูปธรรมสัมผัสจับต้องได้ไม่มีอะไรมาก ส่วนใหญ่เป็นเรื่องของการสร้างความมั่นใจ ใช้กฎหมายพิเศษสยบความขัดแย้ง พร้อมป่าวประกาศเรื่องนโยบายประชารัฐหรือประชานิยมจำแลงก็เท่านั้น
เสร็จสิ้นไปเรียบร้อยกับการระบาย เอ้ย! การแถลงผลงานรัฐบาลครบรอบ 1 ปีที่นำทีมโดย พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา พร้อมรองนายกรัฐมนตรีอีก 6 ราย สรุปได้ว่า ผลงานที่เป็นรูปธรรมสัมผัสจับต้องได้ไม่มีอะไรมาก ส่วนใหญ่เป็นเรื่องของการสร้างความมั่นใจ ใช้กฎหมายพิเศษสยบความขัดแย้ง พร้อมป่าวประกาศเรื่องนโยบายประชารัฐหรือประชานิยมจำแลงก็เท่านั้น
ขณะที่ พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ ก็ยืนยันเรื่องการดูแลกลุ่มเคลื่อนไหวที่ยังพบว่ามีอยู่และรัฐจำเป็นที่จะต้องดำเนินมาตรการในการดูแลเพื่อไม่ให้เป็นปัญหาต่อการเดินหน้าปฏิรูปประเทศไทย โดยที่บิ๊กตู่ถึงกับย้ำความจำเป็นของมาตรา 44 ที่จะต้องมีไว้ อาจถูกมองว่าเป็นการจำกัดเสรีภาพของประชาชน แต่ถ้าไม่ใช้ก็ทำให้บ้านเมืองสงบไม่ได้
สรุปเนื้อหาสาระส่วนใหญ่ก็น่าจะวนเวียนอยู่เท่านี้จริงๆ จน สุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล อดีตรัฐมนตรีต่างประเทศของพรรคเพื่อไทย เสนอให้นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. นำเอาผลงานการแต่งเพลงสองเพลงคือ “คืนความสุข” กับ “เธอคือประเทศไทย” บรรจุไว้เป็นผลงานที่ยิ่งใหญ่ของรัฐบาลด้วย หยอดมุขนี้ประเดี๋ยวก็ถูกเรียกปรับทัศนคติอีกกระทอก
ส่วนพรรคประชาธิปัตย์ เกียรติ สิทธีอมร รองหัวหน้าพรรค คงจะกระดากใจถึงขั้นไม่กล้าที่จะให้คะแนนผลงานรัฐบาลโดยยกให้เป็นภาระของประชาชนแทน แต่ก็ยอมรับว่าเท่าที่ฟังเรื่องเศรษฐกิจ ยังมีความห่วงใยเรื่องการเจริญเติบโตที่อยู่ในระดับต่ำ เมื่อเทียบกับประเทศในอาเซียน จึงต้องตั้งคำถามว่านโยบายด้านเศรษฐกิจมีอะไรเป็นปัญหาและการปฏิรูปเศรษฐกิจคืออะไร เนื้อหามีอะไรบ้าง
โดยพิจารณาอย่างถ่องแท้แล้ววันนี้ยังไม่เห็นเป็นรูปธรรม จึงขอให้รัฐบาลอธิบายให้ชัด และที่อยากเรียกร้องอีกเรื่องราคาน้ำมัน เพราะราคาน้ำมันในตลาดโลกลดลง แต่ในประเทศไทยราคาน้ำมันกลับยังไม่ลด จึงต้องกลับไปทบทวนเรื่องนี้ เพราะการทำแบบนี้ผู้ประกอบการได้ประโยชน์ แต่ประชาชนเสียประโยชน์ ตรงนี้หลายคนน่าจะเห็นด้วย
แม้จะเสร็จสิ้นในส่วนของการแถลงไปแล้ว แต่ภารกิจแจกแจงนโยบายรายกระทรวงของทั้ง 19 กระทรวงนั้น จะมีการชี้แจงผ่านรายการเดินหน้าประเทศไทยในช่วงหกโมงเย็นของทุกวัน อันถือเป็นภาระหน้าที่ของรัฐมนตรีและปลัดของทุกกระทรวง โดยภาพใหญ่ยังไม่มีอะไรเข้าตา รอดูกันว่าย่อภาพให้เล็กลงแล้ว จะมีผลงานอะไรเป็นชิ้นเป็นอันหรือไม่
เงียบไปพอสมควรสำหรับคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญของ มีชัย ฤชุพันธุ์ แต่จากนี้ไปน่าจะกลับมามีประเด็นให้ตกเป็นกระแสต่อเนื่อง จั่วหัวด้วยการให้สัมภาษณ์ของประธาน กรธ.วันวานที่ยืนยันว่า จำเป็นต้องบัญญัติการนิรโทษกรรมให้กับ คสช.ไว้ในร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งไม่ได้มีอะไรใหม่เพราะรัฐธรรมนูญในอดีตก็ทำเช่นนี้ เรียกได้ว่าเป็นสูตรสำเร็จที่ต้องมีไว้ในรัฐธรรมนูญ
แต่คงเป็นเพราะกลัวว่ามีชัยและพวกจะลืมหรืออย่างไร เมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายนที่ผ่านมา บิ๊กตู่จึงได้มีหนังสือด่วนที่สุด ที่ คสช./491 เรื่อง ขอความร่วมมือแสดงความคิดเห็นและข้อเสนอแนะเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญถึงมีชัย โดยมีข้อเสนอหนึ่งระบุว่า นโยบายด้านความมั่นคงของรัฐยังคงต้องบัญญัติให้รัฐต้องพิทักษ์รักษาไว้ซึ่งสถาบันพระมหากษัตริย์ เอกราช อธิปไตยและบูรณภาพแห่งเขตอำนาจรัฐ
ต้องจัดให้มีกำลังทหาร อาวุธยุทโธปกรณ์และเทคโนโลยีที่ทันสมัย จำเป็นและเพียงพอ เพื่อพิทักษ์รักษาเอกราช อธิปไตย ความมั่นคงของรัฐ สถาบันพระมหากษัตริย์ ผลประโยชน์แห่งชาติและการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และเพื่อการพัฒนาประเทศ การใช้กำลังทหารโดยสุจริตเพื่อความมั่นคงของรัฐจากภัยที่มีมาจากภายในและนอกราชอาณาจักร ไม่ต้องรับโทษทางแพ่ง ทางอาญาและทางปกครอง
ขณะที่ในมาตรา 48 ของรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว 2557 ได้บัญญัติการนิรโทษกรรมคณะ คสช.ไว้ทั้งที่กระทำในวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 หรือก่อนหรือหลังวันดังกล่าว โดยมีเนื้อหาว่า บรรดาการกระทําทั้งหลายซึ่งได้กระทำเนื่องในการยึดและควบคุมอำนาจการปกครองแผ่นดิน เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 ของหัวหน้าและคณะรักษาความสงบแห่งชาติ
รวมทั้งการกระทำของบุคคลที่เกี่ยวเนื่องกับการกระทำดังกล่าวหรือของผู้ซึ่งได้รับมอบหมายจากหัวหน้าหรือคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือของผู้ซึ่งได้รับคำสั่งจากผู้ได้รับมอบหมายจากหัวหน้าหรือคณะรักษาความสงบแห่งชาติ อันได้กระทำไปเพื่อการดังกล่าวข้างต้นนั้น การกระทำดังกล่าวมาทั้งหมดนี้ไม่ว่าจะเป็นการกระทำเพื่อให้มีผลบังคับในทางรัฐธรรมนูญ ในทางนิติบัญญัติ ในทางบริหารหรือในทางตุลาการ
รวมทั้งการลงโทษและการกระทำอันเป็นการบริหารราชการอย่างอื่น ไม่ว่ากระทำในฐานะตัวการผู้สนับสนุน ผู้ใช้ให้กระทำหรือผู้ถูกใช้ให้กระทำและไม่ว่ากระทำในวันที่กล่าวนั้นหรือก่อนหรือหลังวันที่กล่าวนั้น หากการกระทำนั้นผิดต่อกฎหมาย ให้ผู้กระทำพ้นจากความผิดและความรับผิดโดยสิ้นเชิง ด้วยเหตุนี้จึงมีคนยกไปเทียบเคียงกับการเสนอให้นิรโทษกรรมกับประชาชนที่ถูกดำเนินคดีทางการเมือง
อันเป็นเรื่องที่ผู้มีอำนาจควรจะต้องพิจารณา เพราะการปลดล็อกความขัดแย้งและสร้างความปรองดองได้นั้น จะต้องแสดงออกให้เห็นถึงความตั้งใจจริงที่ไม่ถือโทษโกรธกัน โดยการนิรโทษกรรมดังกล่าวไม่ใช่กระทำแบบสุดซอยเหมือนที่พรรคเพื่อไทยเคยดำเนินการจนทำให้รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร พังพาบไม่เป็นท่ามาแล้ว
การนิรโทษกรรมดังกล่าวต้องดำเนินการเพื่อปลดปล่อยประชาชนที่เป็นแนวร่วมและต้องโทษต้องขังซึ่งส่วนใหญ่เป็นคนเสื้อแดง ขณะที่แกนนำไม่ว่ากลุ่มไหนสีใดจะไม่ได้รับอานิสงส์ หากยึดตามแนวทางนี้เชื่อได้เลยว่า ผู้มีอำนาจจะได้รับความไว้เนื้อเชื่อใจจากคนส่วนใหญ่เพราะเป็นการแสดงให้เห็นว่าไม่ได้เลือกที่รักมักที่ชัง ที่สำคัญคือความไม่มีอคติใดๆ ต้องไม่ลืมว่าผู้มีอำนาจบางรายเวลานี้เคยมีประวัติขัดแย้งกับคนเสื้อแดงมาก่อน จึงละวางแค้นฝังหุ่นดังว่าไม่ได้ นั่นจึงเป็นปัญหาใหญ่ที่ว่าความเป็นกลางเป็นธรรมไม่มีอยู่จริง