เศรษฐกิจดิจิทัลอาเซียน 2 แสนล้านดอลลาร์

สำหรับประเทศไทยแล้ว “สินเชื่อดิจิทัล” ถือว่ากำลังอยู่ในช่วงเริ่มต้น..จึงน่าจับตาว่าจากจุดเริ่มต้นดังกล่าวจะนำ ไปสู่การเติบโตมากน้อยแค่ไหน.!?


ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา รายงานจาก Google, Temasek และ Bain & Company มีการเปิดเผยประมาณการว่าเศรษฐกิจดิจิทัลของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้  ปีนี้จะมีมูลค่าธุรกรรมรวม 218,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือเพิ่มขึ้น 11% จากปีก่อน แม้จะมีอุปสรรคทางเศรษฐกิจมหภาคทั่วโลกก็ตาม

โดยรายงานจาก e-Conomy SEA 2023 ระบุว่า ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สามารถรับมือกับแรงต้านจากเศรษฐกิจมหภาคทั่วโลก ด้วยความสามารถในการฟื้นตัวมากขึ้น เมื่อเทียบกับภูมิภาคอื่น ๆ ทั่วโลก

ขณะเดียวกันความเชื่อมั่นของผู้บริโภคเริ่มฟื้นตัวช่วงครึ่งหลังปี 2566 หลังจากปรับลงสู่ระดับต่ำลงช่วงแรกปีเดียวกัน

โดยมีการวิเคราะห์ 5 ภาคส่วนหลักของเศรษฐกิจดิจิทัลเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้แก่ อีคอมเมิร์ซ การท่องเที่ยว อาหารและการขนส่ง สื่อออนไลน์ และบริการทางการเงินดิจิทัล โดยแสดงให้เห็นว่า รายรับในระบบเศรษฐกิจดิจิทัลของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่คาดว่าจะสูงถึง 100,000 ล้านดอลลาร์ในปีนี้ เติบโตเร็วกว่ามูลค่าธุรกรรมรวมของภูมิภาคถึง 1.7 เท่า

“เกิดจากบริษัทต่าง ๆ เริ่มเปลี่ยนจากการเน้นไปที่การเติบโตที่แลกด้วยทุกอย่าง เพื่อผลกำไร เป็นการสร้างธุรกิจที่ดี และแข็งแรง”

รายงานดังกล่าวครอบคลุมเศรษฐกิจหลัก 6 ประเทศ ได้แก่ อินโดนีเซีย, มาเลเซีย, ฟิลิปปินส์, สิงคโปร์, ไทย และเวียดนาม โดยไม่มีการกล่าวถึงประชากรของประเทศบรูไน, กัมพูชา, ลาว, เมียนมา, ติมอร์ตะวันออกและปาปัวนิวกินี 

โดยธุรกิจออนไลน์กำลังเปลี่ยนจากการหาลูกค้าด้วยต้นทุนสูง ไปสู่การมีส่วนร่วมกับลูกค้าปัจจุบันที่ลึกซึ้งยิ่งขึ้น โดยมุ่งความสนใจไปที่ความสามารถการทำกำไร

“บริษัทและผู้ประกอบการต่างตระหนักดีว่าวิธีที่ดีที่สุดในการเติบโต ไม่ใช่การเติบโตไม่ว่าจะด้วยวิธีใดก็ตาม แต่เป็นการเติบโต เพื่อการเปลี่ยนแปลงโดยเร็วสุดให้ระยะเริ่มต้น ระยะการเติบโตและไปสู่ความยั่งยืนทางการเงินมากขึ้น” Fock Wai Hoong หัวหน้าฝ่ายเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จาก Temasek ระบุ

โดยรายงานระบุอีกว่า แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซมุ่งเน้นไปที่การมีส่วนร่วมกับผู้ใช้ที่มีมูลค่าสูง การเพิ่มขนาดธุรกรรม รวมถึงการมองหาแหล่งรายได้ เช่น การโฆษณาและบริการจัดส่ง เพื่อขับเคลื่อนการเติบโตระยะยาว มูลค่าธุรกรรมรวมของภาคส่วนนี้จะสูงถึง 186,000 ล้านดอลลาร์ในปี 2568 เพิ่มขึ้นจาก 139,000 ล้านดอลลาร์ช่วงปี 2566

ทั้งนี้ ผู้บริโภคที่ได้รับบริการจากธนาคารไม่ทั่วถึง และธุรกิจขนาดเล็กมีส่วนร่วมในต่อเศรษฐกิจดิจิทัล และความต้องการของผู้บริโภคที่ขับเคลื่อนการให้สินเชื่อดิจิทัลมีการเติบโต และมีมูลค่า 30,000 ล้านดอลลาร์ โดยบริการทางการเงินดิจิทัลของสิงคโปร์คาดว่าจะเป็นตลาดสินเชื่อดิจิทัลที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาคจนถึงปี 2573

การเติบโตของ “สินเชื่อดิจิทัล” เป็นผลมาจากการฟื้นตัวหลังโควิด-19 โดยการท่องเที่ยวและการขนส่งออนไลน์กำลังเข้าใกล้ระดับก่อนเกิดโรคระบาดภายในปี 2567 

แต่อย่างไรก็ดี แรงต้านจากเศรษฐกิจมหภาค เช่น อัตราเงินเฟ้อ และต้นทุนเงินทุนสูง อาจส่งผลให้การใช้เงินทุนภาคเอกชนลดลงสู่ระดับต่ำสุดรอบ 6 ปี

สำหรับประเทศไทยแล้ว “สินเชื่อดิจิทัล” ถือว่ากำลังอยู่ในช่วงเริ่มต้น..จึงน่าจับตาว่าจากจุดเริ่มต้นดังกล่าวจะนำ ไปสู่การเติบโตมากน้อยแค่ไหน.!? น่าสนใจจริง ๆ…

Back to top button