‘ชอร์ตเซล’ ตัวการทุบหุ้นไทยจริงหรือ ???

ในภาวะที่ตลาดหุ้นไทยปักหัวลงเกือบทุกวัน ดัชนีหลุดแนวรับทางจิตวิทยาหลายรอบ “ชอร์ตเซล” ถูกมองเป็นตัวร้ายที่ “ทุบหุ้นไทย” ให้ทรุดลงหนัก


เส้นทางนักลงทุน

ในภาวะที่ตลาดหุ้นไทยปักหัวลงเกือบทุกวัน ดัชนี SET INDEX หลุดแนวรับทางจิตวิทยาหลายรอบ “ชอร์ตเซล” (Short Sell) หรือการขายชอร์ต ถูกมองเป็นหนึ่งในตัวร้ายที่ “ทุบหุ้นไทย” ให้ทรุดลงหนัก

มีข้อเขียนของ “รัฐศรัณย์ ธนไพศาลกิจ” ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายหลักทรัพย์ต่างประเทศและฟิวเจอร์ส บล.บัวหลวง ซึ่งเผยแพร่โดยตลาดหลักทรัพย์ฯ เมื่อวันที่ 6 ก.ย. 2566 ระบุว่า

หากพูดถึงคำว่า “การขายชอร์ต” นักลงทุนอาจนึกถึงว่าเป็นเรื่องเดียวกับ “การทุบหุ้น” ซึ่งเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ราคาหุ้นปรับตัวลง แต่นี่เป็นสาเหตุที่ทำให้ราคาหุ้นปรับลดลงจริงหรือไม่ รวมถึงบทบาทและเสน่ห์ของการขายชอร์ตเป็นอย่างไร

โดยเริ่มต้นทำความเข้าใจจาก “ธุรกรรมยืมและให้ยืมหลักทรัพย์” (Securities Borrowing and Lending) หรือที่เรียกย่อ ๆ ว่า SBL ซึ่งหมายถึงธุรกรรมที่โบรกเกอร์ทำหน้าที่เป็นตัวกลางหรือคู่สัญญาให้กับทั้งผู้ยืมหุ้น (Borrower) และผู้ให้ยืมหุ้น (Lender) เพื่อให้เกิดธุรกรรมการยืมและให้ยืมหุ้น

ทั้งนี้ ผู้ให้ยืมหุ้นอาจเป็นนักลงทุนระยะยาว และต้องการผลตอบแทนส่วนเพิ่ม (นอกเหนือจากส่วนต่างราคาหุ้นและเงินปันผล) ก็จะนำหุ้นที่ตัวเองถือครองอยู่มาให้ยืม ขณะที่ผู้ยืมหุ้นซึ่งคาดว่าราคาหุ้นที่ยืมมีแนวโน้มปรับลดลง แต่ไม่มีหุ้นดังกล่าวถืออยู่ก็จะยืมมาเพื่อขายชอร์ต (ขายล่วงหน้า)

ในอดีต ธุรกรรม SBL ไม่เป็นที่รู้จักมากนัก เนื่องจากภาพลักษณ์ในสายตาของนักลงทุนทั่วไป มองว่าเป็นเครื่องมือที่ทำให้ราคาหุ้นปรับตัวลง ซึ่งเป็นภาพจำที่ถูกบอกต่อกันมา และถูกมองว่าเป็นผู้ร้ายสำหรับตลาดหุ้น แต่ในความเป็นจริงแล้วหากย้อนไปดูข้อมูลการขายชอร์ตในอดีต กลับไม่เป็นเหมือนที่ถูกกล่าวหา

จากข้อมูลพบว่า มูลค่าการขายชอร์ตตั้งแต่ปี 2555-2561 ค่อนข้างทรงตัวอยู่ที่เฉลี่ยราว 2 แสนล้านบาทต่อปี ถัดจากนั้นก็เริ่มเห็นการเติบโตของธุรกรรมขายชอร์ต โดยเฉพาะในปี 2564 และปี 2565 มูลค่าการขายชอร์ตเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัดเจนอยู่ที่ระดับ 1.4 ล้านล้านบาท และ 1.7 ล้านล้านบาท ตามลำดับ

อย่างไรก็ดี SET Index กลับไม่ได้ปรับลดลงตามมูลค่าการขายชอร์ตที่เพิ่มขึ้น สะท้อนได้ว่าธุรกรรมขายชอร์ตไม่ได้ส่งผลอย่างมีนัยสำคัญต่อการปรับลดลงของตลาดหุ้นไทย จึงไม่ได้เป็นสาเหตุหลักที่ทำให้ราคาหุ้นปรับลดลงอย่างที่เข้าใจผิดกันมาโดยตลอด

นอกจากนี้ การขายชอร์ตไม่ใช่ว่าฝั่งที่ยืมหุ้นมาแล้วต้องการจะโยนขายฝั่งซื้อ (Bid) ก็ทำได้เลย เนื่องจากตลาดหลักทรัพย์ฯ มีกฎระเบียบในการขายชอร์ต (Zero Plus Tick Rule) หมายความว่าการขายชอร์ตจะสามารถทำได้โดยที่ราคาขายไม่ต่ำกว่าราคาล่าสุด เช่น ถ้าราคาล่าสุดอยู่ที่ฝั่ง Bid ก็จะสามารถขายชอร์ตได้ที่ราคา Bid แต่ถ้าราคาล่าสุดอยู่ที่ฝั่ง Offer จะต้องตั้งขายที่ราคา Offer

ตัวอย่าง เช่น สมมติหุ้น XYZ ราคาฝั่ง Bid อยู่ที่ 35 บาท ราคาฝั่ง Offer อยู่ที่ 35.25 บาท และราคาล่าสุดอยู่ที่ 35.25 บาท จะสามารถตั้งขายชอร์ตได้ที่ราคา 35.25 บาท ไม่สามารถขายชอร์ตที่ราคา 35 บาทได้

ผลตอบแทนจากการลงทุนหุ้น แบ่งออกเป็น 2 ทาง คือ กำไรจากส่วนต่างราคา (Capital Gains) และเงินปันผล (Dividend Yield) แต่จริง ๆ แล้ว ผู้ที่ลงทุนระยะยาวยังสามารถสร้างผลตอบแทนส่วนเพิ่มจากหุ้นที่ถือ ด้วยการทำธุรกรรม SBL โดยนำหุ้นที่ถือครองมาให้ยืม เมื่อหุ้นถูกจับคู่ยืม ผู้ให้ยืมจะได้รับค่าธรรมเนียมการให้ยืมเป็นผลตอบแทนส่วนเพิ่ม

รวมทั้งยังคงได้รับสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ จากหุ้นที่ให้ยืมเหมือนเดิม ไม่ว่าจะเป็นเงินปันผลหรือสิทธิในการซื้อหุ้นเพิ่มทุน เป็นต้น อีกทั้งยังสามารถขายหุ้นที่ให้ยืมนั้นได้ทันที โดยไม่ต้องรอให้ผู้ยืมทำการคืนหุ้นก่อน

ในปัจจุบันโบรกเกอร์ต่างสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ทางการเงินใหม่ ๆ ที่ช่วยเพิ่มโอกาสและขจัดข้อจำกัดในการลงทุน เช่น ธุรกรรม Block Trade ที่สร้างมาเพื่อแก้ไขปัญหาสภาพคล่องของ Single Stock Futures หรือจะเป็นการออก Derivative Warrant (DW) เพื่อเพิ่มทางเลือกในการเก็งกำไร โดยกระบวนการ Short Block Trade โบรกเกอร์จะเข้าไปเป็นคู่สัญญากับนักลงทุน

ดังนั้นในกรณีที่ราคาหุ้นปรับลดลง ทำให้โบรกเกอร์ขาดทุนจากการถือ Position ใน Futures จึงจำเป็นต้องหาหุ้นอ้างอิงมาขายชอร์ต รวมถึงการออก Put DW ด้วย ซึ่งหากพิจารณาการขายชอร์ต พบว่าไม่ได้มีเป้าประสงค์เพื่อต้องการหากำไรจากการปรับลดลงของราคาหุ้นแต่อย่างใด แต่ใช้เพื่อป้องกันความเสี่ยง (Hedging) จึงเห็นได้ว่าถ้าขาดการให้ยืมหุ้นจากธุรกรรม SBL จะส่งผลให้ธุรกรรมดังกล่าวข้างต้นไม่สามารถต่อยอดไปได้เลย

ในโลกแห่งการลงทุนที่ราคาหุ้นมีการเคลื่อนไหวตลอดเวลา เมื่อราคาปรับตัวขึ้นได้ ราคาหุ้นก็ปรับตัวลงได้เช่นกัน และในช่วงตลาดเป็นขาลง นักลงทุนอาจมีโอกาสขาดทุน ทำให้การทำกำไรจากการลงทุนมักเกิดขึ้นในมิติเดียว คือ ซื้อแล้วรอให้ราคาหุ้นปรับขึ้น ดังนั้นจึงมีการเกิดขึ้นของธุรกรรม SBL ซึ่งถือเป็นเครื่องมือหนึ่งที่สามารถนำมาใช้ทำกำไรในภาวะตลาดที่เป็นขาลง โดยผู้ที่ไม่มีหุ้นแต่ประเมินว่าราคาจะปรับลดลง ก็สามารถยืมหุ้นมาเพื่อขายชอร์ตและซื้อคืนเมื่อราคาปรับลดลงตามที่ประเมินเอาไว้

ธุรกรรม SBL มีส่วนสำคัญที่ช่วยสร้างกลยุทธ์การลงทุนที่เพิ่มขึ้น เช่น Pair Trade ซึ่งเป็นกลยุทธ์ที่นักลงทุนจะทำการซื้อหุ้นตัวหนึ่ง พร้อมกับขายชอร์ตหุ้นอีกตัวหนึ่ง โดยที่หุ้นทั้งสองจะต้องมีความสัมพันธ์ไปในทิศทางเดียวกันสูง เช่น การทำ Pair Trade ระหว่างหุ้นตัวที่ 1 กับหุ้นตัวที่ 2 ซึ่งเป็นหุ้นที่อยู่ในอุตสาหกรรมเดียวกัน และมีค่าสหสัมพันธ์ (Correlation) สูง

หากประเมินว่าหุ้นตัวที่ 1 จะ Outperform (ราคาหุ้นถูกกว่ามูลค่าพื้นฐานที่แท้จริง มีโอกาสปรับขึ้น) เมื่อเทียบกับหุ้นตัวที่ 2 นักลงทุนจะทำการซื้อหุ้นตัวที่ 1 พร้อมกับขายชอร์ตหุ้นตัวที่ 2 ด้วยมูลค่าที่เท่ากัน หมายความว่า หากไม่สามารถยืมหุ้นมาขายชอร์ตได้ ก็จะไม่สามารถใช้กลยุทธ์ดังกล่าวได้

โดยสรุป ธุรกรรม SBL จึงไม่ได้เป็นสาเหตุของการทำให้ราคาหุ้นปรับลดลง ยิ่งไปกว่านั้นยังมีประโยชน์ทำให้ผู้ให้ยืมหุ้นสามารถสร้างผลตอบแทนส่วนเพิ่มให้กับพอร์ตลงทุน รวมทั้งผู้ยืมหุ้นก็มีทางเลือกเพิ่มขึ้นในการทำกำไรจากภาวะตลาดขาลงอีกด้วย

Back to top button