พาราสาวะถี

วาระสำคัญการเลือกหัวหน้าพรรคและกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่ ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง “อุ๊งอิ๊ง” จะก้าวขึ้นเป็นผู้นำพรรคอย่างเต็มตัว


วันนี้ (27 ตุลาคม) เวลา 09.30 น. จะมีการประชุมใหญ่วิสามัญพรรคเพื่อไทย วาระสำคัญคือการเลือกหัวหน้าพรรคและกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่ ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง “อุ๊งอิ๊ง” แพทองธาร ชินวัตร จะก้าวขึ้นเป็นผู้นำพรรคอย่างเต็มตัว โดยมี สรวงศ์ เทียนทอง รับเก้าอี้เลขาธิการพรรค ถือเป็นการล้างไพ่ใช้บริการของคนรุ่นใหม่ ให้นักเลือกตั้งรุ่นเก่าและเก๋าเกมทั้งหลายไปเป็นแบ็คอัพคอยให้คำแนะนำ สนับสนุน รวมทั้งใช้สายสัมพันธ์ในการประสานงานทางการเมืองอันเป็นศาสตร์และศิลป์ที่นักการเมืองรุ่นใหม่ต้องเรียนรู้

เป็นที่แน่ชัดว่าการเข้ามากุมบังเหียนพรรคของอุ๊งอิ๊งนั้น เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับนักการเมืองของพรรคในการที่จะก้าวเดินไปข้างหน้า ในฐานะพรรคแกนนำรัฐบาลจะต้องช่วยกันสร้างผลงานให้เป็นที่ประจักษ์ ล้างภาพของการถูกตราหน้าว่าตระบัดสัตย์ พลิกขั้วเพราะความกระสันอยากที่จะได้อำนาจรัฐมาครอบครอง อย่างที่บอกไว้การมีหัวโขนทางการเมืองที่ชัดเจนมันหมายถึงอนาคตที่เจ้าตัวจะต้องถูกผลักดันให้ขึ้นชั้นเป็นผู้นำประเทศตามรอย ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ผู้เป็นอาที่เคยทำสำเร็จมาแล้ว

ความสำคัญในเชิงสัญลักษณ์ฐานะตัวแทนของ ทักษิณ ชินวัตร ถือเป็นเรื่องที่สำคัญถึงขนาดที่ นายแพทย์ชลน่าน ศรีแก้ว อดีตหัวหน้าพรรคบอกว่า การเป็นหัวหน้าพรรคของอุ๊งอิ๊งจะเป็น “ศูนย์รวมทางจิตใจที่แข็งที่สุดของพรรค” พรรคเพื่อไทยน่าจะขับเคลื่อนได้ดี ขับเคลื่อนไปข้างหน้าอย่างก้าวกระโดด และตอบสนองวัตถุประสงค์ได้อย่างชัดเจน ส่วนการจะได้เป็นนายกฯ ภายในสมัยของรัฐสภานี้หรือต้องรอหลังเลือกตั้งครั้งหน้า ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ทางการเมืองที่ เศรษฐา ทวีสิน และรัฐบาลจะต้องเผชิญหลังจากนี้

อย่างไรก็ตาม การเป็นหัวหน้าพรรคของลูกสาวคนเล็กของทักษิณ ไม่ได้ส่งผลต่อทิศทางการเดินของพรรคเพื่อไทยที่จะมีสิ่งใหม่ ๆ เกิดขึ้น ทั้งกระบวนการทำงาน การวางยุทธศาสตร์ เพื่อเตรียมพร้อมในการเลือกตั้งครั้งถัดไปเท่านั้น แต่จะล้อไปกับทิศทางในการบริหารงานของรัฐบาลด้วย โดยเฉพาะนโยบายดิจิทัลวอลเล็ตที่อาจเหมือนมีขวากหนามกางกั้น ทำให้เดินได้ยาก แต่สุดท้ายก็สามารถเดินกันไปได้ โดยมีความสำเร็จของนโยบายเป็นเดิมพัน

สำหรับเก้าอี้แม่บ้านพรรคที่เลือกใช้บริการสรวงศ์ลูกชายของ “ป๋าเหนาะ” เสนาะ เทียนทอง นั้น ไม่เพียงแต่ความเป็นลูกรักของผู้อาวุโสที่คนในพรรคนายใหญ่ยังคงให้ความเคารพนับถือเท่านั้น แต่คนที่ทาบทามเสี่ยบอยให้มาทำหน้าที่นี้คือ อุ๊งอิ๊งนั่นเอง เนื่องจากเจ้าตัวแม้จะเป็นนักการเมืองมานานตั้งแต่ยุคไทยรักไทย และอายุอานามวันนี้ 48 ปีแล้ว แต่ยังถือเป็นคนรุ่นใหม่ เป็นนักการเมืองแนวคิดใหม่ จึงเชื่อว่าจะสามารถประสาน เป็นที่ยอมรับของนักการเมืองรุ่นเก่าและรุ่นใหม่ของพรรคได้

ส่วนกรรมการบริหารพรรคคนอื่น ๆ นั้น รองหัวหน้าพรรคที่ยังจะได้ทำหน้าที่ต่อในฐานะมือกฎหมายสำคัญของพรรคคือ ชูศักดิ์ ศิรินิล เช่นเดียวกับ จุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยคลังที่อายุรุ่นราวคราวเดียวกับสรวงศ์ อีกรายที่เป็นคนรุ่นใหม่แต่เป็น สส.มาแล้วสองสมัยคือ จิราพร สินธุไพร ลีลาการอภิปรายในสภาเป็นที่ยอมรับของคนในพรรคและท่าทีทางการเมืองก็เป็นที่ยอมรับจากนักเคลื่อนไหวรุ่นใหม่เช่นกัน ต้องรอดูว่าการถ่ายเลือดใหม่หนนี้ จะสามารถเรียกคะแนนนิยมของพรรคนายใหญ่กลับคืนมาได้ขนาดไหน

เห็นชื่อของผู้ที่ ป.ป.ช.ตั้งขึ้นมาเป็นประธานคณะกรรมการเพื่อศึกษาและดำเนินการรับฟังความเห็นเกี่ยวกับนโยบายรัฐบาล กรณีการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่านดิจิทัลวอลเล็ตแล้ว ก็น่าจะทำให้พรรคแกนนำรัฐบาลคิดหนัก สุภา ปิยะจิตติ คือคนที่จะทำหน้าที่นี้ มันทำให้มองย้อนกลับไปถึงโครงการจำนำข้าวที่ยิ่งลักษณ์พร้อมคณะถูกเล่นงานอย่างสะบักสะบอมหลังการยึดอำนาจของ คสช. แต่เมื่อเศรษฐาและคณะทำงานยืนยันว่าไม่เหมือนกัน ก็เป็นหน้าที่ที่ต้องไปชี้แจงต่อองค์กรอิสระที่มีผู้ไปยื่นเรื่องร้องเรียน  

ส่วนคณะกรรมการชุดนี้ที่ ป.ป.ช.ตั้งขึ้นเป็นไปตามที่คณะกรรมการเฝ้าระวังและประเมินสภาวการณ์ทุจริตเสนอนั้น คงไม่ต่างจากที่เคยทำกับโครงการจำนำข้าวคือ รวบรวม และดำเนินการศึกษา วิเคราะห์ข้อมูลเกี่ยวกับนโยบายรัฐบาลกรณีการเติมเงิน 10,000 บาทผ่านดิจิทัลวอลเล็ต เพื่อหาแนวทางป้องกันและแก้ไขปัญหาการทุจริต ตลอดจนจัดทำข้อเสนอแนะอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ส่งคำเตือนไปยังรัฐบาล แน่นอนว่า หากมีเรื่องทุจริตก็จะสามารถงัดเอากรณีนี้มาเป็นหลังพิงอ้างว่า เตือนแล้วไม่ฟังและพร้อมที่จะเล่นงานรัฐบาลในทันที

ตอนนี้เหลือขั้นตอนแค่ พลตำรวจเอก วัชรพล ประสานราชกิจ ประธาน ป.ป.ช.ลงนามเท่านั้น ถือเป็นหน้าที่ที่ว่ากันไปตามกระบวนการ มีสิ่งหนึ่งที่สังคมยังมีความกังขา ไม่ไว้วางใจต่อการทำงานขององค์กรแห่งนี้ก็คือ กรณีที่ วีระ สมความคิด ประธานเครือข่ายประชาชนต้านคอร์รัปชัน ร้องขอเอกสารจำนวน 3 รายการ ในคดีที่มีการกล่าวหา พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ จากการปกปิดนาฬิกาหรูราคาแพง จำนวน 22 เรือน ซึ่งศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษาสั่งให้ ป.ป.ช.ต้องให้เอกสารทั้ง 3 รายการดังกล่าวแก่วีระอย่างถูกต้องและครบถ้วน

ปรากฏว่าเมื่อมีการไปรับเอกสารดังกล่าววีระกลับได้เอกสารที่ไม่ครบถ้วน มีการปกปิดข้อความอยู่หลายจุด เช่น ส่วนที่ปรากฏชื่อ ที่อยู่ และรายการทรัพย์สินอ้างข้อมูลที่มีความสำคัญ และในรายงานการประชุมของคณะกรรมการ ป.ป.ช.ที่เกี่ยวกับเรื่องนี้ ยังมีการปกปิดข้อมูล ซึ่งให้เป็นเอกสารเปล่าตั้งแต่หน้า 48-86 โดยเลขา ป.ป.ช.อ้างกับวีระว่า เป็นมติของคณะกรรมการ ป.ป.ช. จนเกิดเป็นคำถามว่า ถ้าทำงานโปร่งใสไม่เห็นจะต้องกลัวอะไร

กรณีดังกล่าว วีระเคยให้สัมภาษณ์ว่า ป.ป.ช.กลัวคนทั้งประเทศจะรู้ความจริงว่าการทำงานของ ป.ป.ช.ไม่โปร่งใส และจะทำให้ได้เห็นความเห็นของพนักงาน ป.ป.ช.ว่ามีความเห็นอย่างไร และการที่ ป.ป.ช.ทำแบบนี้กับตัวเองเรื่องจะไม่จบ ยกเอากรณีของวีระมาประกอบกับการตั้งคณะกรรมการมาจับผิดนโยบายดิจิทัลวอลเล็ต เพื่อที่จะชี้ให้เห็นว่านี่คือสัญญาณที่เศรษฐาและกุนซือของเพื่อไทยต้องทบทวนและปรับนโยบาย ไม่ใช่แค่ไม่ให้เสี่ยงต่อการผิดกฎหมายเท่านั้น แต่จะต้องอุดทุกช่องโหว่ที่จะถูกเล่นงานจากขบวนการไม่เอาระบอบทักษิณด้วย

Back to top button