Short Selling คุณูปการหรือตราบาป

FSC ออกมาตรการ “ห้ามทำการขายชอร์ตหุ้น” บริษัทต่าง ๆ ที่จดทะเบียนในดัชนี KOSPI 200 Index และดัชนี KOSDAQ 150 Index ของตลาดหุ้นเกาหลีใต้


คณะกรรมการด้านบริการการเงินของเกาหลีใต้ (FSC) ออกมาตรการ “ห้ามทำการขายชอร์ตหุ้น” (Short-Selling) บริษัทต่าง ๆ ที่จดทะเบียนในดัชนี KOSPI 200 Index และดัชนี KOSDAQ 150 Index ของตลาดหุ้นเกาหลีใต้ โดยเริ่มผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 6 พ.ย. 66-30 มิ.ย. 67

โดย “คิม จู-ฮยุน” ประธาน FSC ระบุว่า การออกคำสั่งห้ามขายชอร์ต มีเป้าหมายเพื่อปรับปรุงกฎระเบียบและระบบการซื้อขาย เพื่อสร้างความเท่าเทียมระหว่างนักลงทุนรายย่อยและนักลงทุนสถาบัน โดยช่วงที่ผ่านมา พบว่า มีวาณิชธนกิจจากต่างชาติรายใหญ่ ที่เข้ามาลงทุนตลาดหุ้นเกาหลีใต้ มีพฤติกรรมการซื้อขายที่ไม่เป็นธรรม ทำให้ FSC ไม่สามารถปล่อยให้การซื้อขายที่ไม่เป็นธรรมเช่นนี้ดำเนินต่อไปได้

ช่วงที่ตลาดหุ้นเกาหลีใต้ เผชิญกับความผันผวนอย่างหนัก เราพบว่ามีวาณิชธนกิจต่างชาติเข้ามาทำ Naked Short-Selling ซึ่งเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย และส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นในตลาดหุ้นเกาหลีใต้ นอกจากนี้ FSC จะกำหนดบทลงโทษที่รุนแรงมากขึ้น สำหรับผู้ที่ขายชอร์ตอย่างผิดกฎหมาย โดยทีมงานเฉพาะกิจ FSC จะเริ่มดำเนินการตรวจสอบเรื่องดังกล่าว ตั้งแต่วันที่ 6 พ.ย. 66 เป็นต้นไป”

“ลี บอค-ฮยุน” ประธานคณะกรรมการกำกับดูแลด้านการเงินของเกาหลีใต้ (FSS) ระบุว่า มีธนาคารต่างชาติประมาณ 10 แห่ง ที่อาจเข้าข่ายถูกตรวจสอบว่า มีการขายชอร์ตอย่างผิดกฎหมายในตลาดหุ้นเกาหลีใต้

ทั้งนี้ Naked Short-Selling หมายถึงการขายชอร์ตหุ้น ที่ยังไม่ได้มีการกู้ยืมมาก่อนหรืออีกความหมายหนึ่ง คือการขาย ชอร์ตหุ้นออกไป โดยที่นักลงทุนรายนั้นไม่ได้ถือหุ้นอยู่จริง ถือเป็นข้อห้ามตามกฎหมายตลาดทุนของเกาหลีใต้

จากปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นกับ “ตลาดหุ้นเกาหลีใต้” ถือเป็น “บทเรียนต่อตลาดหุ้นไทย” อย่างมีนัยสำคัญเลยทีเดียว เพราะช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา “การขายชอร์ตหุ้น” ถูกหยิบยกขึ้นมาเป็นประเด็นวิพากษ์กันในวงกว้างว่า “เป็นตัวซ้ำเติมตลาดหุ้น” ช่วงตลาดขาลงหรือไม่.!?

และที่สำคัญมันทำให้เกิด “ความเหลื่อมล้ำหรือความได้เปรียบเสียเปรียบ” ระหว่าง “นักลงทุนสถาบัน” กับ “บรรดานักลงรายย่อย” ด้วยหรือไม่.!?

โดยนิยามของ Short Sell หรือการยืมหุ้นมาขายเพื่อลงทุนในทิศทางขาลง ถือเป็นกลยุทธ์การลงทุนหนึ่งที่ได้รับความนิยมช่วงตลาดหุ้นปรับตัวลงอย่างรุนแรง เพราะความหมายของ Short Sell คือ การขายหุ้นเพื่อทำกำไร กรณีที่นักลงทุนประเมินแล้วว่าราคาหุ้นตัวนั้นจะปรับลดลงลง

หรือเอาที่เข้าใจกันง่าย ๆ จุดประสงค์การทำ Short Selling คือ การเพิ่มช่องทางให้นักลงทุนสามารถทำกำไรช่วงที่ตลาดหุ้นเป็นขาลง..นั่นเอง

แต่ปัญหามันอยู่ที่ว่า..ในโลกแห่งความเป็นจริงผู้ที่ทำ Short Selling ได้..หนีไม่พ้นนักลงทุนสถาบัน หรือกลุ่มนักลงทุนรายใหญ่เพียงเท่านั้น..ส่วนนักลงทุนรายย่อยเอง ก็ไม่มีกำลังวังชาหรือเผชิญความเสี่ยงที่จะทำ Short Sell เพื่อทำกำไรช่วงตลาดขาลงได้..!

นั่นจึงทำให้ “โอกาสเป็นของสถาบันและรายใหญ่” แต่ทว่า “บรรดารายย่อย” อาจต้องไปรองรับความเสี่ยงด้วย..เพราะเมื่อทำ Short Selling ราคาหุ้นก็ร่วง..สถาบันก็เข้าซื้อได้กำไรส่วนต่าง ๆ ไป แต่รายย่อยก็พอร์ตแดงกันไป..!! 

หรือเรียกว่า “เนื้อไม่ได้กิน หนังไม่ได้รองนั่ง เอากระดูกไปแขวนคอ” ก็คงจะไม่ผิดความหมายกระมัง..!?

จึงกลับไปที่ถ้อยวลีแถลงจากประธาน FSC ที่ระบุว่า “เพื่อสร้างความเท่าเทียมระหว่างนักลงทุนรายย่อย และนักลงทุนสถาบัน” จึงเป็นคีย์เวิร์ดสำคัญที่ตลาดหุ้นไทย อาจต้องมาถอดบทเรียนเช่นกันว่า กฎเกณฑ์กติกาที่ว่าด้วยการทำ Short Selling ที่เป็นอยู่นี้..มันเป็นการ “ซ้ำเติมตลาด” หรือสร้างความเหลื่อมล้ำระหว่างสถาบันและรายใหญ่กับรายย่อยหรือไม่..?

หรือว่ากติกามันดีอยู่แล้ว แต่มันดันมีบางกลุ่มอาศัยช่องว่างหรือหาช่องแสวงหาผลประโยชน์ ด้วยการ “แหกคอก” กันไปเอง.!?

เรื่องนี้หน่วยงานกำกับหรือผู้คุมกฎต่าง ๆ..ต้องทำเรื่องนี้ให้กระจ่างมิเช่นนั้น การทำ Short Selling ไม่เพียงจะเป็นคุณูปการ หากแต่จะกลายเป็นตราบาปของตลาดหุ้นไทยไปซะฉิบ..!!!

Back to top button