หยวนในแอฟริกาพลวัต 2015
หยวนกำลังเป็นเงินสากล หลังจากที่กองทุนการเงินระหว่างประเทศ ยอมรับให้หยวนเป็นส่วนหนึ่งของตะกร้าเงินเพื่อคำนวณใน SDRs นั่นเป็นความเข้าใจโดยทั่วไป
หยวนกำลังเป็นเงินสากล หลังจากที่กองทุนการเงินระหว่างประเทศ ยอมรับให้หยวนเป็นส่วนหนึ่งของตะกร้าเงินเพื่อคำนวณใน SDRs นั่นเป็นความเข้าใจโดยทั่วไป
ในทางปฏิบัติที่เป็นรูปธรรม จีนกำลังทำให้หยวนเป็นเงินสากลด้วยวิธีการประหลาด ตัวอย่างล่าสุดในแอฟริกา สะท้อนอะไรได้เยอะว่า วิธีคิดของจีนในการทำให้เงินหยวนเป็นเงินตราสากลนั้น อาจจะไม่ใช่แนวที่นักทฤษฎีเศรษฐศาสตร์การเงินเข้าใจ
ล่าสุด จีนประกาศยอมรับยกเลิกหนี้ 40 ล้านดอลลาร์สหรัฐที่ซิมบับเวติดค้างจีนอยู่นานหลายปี และเลยเวลากำหนดชำระทั้งหมด เพื่อแลกเปลี่ยนกับการที่ซิบบับเวยอมรับให้เงินหยวนเป็นหนึ่งในเงินสกุลหลักที่ใช้เป็นทางการในซิมบับเวได้
ปัจจุบัน ซิมบับเว ไม่ได้ใช้เงินตราท้องถิ่นของตนเองเป็นเงินที่ใช้ในท้องตลาดมาตั้งแต่ปี ค.ศ. 2009 หลังจากที่เกิดภาวะเงินเฟ้อร้ายแรงจนค่าเงินท้องถิ่นหมดความหมาย โดยยอมรับให้เงินดอลลาร์สหรัฐ และเงินแรนด์ของแอฟริกาใต้ เป็น เงินตรา 2 สกุลที่ใช้อย่างถูกกฎหมายของประชาชนในท้องตลาดของประเทศซิมบับเวมาจนถึงปัจจุบัน
จีนคิดอะไรอยู่ เป็นคำถามสำคัญ เพราะการกระทำดังกล่าว มีลักษณะคล้ายคลึงกันกับที่ชาติจักรวรรดินิยมตะวันตกในอดีตทำกับอาณานิคมอย่างแยกไม่ออก
ข้อเท็จจริง คงต้องย้อนกลับไปถึง 3 คำถามใหญ่ที่จีนเคยถูกตั้งขึ้นมาในเวทีโลกหลายปีก่อน (ที่จีนยังไม่เคยตอบ หรือ ตอบเลี่ยงๆ ไป) ว่า ปัจจุบันจีนมีสถานะอย่างไรในเวทีกันแน่ ระหว่าง
–เป็นชาติที่มีระบบเสรษฐกิจทุนนิยม หรือ สังคมนิยม
– เป็นชาติร่ำรวย หรือ ชาติยากจน
–เป็นจักรวรรดินิยม หรือพวกหัวขบวนต่อต้านจักรวรรดินิยม
ตามข้อตกลงระหว่างรัฐบาลจีน กับรัฐบาลซิมบับเว ธุรกรรมทางการค้าและการเงินระหว่างประเทศของจีนกับซิมบับเว หลังจากข้อตกลงนี้ จะทำผ่านการใช้เงินหยวนเป็นหลัก ส่วนการใช้เงินหยวนในประเทศ ขึ้นกับประชาขนซิมบับเวจะยอมรับมากหรือน้อย ขึ้นกับความนิยม ก่อนที่จะคุ้นเคยทั่วไปแบบเดียวกับดอลลาร์สหรัฐหรือเงินแรนด์
แน่นอนว่า จีนได้รับประโยชน์เต็มๆ เพราะการใช้เงินหยวนได้โดยตรง ทำให้ไม่ต้องยุ่งเกี่ยวกับการแลกเปลี่ยนเงินข้ามสกุลระหว่างหยวนกับ ดอลลาร์สหรัฐ หรือ แรนด์ของแอฟริกาใต้อีกต่อไป เนื่องจากจีนในปัจจุบัน เป็นชาติคู่ค้าอันดับหนึ่งของซิมบับเวมาหลายปีแล้ว หลังจากที่ชาติตะวันตกนำโดยสหรัฐฯ (โดยไม่ต้องอาศัยมติสหประชาชาติ) ทำการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจมานานหลายปีแล้ว จากข้อกล่าวหาว่า รัฐบาลโรเบิร์ต มูกาเบ้ ละเมิดสิทธิมนุษยชนร้ายแรง
หลายปีมานี้ การดำรงอยู่ของเศรษฐกิจซิมบับเว ซึ่งเป็นชาติที่ไม่มีทางออกทางทะเล แต่มีทรัพยากรธรรมชาติอุดมสมบูรณ์ประกอบด้วยแร่ธาตุสำคัญมหาศาล นับแต่โครไมท์ ไยหิน ถ่านหิน ทองแดง นิกเกิล ทองคำ แพลทตินั่ม สินแร่เหล็ก และเหมืองเพชรที่อุดมที่สุดในโลก แต่ประชากรมากกว่า 80% ของยอดรวม 13 ล้านคน จาก 40 ชนเผ่า ตกอยู่ในวัฏจักรของความยากจนแร้นแค้นแสนสาหัส นับแต่ถูกคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจ
การคว่ำบาตร ทำให้ซิมบับเวตกอยู่ใต้ความอลหม่านจากเงินเฟ้อรุนแรง บางปีสูงมากถึง 230% และต้องพึ่งพารายได้จากการขายทรัพยากร เพราะรัฐแทบจะเก็บภาษีไม่ได้เลย แต่เงินรายได้ของรัฐ หล่อเลี้ยงประเทศในสัดส่วนมากเกิน เพราะงบประมาณแต่ละปี คิดเป็นสัดส่วนมากกว่า 95% ของจีดีพี เนื่องจากรัฐวิสาหกิจของรัฐไม่สามารถอยู่ได้ด้วยตัวเองต้องพึ่งพารัฐตลอดเวลา
ที่สำคัญอัตราการว่างงานของประชากร เท่ากับ 95% แสดงว่า แทบจะไม่มีคนที่มีรายได้เลย สะท้อนความล้มเหลวของการพัฒนาอย่างมีนัยสำคัญ บ่งบอกว่าประเทศนี้ อยู่ในฐานะย่ำแย่เพียงใด เพราะตัวเลขจากกระทรวงการคลังยืนยันว่า แทบจะไม่มีทุนสำรองเงินตราระหว่างประเทศ ที่มีมากเกินกว่า 250 ล้านดอลลาร์สหรัฐเท่านั้นเองในแต่ละปี
ดุลบัญชีเดินสะพัดปีที่ผ่านมาของซิมบับเว ยังคงปรากฏตัวเลขติดลบต่อเนื่องจากปีก่อนๆ หน้าซ้ำซาก ที่ระดับ 517 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในขณะที่ผู้ประกอบการเอกชนถูกภาวะล้มเหลวทางเศรษฐกิจทำให้ส่วนใหญ่ล้มละลายไป หรือไม่ก็หนีตายไปต่างประเทศ
ข้อตกลงยอมรับเงินหยวนจีนเป็นเงินสกุลทางการในซิมบับเว แม้ว่าจะยังคงต้องใช้เวลานานพอสมควรให้คนในประเทศซิมบับเวคุ้นเคย เมื่อเทียบกับดอลลาร์ของสหรัฐ และเงินแรนด์ แต่ก็ถือได้ว่าเป็นความพยายามของรัฐบาลมูกาเบ้ในการสร้างเครือข่ายพันธมิตรทางเศรษฐกิจในยามที่ถูกคว่ำบาตรจากตะวันตก โดยพวกเขาระบุว่านี่คือนโยบาย “มุ่งตะวันออก”
ข้ออ้างดังกล่าว ผู้สังเกตการณ์กลับมองอีกมุมว่า นี่คือการแลกเปลี่ยนแบบ “หมูไปไก่มา” ให้จีนมีบทบาทครอบงำซิมบับเว แทนที่ตะวันตก หลังจากที่หลายเดือนก่อน สี จิ้น ผิง ผู้นำจีน นำคณะไปเยือนประเทศนี้ พร้อมกับเสนอโครงการสร้างเขื่อน และโรงไฟฟ้าหลายแห่งเพื่อกระตุ้นให้ภาคการผลิตของประเทศนี้มีความมั่นคงมากขึ้น ภายใต้เงื่อนไขให้จีนเป็นผู้ซื้อสินค้าโภคภัณฑ์หลักของซิมบับเว
การที่เงินหยวนยึดหัวหาดเป็นเงินสกุลสำคัญของประเทศในแอฟริกาตะวันออกเฉียงใต้ อาจเป็นช่องทางทดสอบการเป็นเงินสากลของโลกด้วยวิธีการแปลกพิสดาร แต่ที่แน่นอนก็คือ อิทธิพลครอบงำของจีนในแอฟริกาที่เริ่มต้นจากซิมบับเว จะมีโอกาสแพร่ระบาดไปยังประเทศอื่นๆ ที่ใกล้ชิดกับจีนอย่าง แองโกลา และโมซัมบิก ในท่วงทำนองเดียวกัน
ใครที่เคยเชื่อว่า จีนจะไม่มีวันเป็นจักรวรรดินิยมในโลกนี้ (และจีนก็พยายามกล่าวอ้างอยู่เรื่อย) คงต้องทบทวนและเลิกคิดกันใหม่ได้ เพราะตอนนี้ จีนไม่เหมือนเดิมอีกแล้ว และยุคของสงครามอุดมการณ์ก็จบสิ้นไปแล้ว