ด้านมืดของไอพีโอ การกำหนดราคาที่เกินจริง
ย้อนหลังกลับไปมอง ความล้มเหลวของหุ้นไอพีโอ ที่เพิ่งเข้ามาใหม่ 5 บริษัทที่ผ่านมา มีรอดอยู่เพียง 1 บริษัทเท่านั้น ที่ยังยืนเหนือราคาจองได้
ย้อนหลังกลับไปมอง ความล้มเหลวของหุ้นไอพีโอ ที่เพิ่งเข้ามาใหม่ 5 บริษัทที่ผ่านมา มีรอดอยู่เพียง 1 บริษัทเท่านั้น ที่ยังยืนเหนือราคาจองได้
ส่วนที่เหลืออีก 4 บริษัทร่วงระเนระนาดไปตาม ๆ กัน จะเรียกว่าภาวะตลาดไม่เอื้ออำนวยก็ว่าได้ แต่ความชัดเจนที่เหมือนกันของความล้มเหลว คือ การกำหนดราคาขายไอพีโอที่สูงเกินไป
หากเทียบราคาหุ้นที่ปรับตัวลดลงมา 30-40% เรายังจะเห็นว่า ค่า PE ยังอยู่ที่ระดับ เกิน 20 เท่าทั้งนั้นเลย
ทำให้เกิดความกังวลของนักลงทุนและกลัวหุ้นไอพีโอ จนทำให้ภาพรวมของการเข้าเทรดของหุ้นไอพีโอที่กำลังจะรอคิวเข้าเทรดเสียบรรยากาศไปตาม ๆ กัน
สำหรับหลักในการกำหนดราคาไอพีโอ ที่ควรจะเป็นจะกำหนดจาก การคาดการณ์ผลประกอบการในปีถัดไปแบบมีสมมติฐานที่สมเหตุสมผล
โดยมีเหตุผลอ้างอิงที่เชื่อถือได้ว่าจะเป็นไปตามนั้น ซึ่งการคาดการณ์นั้นจะถูกเสนอต่อ นักวิเคราะห์และที่ปรึกษาทางการเงิน (FA) ที่เป็นกลุ่มคนที่จะนำพาหุ้นไอพีโอตัวนี้เข้าตลาด
โดย 2 กลุ่มนี้จะประเมินมูลค่าหุ้นตามทฤษฎีทางการเงิน ที่ได้ร่ำเรียนมาตามแบบวิชาชีพ หลังจากการวิเคราะห์ ก็จะเป็นที่มาของราคาไอพีโอที่มีการคาดการณ์แบบสมเหตุสมผล
นอกจากนี้ยังต้องเข้าถึงจิตวิทยา ของผู้ลงทุนด้วย ซึ่งในภาวะตลาดที่เป็นเหตุการณ์ปกติ ผู้กำหนดราคาจะให้รับผลตอบแทนประมาณ 12-15%
แต่ถ้าเป็นในภาวะที่ไม่ปกติ ผู้กำหนดราคาไอพีโอ ควรจะมีส่วนลด ให้กับผู้ลงทุนมากถึง 20-25% ซึ่งเป็นเรตที่มากกว่าช่วงภาวะปกติ
เนื่องจากการขายของที่มีมูลค่า 100 ในภาวะปกติ ลดให้ 12-15% ก็สามารถขายได้ แต่พอช่วงที่ตลาดวาย หรือภาวะตลาดไม่ดีแบบนี้ ควรจะต้องลดราคาขายเหลือ 75-80% เพื่อจะได้จูงใจให้นักลงทุนมาสนใจจองซื้อหุ้นไอพีโอกัน
ในปัจจุบัน กลไกดังกล่าว ถูกบิดให้มันผิดเพี้ยนไปจากความเป็นจริง โดยไม่คำนึง ทั้งในแง่ของความมีจริยธรรม และความเสี่ยงที่จะสร้างความเสียหายให้กับผู้ลงทุน
ความผิดเพี้ยนดังกล่าว เกิดจากการประมาณการที่อยู่บนความเพ้อฝันที่เกินจริง โดยมีความเป็นได้ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตที่น้อยมาก
ทำให้ราคาเป้าหมายจากเดิม ทฤษฎีมูลค่าสินค้า 100 กลายเป็น 120 โดยเสนอให้ส่วนลด 25% ทำให้ราคาเสนอขายอยู่ที่ 90 ซึ่งมีส่วนต่าง หรือ แกป แค่ 11 เท่านั้นเอง
ในความเป็นจริงมูลค่าสินค้าดังกล่าว อาจจะไม่ใช่ 100 จริง ๆ ก็ได้ มูลค่าที่แท้จริงอาจอยู่ที่ 90 แต่ในแง่ของคนที่กำหนดราคา คือ Underwriter ทำให้เชื่อว่ามูลค่ามันอยู่ที่ 120 แบบ aggressive ทั้ง ๆ ที่มันควรจะเป็น 100 แบบ conservative
หรือจะเรียกว่า “ให้ราคาเหมาะสมที่เกิน ความเป็นจริง”
สถานการณ์ของ การขยาดหุ้นไอพีโอของนักลงทุน เกิดจากการกำหนดราคาที่อยากได้ อยากขาย หรือจะเรียกง่าย ๆ ว่า เอาคำตอบมาก่อน แล้วค่อยหาวิธีการ หรือทฤษฎีมาใส่ให้มันดูสมเหตุสมผล มีมากมายหลากหลาย ดังนี้
-บริษัทต้องการได้เม็ดเงินระดมทุนมาก ๆ
-เจ้าหนี้สถาบันการเงิน ต้องการเคลียร์หนี้ให้ตัวเอง
-มีการตกลงกับ Market maker : MM (ผู้ดูแลสภาพคล่อง แต่ในที่นี้หมายความถึง คนที่จะดันราคาหุ้นให้พุ่งขึ้นไปเกินกว่ามูลค่าพื้นฐาน) แม้ราคาหุ้นจะถูกกำหนดมาที่ราคาแพง แต่ก็จะดันราคาขึ้นไป แล้วเอาส่วนต่างมาแบ่งให้กับเจ้าของ
ช่วงที่ผ่านมามีหุ้นประเภทนี้เข้ามากันเยอะมาก ขาย PE 30-40 เท่า ก็ยังจองล้น จองหมด เพราะ MM เหมาไปเอาไปดันราคา เพื่อให้ผู้ลงทุนที่ชอบการเก็งกำไรเข้าไปไล่ซื้อ โดยระหว่างทางก็รินของออกมา
ข้อดีของการขายหุ้นได้ราคาแพง ๆ PE สูง ๆ คือ 1.บริษัทได้เงินก้อนไปเรียบร้อยแล้ว
2.เจ้าของแบ่งกำไรกับ MM สมมติทุนที่เจ้าของก่อตั้งมา ราคาพาร์ 100 ล้านบาทได้มา 200 ล้านบาท เท่ากับได้ทุนคืนมาแล้วบวกกำไร ส่วนที่เหลือยังได้ถือหุ้นอีก 50-60%
หลังจากนั้นก็จ้างผู้บริหารมืออาชีพเข้ามาทำงานให้ เจ้าของก็สบายไปไม่ต้องมาเหนื่อยอะไร พอหุ้นหลุดไซเรนต์ พีเรียดก็ทยอยขาย ลดสัดส่วนการถือหุ้นลงเรื่อย ๆ แบบนี้มีให้เห็นในอดีตเยอะมาก
ฉะนั้นการจะลงทุนหุ้นไอพีโอตัวใดก็ตาม ควรจะต้องศึกษาแนวโน้มของธุรกิจหลักให้รอบด้าน รวมทั้งประวัติ ชื่อเสียงในอดีตของ ที่ปรึกษาทางการเงิน (FA) ผู้รับประกันการจำหน่ายหุ้น (Underwriter) และ MM ที่จะเข้ามาดันราคาหุ้นด้วย
และที่สำคัญ ชื่อเสียงของเจ้าของกิจการนั้น ๆ ว่ามีความสำมะเลเทเมา หรือฟุ้งเฟ้อ ในความหรูหรา มากน้อยแค่ไหน
ทั้งนี้ การอธิบายโหงวเฮ้ง ของหุ้นไอพีโอเหล่านี้ ไม่ได้มีความเกี่ยวข้องกับหุ้นที่เพิ่งเข้าเทรดในปีนี้แต่อย่างใด
ฉะนั้น ท่านทั้งหลายที่มีเค้าลางที่มีฉันทลักษณ์ ตรงตามตำราที่ว่าก็อย่าเพิ่งเดือดร้อนไป
แต่ขอให้รู้ไว้ว่า หนังสือพิมพ์ ข่าวหุ้น อยู่ในตลาดทุนมานานกว่า 29 ปี มากกว่านี้ก็เห็นมาหมดแล้วเพียงแต่จะพูดหรือไม่พูด ก็เท่านั้นเอง