ผู้ถือหุ้น-หุ้นกู้ STARK ว้าวุ่น ‘ฟ้องกลุ่ม’ ไม่คืบ
ผู้ได้รับความเสียหายเคสนี้ทำได้เพียงการ “รอคอย” ??? ซึ่งไม่รู้ว่าจะนานเท่าไหร่ ???
เส้นทางนักลงทุน
เมื่อวันที่ 18 ต.ค. 2566 ที่ผ่านมา คณะกรรมาธิการการป้องกันปราบปรามการฟอกเงินและยาเสพติด ได้มีการประชุมเพื่อพิจารณาเรื่องหุ้นของบริษัท สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ STARK ซึ่งมีผู้เสียหายในกรณีนี้เป็นจำนวนมาก เฉพาะความเสียหายจากหุ้นสามัญ STARK มีประชาชนได้รับผลกระทบประมาณ 1,759 ราย คิดเป็นมูลค่าความเสียหายกว่า 4,000 ล้านบาท ส่วนหุ้นกู้ STARK ที่ผิดนัดชำระมีมูลค่ากว่า 9,000 ล้านบาท มีผู้ได้รับความเสียหายมากกว่า 4,000 ราย ทั้ง 2 กรณีนี้จะมีการฟ้องร้องแบบกลุ่ม (Class Action) เป็นครั้งแรกของประวัติศาสตร์ตลาดทุนไทย
ในการประชุมดังกล่าวมี “ธวัชชัย พิทยโสภณ” รองเลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เข้าร่วมประชุมเพื่อพิจารณาเกี่ยวกับทรัพย์สินในคดี STARK ทั้งนี้มีแนวโน้มว่าคณะกรรมาธิการอาจตั้งคณะอนุกรรมาธิการขึ้นมาเพื่อดำเนินการศึกษาในรายละเอียด
มีการส่งเสียงจากประชาชนผู้เสียหายในส่วนของหุ้นกู้ไปยังคณะกรรมาธิการฯ โดยเสนอว่าให้มีการจัดตั้งคณะทำงานเพื่อติดตามปัญหาอย่างต่อเนื่องและเป็นรูปธรรม รวมทั้งต้องการให้เร่งพิจารณาจัดตั้งกองทุนช่วยเหลือเยียวยาผู้เสียหาย ตลอดจนการประสานรวบรวมข้อมูลจากหน่วยงานทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน รวมถึงผู้เกี่ยวข้องในต่างประเทศเพื่อให้เกิดการรวมศูนย์ ดู ๆ แล้ว กระบวนการในส่วนของความเสียหายจากหุ้นกู้ก็คงต้องใช้เวลาอีกนาน ยังไม่รู้ว่าจะจบสิ้นเมื่อไหร่
ขณะที่ ในส่วนของประชาชนผู้ได้รับความเสียหายจากหุ้นสามัญจำนวน 1,759 รายนั้น ก็ยังไม่คืบหน้า เพราะหน่วยงานที่ได้รับมอบหมายให้เป็นผู้รับผิดชอบเข้ามาดำเนินการฟ้องร้องแบบกลุ่ม คือ สมาคมส่งเสริมผู้ลงทุนไทย (Thai Investors Association : TIA) ซึ่งเป็นองค์กรที่ไม่แสวงหากำไร ทำให้ไม่มีเงินทุนเพื่อใช้เป็นสารตั้งต้นในการดำเนินการในเรื่องดังกล่าว
“ข่าวหุ้นธุรกิจ” ได้เกาะติดกรณีปัญหาของ STARK มาอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดได้มีการสอบถามความคืบหน้าไปยัง “สิริพร สงบธรรม จังตระกุล” เลขาธิการสมาคมส่งเสริมผู้ลงทุนไทย ได้คำตอบว่า
ภายในเดือน ต.ค. 2566 นี้ สมาคมฯ จะได้รับการสนับสนุนโดยองค์กรในตลาดทุน ในการอนุมัติเม็ดเงินสำหรับจัดตั้ง “ศูนย์ช่วยเหลือนักลงทุนในการลงทุนในตลาดทุน” ซึ่งจะเป็นการช่วยเหลือกรณีที่เกิดปัญหาและสร้างความเสียหายให้กับนักลงทุนทั้งหมดทุกกรณี ไม่ใช่เฉพาะกรณีของ STARK คาดเม็ดเงินที่จะได้รับครั้งนี้ก็คงจะไม่มาก
หากได้รับการอนุมัติเม็ดเงินส่วนนี้มา สมาคมฯ ก็จะเริ่มกระบวนการขั้นถัดไปในการพูดคุยเพื่อหาทนายความ จากนั้นจะทำการยกร่างสัญญาว่าจ้าง เพื่อเดินหน้าไปสู่กระบวนการรวบรวมหลักฐาน เอกสาร และยื่นฟ้องต่อศาลต่อไป
Class Action หรือการฟ้องร้องแบบกลุ่ม กรณี STARK ช้าเกินไปหรือไม่ ??? คือคำถาม เพราะในจำนวนผู้เสียหายทั้งจากหุ้นสามัญและหุ้นกู้นั้น ต้องยอมรับว่ามีผู้ที่อยู่ใน “วัยเกษียณอายุ” จำนวนไม่น้อย
ผู้ลงทุนเหล่านี้มีเป้าหมายที่จะ “เกษียณสุข” หวังให้เงินที่เก็บหอมรอบริบในวัยทำงาน สวมารถทำงานผ่านตลาดทุน ด้วยหวังสร้างผลตอบแทนมาเลี้ยงชีพ กลับกลายเป็นต้อง “เกษียณทุกข์” จะรอคอยได้นานแค่ไหน
ตลอดเวลาที่สมาคมส่งเสริมผู้ลงทุนไทยในฐานะตัวกลางที่ได้รับมอบหมายให้เป็นศูนย์รวมรับเรื่อง และเป็นตัวแทนในการฟ้องร้องคดีแบบกลุ่มของเคสนี้ “สิริพร สงบธรรม จังตระกุล” ยอมรับว่ามีผู้ถือหุ้นสามัญที่ได้รับความเสียหายสอบถามเข้ามายังสมาคมฯ ทุกวัน
คำตอบนั้นก็คือ “ถ้าถามว่าคืบหน้าแค่ไหน ถือว่าคืบหน้า แต่ก็ยอมรับว่าคืบหน้าช้า เพราะทุกฝ่ายทำงานอย่างรอบคอบ เคสนี้มีผู้มีส่วนได้ส่วนเสียจำนวนมาก และหากจะถามว่าเคสนี้จะสามารถยื่นฟ้องศาลได้เมื่อไหร่ ไม่สามารถตอบได้ ก็ต้องรอให้มีเงินทุนเข้ามาก่อน รอให้ทุกอย่างครบถ้วนและพร้อม เราก็จะเริ่มทำงานได้ จากนั้นเราก็ทำงานคู่ขนานกันไป”
สะท้อนว่าผู้ได้รับความเสียหายเคสนี้ทำได้เพียงการ “รอคอย” ??? ซึ่งไม่รู้ว่าจะนานเท่าไหร่ ???
เมื่อวันที่ 10 ต.ค. 2566 ที่ผ่านมา “พรอนงค์ บุษราตระกูล” เลขาธิการ ก.ล.ต. เคยให้ข้อมูลในระหว่างการแถลงนโยบายการบริหารงานในฐานะเลขาธิการก.ล.ต.คนใหม่ว่า สำนักงานก.ล.ต.อยู่ระหว่างศึกษาและดำเนินการในการจัดตั้งกองทุนช่วยเหลือเยียวยาผู้เสียหาย เมื่อเป็นดังนั้น กองทุนนี้จะเกิดขึ้นเมื่อไหร่ จะเยียวยาอย่างไร ผู้เสียหายจากเคส STARK จะทันได้ใช้และจะรับการเยียวยาหรือไม่ คือสิ่งที่นักลงทุนกลุ่มนี้รอคอยคำตอบ
ก่อนหน้านี้ สำนักงานก.ล.ต.เคยให้ข้อมูลการดำเนินงานเคส STARK ในส่วนของก.ล.ต.ว่าได้ทำหน้าที่และดำเนินการตามขอบเขตหน้าที่ความรับผิดชอบตามกฎหมายภายในอำนาจของก.ล.ต.แล้ว โดยได้กล่าวโทษผู้กระทำผิดจำนวน 10 ราย ประกอบด้วยบุคคลธรรมดา 5 ราย และนิติบุคคล 5 ราย ต่อกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) ในกรณีตกแต่งงบการเงินและเปิดเผยข้อมูลในแบบ Filing หุ้นกู้อันเป็นเท็จของ STARK และเป็นการกระทำโดยทุจริตหลอกลวง และได้ไปซึ่งทรัพย์สินจากประชาชนผู้ถูกหลอกลวง
และปัจจุบัน ก.ล.ต.อยู่ระหว่างการตรวจสอบเชิงลึก เพื่อขยายผลเกี่ยวกับผู้กระทำผิดเพิ่มเติม และความผิดเพิ่มเติม เช่น การใช้ข้อมูลภายใน การแพร่ข่าวที่ทำให้สำคัญผิดเกี่ยวกับ STARK เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม เคส STARK มีอายุในการยื่นฟ้องดำเนินคดีแบบกลุ่มภายในระยะเวลา 1 ปี นับตั้งแต่เกิดเหตุ หากยื่นฟ้องกลุ่มได้ ก็จะถือเป็นเคสประวัติศาสตร์ของไทย แต่ ณ ปัจจุบัน ยังไม่เริ่มนับ 1 ตั้งไข่ ขณะที่เวลาผ่านไปแล้วหลายเดือน
สุดท้ายก็ได้แต่หวังว่าทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะเร่งดำเนินการให้เกิดความคืบหน้า ทันเวลา คนผิดจะต้องได้รับการลงโทษ ผู้เสียหายจะต้องได้รับการชดเชย และคงจะไม่มี “มวยล้ม ต้มนักลงทุนผู้เสียหาย” เกิดขึ้น ไม่ว่าจะจากหน่วยงานไหนก็ตาม