GPI คาร์ & สปอร์ต.!

หุ้นบริษัท กรังด์ปรีซ์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) หรือ GPI ของ “เสี่ยปราจิน เอี่ยมลำเนา” เกิดจากสายรถยนต์อย่างแท้ทรู..!!


หุ้นบริษัท กรังด์ปรีซ์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) หรือ GPI ของ “เสี่ยปราจิน เอี่ยมลำเนา” เกิดจากสายรถยนต์อย่างแท้ทรู..!! โดยคนส่วนใหญ่จะรู้จัก GPI ในฐานะ 1)เป็นผู้ผลิตแม็กกาซีนที่เกี่ยวกับยานยนต์ อาทิ นิตยสารออฟโรด นิตยสาร GRAND PRIX และนิตยสารมอเตอร์ไซค์ เป็นต้น 2)เป็นเจ้าของงาน Bangkok International Motor Show หรืองาน Motor Show ที่จัดขึ้นช่วงปลายมี.ค. ถึงต้นเม.ย. ของทุกปี และ 3)เป็นเจ้าของสนามแข่งรถพีระ อินเตอร์เนชั่นแนล เซอร์กิต พัทยา

เรียกว่า GPI ค่อนข้างครบเครื่องในเรื่องยานยนต์ ยกเว้นไม่มีโชว์รูมขายรถยนต์เท่านั้น…

ด้วยโครงสร้างรายได้ของ GPI ที่ผูกติดอยู่กับงาน Motor Show ค่อนข้างเยอะ เห็นได้จากผลประกอบการในงวดไตรมาส 1 และไตรมาส 2 จะพีกสุด ๆ ของปี ส่วนไตรมาส 3 และไตรมาส 4 จะเป็นช่วงโลว์ซีซัน เผลอ ๆ บางไตรมาสอาจขาดทุนเสียด้วยซ้ำ

จากผลประกอบการที่สวิงสวาย เป็นโจทย์ใหญ่ที่ทำให้ GPI ต้องพยายามแสวงหาธุรกิจใหม่ ๆ เข้ามาเติม เพื่อให้มีเสถียรภาพมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการนำโมเดลงาน Motor Show ไปจัดที่เมียนมา ซึ่งแรก ๆ ก็ไปได้สวย ได้รับการตอบรับที่ดี แต่น่าเสียดายมาเจอโควิดเสียก่อน ทำให้ตอนนี้เงียบหายไป…

รวมทั้งหันมาจับงานออโต ซาลอน หรือธุรกิจให้บริการรับตกแต่งรถยนต์สำหรับการแข่งขัน การรุกเข้าสู่ธุรกิจโรงไฟฟ้าเชื้อเพลิงจากขยะแปรรูป ผ่านการลงทุนในบริษัท ทรูเอนเนอร์จี จำกัด

นอกจากนี้ ยังต่อยอดไปสู่การจัดงานอีเวนต์ในรูปแบบอื่น ๆ ที่มีความหลากหลายขึ้น โดยเน้นจัดอีเวนต์กลุ่มกีฬาและบันเทิง (Sport & Entertainment) เช่น งานวิ่ง เจ็ตสกี กีฬาเอ็กซ์ตรีม คอนเสิร์ต และแฟนมีตติ้งกับศิลปินไอดอลจากทั้งในและต่างประเทศ เพื่อให้บริษัทสามารถจัดงานอีเวนต์ได้ตลอดทั้งปี สร้างรายได้อย่างต่อเนื่อง

ล่าสุดก็ไปเกี่ยวก้อยเป็นพันธมิตรกับบริษัท ไตรลีก (ประเทศไทย) จำกัด จัดตั้งบริษัทร่วมทุนที่ชื่อ Grand Prix Tri-League Entertainment เพื่อจัดกิจกรรมการแข่งขันกีฬา โดยมีทุนจดทะเบียน 1 ล้านบาท โครงสร้างการถือหุ้น GPI และบริษัท ไตรลีก (ประเทศไทย) จะถือหุ้นเท่า ๆ กันคนละ 49% ส่วนที่เหลืออีก 2% มีบุคคลอีก 2 ราย มาถือหุ้นคนละ 1%

แม้ไม่มีตัวเลขที่แน่ชัดว่าตลาดนี้มีมูลค่าเท่าไหร่..? และใหญ่แค่ไหน..?

แต่ถ้าเทียบเคียงจากผลประกอบการในช่วง 5 ปีย้อนหลังของบริษัท ไตรลีก (ประเทศไทย) ในฐานะรุ่นพี่ที่จัดกิจกรรมการแข่งขันกีฬามานานหลายปี โดยปี 2561 มีรายได้รวม 84.24 ล้านบาท กำไรสุทธิ 4.27 ล้านบาท ปี 2562 มีรายได้รวม 124.39 ล้านบาท กำไรสุทธิ 7.45 ล้านบาท ปี 2563 มีรายได้รวม 97.85 ล้านบาท กำไรสุทธิ 7.91 ล้านบาท ปี 2564 มีรายได้รวม 26.82 ล้านบาท ขาดทุนสุทธิ 4.47 ล้านบาท และปี 2565 มีรายได้รวม 137.11 ล้านบาท กำไรสุทธิ 19.67 ล้านบาท

จะเห็นว่ารายได้ทั้งก่อนและหลังโควิดแตะหลักร้อยล้านบาท ส่วนกำไรสุทธิอาจมีขาดทุนบ้างในช่วงวิกฤตโควิด เนื่องจากไม่สามารถจัดกิจกรรมได้ แต่พอโควิดจางก็กลับมาเติบโตโดดเด่นอีกครั้ง

อย่างนี้ต้องบอกว่า…ตลาดนี้ “ไม่ธรรมดา อื๊อฮือไม่ธรรมดา…ไม่ธรรมดา โอ๊โฮ ไม่ธรรมดา”…นะนายจ๋า

ก็น่าจับตา การรุกสู่ธุรกิจจัดกิจกรรมการแข่งขันกีฬาจะช่วยเพิ่มรายได้และกำไรให้กับ GPI ได้มากน้อยแค่ไหน..?

ที่สำคัญ จะช่วยชดเชยความหวือหวาของกำไรในแต่ละไตรมาสได้หรือไม่..?

ถ้าได้…คงช่วยลบภาพจำ GPI หุ้นเก็งกำไรได้แค่ 2 ไตรมาส” หรือ “หุ้นซีซั่นส์” ออกจากสารบบของนักลงทุนไปได้สักที..!??

…อิ อิ อิ…

Back to top button