ทุบหุ้นแบงก์เกินงาม

มีผู้รู้บางท่านบอกว่า สาเหตุใหญ่ที่หุ้นไทยตกแรงมากกว่าตลาดอื่นในภูมิภาค เกิดจากธุรกรรมการกู้ยืมหลักทรัพย์และการให้การกู้ยืมหลักทรัพย์


มีผู้รู้บางท่านบอกว่า สาเหตุใหญ่ที่หุ้นไทยตกแรงมากกว่าตลาดอื่นในภูมิภาค เกิดจากธุรกรรมการกู้ยืมหลักทรัพย์และการให้การกู้ยืมหลักทรัพย์ หรือ “SBL” (Securities Borrowing and Lending) ซึ่งเริ่มได้รับความนิยมในตลาดเพิ่มขึ้น 

เดี๋ยวนี้มีรายการ “ชอร์ตเซล” หรือการขายชอร์ตกันวันละประมาณ 300 รายการโดยเฉลี่ย

ธุรกรรม SBL ก็คือ การขายหุ้นโดยการกู้ยืมหลักทรัพย์จากโบรกเกอร์ ซึ่งไม่ใช่การขายหุ้นจากในพอร์ตของตนเอง โดยหวังว่าเมื่อราคาหุ้นตัวนั้นลง ก็จะไปช้อนซื้อกลับมาในราคาต่ำ เพื่อนำหุ้นส่งมอบกลับคืนโบรกเกอร์ เป็นการทำกำไรในช่วง “ขาลง” ของหุ้น

แต่ในความเป็นจริงก็อาจไม่เป็นเช่นนี้เสมอไปหรอกครับ บางครั้งขายชอร์ตหุ้นไป แต่ราคาหุ้นกลับไม่ลง มิหนำซ้ำยังวิ่งสวนขึ้นไปอีก ก็ต้องยอมซื้อราคาสูงไปส่งมอบโบรกเกอร์ เกิดเป็นผลขาดทุนไป

จุดมุ่งหมายของการเปิดให้ทำ “ชอร์ตเซล” ก็เพื่อจะเปิดโอกาสให้นักลงทุนทำกำไรจากหุ้นในช่วงที่เป็น “ขาลง” ได้ มิใช่ทำกำไรได้แต่เฉพาะช่วงหุ้น “ขาขึ้น” เท่านั้น ทั้งยังเป็นการเพิ่มสภาพคล่องการซื้อขายให้ตลาด ให้มีสภาพคึกคัก ทำกำไรได้ทั้งในช่วง “หุ้นขาขี้น” และ “หุ้นขาลง”

แต่ผลเสียของมันก็คือ กฎกติกาที่หละหลวม ปล่อยให้โบรกเกอร์นำหุ้นในพอร์ตลูกค้าที่เปิดบัญชี SBL ไปให้ลูกค้ากู้ยืมได้ โดยไม่ต้องขออนุญาตเจ้าของพอร์ตเป็นกรณีเฉพาะรายไป

บางครั้งก็อุกอาจถึงขั้นเอาหุ้นของเจ้าของกิจการ ไปให้ลูกค้ากู้ยืมทำ “ชอร์ตเซล”  ทำเอาหุ้นรูดพรวดพราดโดยไม่ทราบสาเหตุ เจ้าของมาทราบความจริงภายหลังว่า โดนโบรกฯ หยิบหุ้นในพอร์ตไปให้คนอื่นกู้ยืม กว่าจะ “ตามควาย” กลับมาได้ ก็เล่นเอาตกอกตกใจไปเสียนาน

การเปิดช่องให้โบรกเกอร์หยิบหุ้นในพอร์ตไปให้คนอื่นกู้ยืมโดยง่าย ยิ่งจะเลวร้าย หากมีการยืมหุ้นบลูชิพ ซึ่งมีผลกดดันดัชนีและสร้างผลกำไรจำนวนมาก ไปทำชอร์ตเซล โดยใช้วิธีการอันมิชอบ เช่นปล่อยข่าวร้ายเกี่ยวกับหุ้นตัวนั้น 

หรืออาจจะปล่อยข่าวประสานเสียงไปกับบทวิเคราะห์ที่ไม่เป็นทางการ เสมือนมาจากโบรกฯ บางสำนักก็จะยิ่งเป็นความเลวร้าย

กล่าวโดยสรุปก็อยากจะบอกว่า การทำ “ชอร์ตเซล” ในตลาด ยังเป็นส่วนที่สร้างคุณูปการมากกว่า อย่าให้ถึงขั้นจะต้องทำการยกเลิกไปเลยครับ เพียงแต่ตลาดหลักทรัพย์ฯ ควรต้องปรับกฎเกณฑ์ อย่าให้โบรกเกอร์หยิบหุ้นในพอร์ตลูกค้าไปให้คนอื่นกู้ยืมโดยเสรี ควรขออนุญาตเจ้าของหุ้นเป็นเฉพาะกรณี

ราคาหุ้นธนาคารพาณิชย์ตกแรงมากเมื่อวันที่ 24 ต.ค.ที่ผ่านมา ทั้งที่ผลประกอบการทั้งในไตรมาส 3 และงวด 9 เดือน ไม่ได้ถึงกับเลวร้ายอะไรมากนัก

ผลประกอบการรวมในไตรมาส 3 ทั้ง 10 ธนาคาร มีกำไรสุทธิ 59,472 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 5,657 ล้านบาทเติบโต 10.51% ส่วนงวด 9 เดือน (ม.ค.-ก.ย.) กำไรรวม 181,390 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 21,780 ล้านบาท เติบโต 14%

ผมว่าระบบธนาคารพาณิชย์ของไทย มีความแข็งแกร่งขึ้นมากนะครับ ช่วงโควิดระบาดอยู่ 2-3 ปี แบงก์ต้องยอมขาดรายได้จากการปรับโครงสร้างหนี้ ไม่เพียงแต่ฐานะแบงก์จะง่อนแง่น หรือล้มหายตายจาก แต่ก็ยังสามารถรักษาผลกำไรจากการประกอบการได้อย่างน่าภาคภูมิใจ

เพียงแต่ต้องตั้งสำรองเผื่อหนี้ด้อยคุณภาพในอัตราส่วนที่สูง (Coverage Ratio) เท่านั้น ซึ่งอัตราส่วนค่าเฉลี่ยทั้งกลุ่มอยู่ที่ร้อยละ 181 นอกจากนั้น NPL ก็ต่ำในระดับค่าเฉลี่ย 3% กว่านิดหน่อย

แบงก์ BBL ตั้งสำรองสูงสุดถึง 283%, แบงก์ KTB ตั้งสำรอง 180%, แบงก์ SCB ตั้งสำรอง 167%, KBANK-BAY-TTB ตั้งสำรอง 154%-155% และ 144% ตามลำดับ ส่วนแบงก์กลาง-เล็ก TISCO-LHFG ตั้งสำรอง 205% และ 218% ตามลำดับ

หุ้นธนาคารขณะนี้ โดนทุบจนเกินงาม ผมไม่ได้บอกว่าจะต้องเข้าซื้อขณะนี้ แต่ก็น่าจับตามองแล้วล่ะ ณ ราคาปัจจุบัน เป็นหุ้นที่ให้เงินปันผลระดับ 4-8% ขึ้นไป

Back to top button