BTS-BCP ขับวินมอ’ไซค์.!

กลุ่มทุนใหญ่ที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจรถไฟฟ้าสารพัดสี คือ BTS และกลุ่มทุนใหญ่ที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจโรงกลั่น-น้ำมัน ที่เพิ่งปิดดีลซื้อ ESSO คือ BCP


จากกลุ่มทุนใหญ่ที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนสารพัดสี ไม่ว่าจะเป็นเขียว เหลือง และชมพู นั่นคือ บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) หรือ BTS ของ “เจ้าสัวคีรี กาญจนพาสน์” และกลุ่มทุนใหญ่ที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจโรงกลั่นและน้ำมัน ล่าสุดเพิ่งปิดดีลซื้อบริษัท เอสโซ่ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ ESSO นั่นคือ บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ BCP ภายใต้การนำทัพของ “เฮียชัยวัฒน์ โควาวิสารัช”

ไม่น่าเชื่อว่า ทั้งคู่จะโคจรมาเจอกัน เพื่อสร้างโอกาสทางธุรกิจร่วมกัน..!!

ผ่านการจัดตั้งบริษัทที่ชื่อ บริษัท สมาร์ท อีวี ไบค์ จำกัด เพื่อประกอบธุรกิจให้เช่าซื้อรถจกรยานยนต์ไฟฟ้า สำหรับผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์รับจ้าง (วินมอเตอร์ไซค์) ในบริเวณใกล้เคียงสถานีรถไฟฟ้าบีทีเอส รวมถึงธุรกิจอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการให้เช่าซื้อรถจักรยานยนต์ไฟฟ้า

บริษัทดังกล่าวมีทุนจดทะเบียน 20 ล้านบาท โครงสร้างการถือหุ้นแบ่งเป็น BTS ถือหุ้น 66.7% ส่วน BCP จะถือหุ้นผ่านบริษัทลูกที่ชื่อ บริษัท วินโนหนี้ จำกัด ในสัดส่วน 33.3%

ก็น่าสนใจกับการโคจรมาเจอกันในครั้งนี้…ด้วยการนำจุดแข็งมาช่วยสร้างการเติบโตของกันและกัน..!!

อย่าง BCP อาจไม่หนีธุรกิจดั้งเดิม ซึ่งเกี่ยวข้องกับธุรกิจพลังงาน ก็จะมีความเชี่ยวชาญด้านพลังงานอยู่แล้ว แม้ธุรกิจใหม่จะเป็นพลังงานไฟฟ้า ซึ่งถือเป็นพลังงานสะอาดก็เถอะ แต่อย่าลืมว่า  BCP มีบริษัท บีซีพีจี จำกัด (มหาชน) หรือ BCPG ทำธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับรีนิวเอเบิลอยู่แล้ว คงมีเทคโนโลยีที่ต่อยอดกันได้

แถมเป็นการเพิ่มพอร์ตพลังงานสะอาดของ BCP ซึ่งเป็นเมกะเทรนด์ด้วยนะ

ส่วนในมุม BTS นอกจากธุรกิจหลักรถไฟฟ้าแล้ว ถ้าสังเกตพักหลัง ๆ มานี้จะหันมาโฟกัสธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจการเงินหรือไฟแนนซ์มากขึ้น โดยมีลูกที่ชื่อบริษัท แรบบิท โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) หรือ RABBIT เป็นหัวหอก…ก็คงมีความรู้ความชำนาญในธุรกิจเช่าซื้อพอตัวแหละ…

ขณะที่การปล่อยสินเชื่อเช่าซื้อมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าของสมาร์ท อีวี ไบค์นั้น ไม่ได้ปล่อยให้กับคนทั่วไป แต่เน้นไปที่กลุ่มวินมอเตอร์ไซค์ในบริเวณใกล้เคียงสถานีรถไฟฟ้าบีทีเอสเป็นหลัก ซึ่งถ้าให้วิเคราะห์สาเหตุที่เลือกคนกลุ่มนี้ เป็นเพราะ 1)เป็นกลุ่มคนที่มีความจำเป็นต้องใช้มอเตอร์ไซค์ในการสร้างรายได้เลี้ยงครอบครัว

2)จากข้อมูลของกรมขนส่งทางบก อ้างอิง 31 ธ.ค. 2564 พบว่าในกทม.มีจำนวนผู้มีใบขับขี่สาธารณะ 83,398 ราย ซึ่ง 5 เขตที่มีจำนวนวินมอเตอร์ไซค์สูงสุด ได้แก่ 1.จตุจักร 3,838 ราย 2.บางขุนเทียน 2,987 ราย 3.คลองเตย 2,857 ราย 4.ดินแดง 2,838 ราย และ 5.บางกะปิ 2,827 ราย

จะเห็นว่ามีจำนวนไม่น้อยเลยนะ แล้วในจำนวน 5 เขตที่ว่า ก็เป็นเขตที่มีรถไฟฟ้าบีทีเอสผ่านเสียด้วยสิ ทำให้เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้ไม่ยาก

นี่คงเป็น 2 เหตุผลหลักที่ทำให้ BCP และ BTS พุ่งเป้าไปที่วินมอเตอร์ไซค์แนวรถไฟฟ้าบีทีเอสละมั้ง…

ที่สำคัญ ถ้าสแกนไปในตลาด ก็ยังไม่เห็นใครเป็นเจ้าตลาดเลยนะ ก็ถือเป็นโอกาสทางธุรกิจของทั้งคู่

โอเค…แม้รายได้จากธุรกิจใหม่อาจแค่หางอึ่งเมื่อเทียบกับโครงสร้างรายได้ของทั้งสองบริษัท โดย BCP มีรายได้ปีหนึ่ง ๆ ระดับ 2-3 แสนล้านบาท ในขณะที่ BTS มีรายได้เฉลี่ยอยู่ที่ 3-4 หมื่นล้านบาท แต่ผลลัพธ์ที่ได้กลับมา มันเป็นธุรกิจสีเขียวที่ประเมินค่าไม่ได้ และเป็นเมกะเทรนด์ที่ต้องทำอีกต่างหาก…

อ้อ…น่าจะเคลมคาร์บอนเครดิตได้ด้วยนะ…ทำให้เวลาจะขยับขยายไปตลาดต่างประเทศก็ง่ายขึ้น

เลยเป็นที่มาของ BCP และ BTS พร้อมใจกันมาขับวินมอเตอร์ไซค์..!?

แหม๊…ชักอยากเห็นแล้วสิว่า ลีลาการแว้น อุ๊ย…ขับวินมอเตอร์ไซค์ของทั้งคู่จะเร้าใจขนาดไหน..?

…อิ อิ อิ…

Back to top button