พาราสาวะถี
ตีปี๊บกันอึกทึกครึกโครม กับการเตรียมปรับขึ้นเงินเดือนข้าราชการ และการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ
ตีปี๊บกันอึกทึกครึกโครม กับการเตรียมปรับขึ้นเงินเดือนข้าราชการ และการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ แน่นอนว่า ในส่วนของข้าราชการ เจ้าหน้าที่รัฐ หรือพนักงานบริษัท ย่อมอยากจะได้ให้ขยับขึ้นเพื่อสอดรับกับค่าครองชีพที่ถีบตัวขึ้นไปสูงหลายเท่าตัวก่อนหน้านี้ แต่กรณีที่มีการปรับขึ้นกันสองขาแบบนี้ อย่าลืมว่า พวกพ่อค้าแม่ขาย นักลงทุนหน้าเลือด ทันทีที่มีการประกาศว่าจะขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ และเงินเดือนข้าราชการ ราคาข้าวของต่าง ๆ จะปรับขึ้นไปรอแล้ว
ฟังจากปากของ กฤษฎา จีนะวิจารณะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง บอกแนวคิดการขึ้นเงินเดือนข้าราชการไม่ได้มุ่งเน้นไปที่การกระตุ้นเศรษฐกิจ มันก็ใช่ เพราะไม่ว่าจะมีการปรับไปชนเพดานตามนโยบายของเพื่อไทยที่ประกาศไว้ว่าจบปริญญาตรีสตาร์ตที่ 25,000 บาท หากราคาสินค้าแพงตามก็เปล่าประโยชน์ ไม่ว่าจะข้าราชการหรือมนุษย์เงินเดือนก็ไม่อยากควักกระเป๋าจ่ายอยู่ดี ไม่ได้หมายความว่าได้มากแล้วจะใช้มาก เพราะภาระต้นทุนชีวิตที่เพิ่มขึ้น จึงต้องใช้จ่ายกันอย่างระมัดระวัง
ดังนั้น จึงเป็นเรื่องที่ทั้งคณะกรรมการไตรภาคีในส่วนของภาคเอกชน และคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน หรือ ก.พ. จะต้องพิจารณากันอย่างรอบด้าน ถามว่าจำเป็นต้องปรับขึ้นหรือไม่ จำเป็นอยู่แล้ว แต่จะทำอย่างไรที่จะต้องให้กระทรวง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง สามารถเข้าไปกำกับ ดูแล ควบคุมไม่ให้มีการขึ้นราคาสินค้า เป็นการขูดรีดกับมนุษย์เงินเดือนทั้งข้าราชการและพนักงานบริษัท หากไม่มีมาตรการรองรับอย่างเข้มงวด การได้เงินเพิ่มขึ้นก็ไม่มีความหมาย
มาตรการกระตุ้นสำคัญที่รัฐบาลจะเดินหน้า ประชาชนรอฟังถ้อยแถลงจาก เศรษฐา ทวีสิน ในวันพรุ่งนี้ก็คือ นโยบายดิจิทัลวอลเล็ต เป็นอันว่ามีบทสรุปที่ชัดเจนแน่นอน เพราะในการประชุม สส.ของพรรคเพื่อไทยเมื่อวันอังคารที่ผ่านมา ทั้ง แพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าพรรค และเศรษฐาต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันเรียกร้องให้ สส.ของพรรคช่วยสื่อสารข้อความสำคัญของพรรคและรัฐบาล ได้ทำอะไรไปแล้วบ้างกับประชาชน ให้ช่วยกันโปรโมตในโซเชียล เปิดการรับรู้ให้มากขึ้น คิดว่าเป็นเรื่องที่ดี ประชาชนน่าจะมีความสุข
ขณะที่ จุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยคลัง หลังจากถูกตั้งคำถามเรื่องศักยภาพในการทำงานต่อการขับเคลื่อนนโยบายสำคัญนี้ ปฏิเสธที่จะตอบคำถามใด ๆ ของนักข่าว ย้ำเพียงให้รอการแถลงและฟังจากปากของเศรษฐาให้ละเอียด เพื่อไม่ให้เกิดความสับสน อย่างไรก็ตาม ในกระบวนการดำเนินงานนั้น เพื่อไทยก็ยังคงไว้วางใจให้จุลพันธ์เป็นแม่งานในการดูแลเรื่องนี้ โดยที่เศรษฐาเองก็ย้ำทั้งต่อสาธารณะและภายในพรรค เมื่อเลือกคนให้เข้ามาทำงานแล้ว ก็ต้องไว้วางใจและเชื่อมั่น ช่วยกันทำให้เต็มที่
ทั้งนี้ ก่อนที่จะมีการแถลงข่าวนั้น จะมีการประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนนโยบายดิจิทัลวอลเล็ตชุดใหญ่ที่มีเศรษฐานั่งหัวโต๊ะ เพื่อทบทวนทุกอย่างให้รอบคอบ รัดกุมอีกครั้ง ซึ่งน่าสนใจว่า นอกเหนือจากแนวทางเดิมที่แจกแบบถ้วนหน้าสำหรับคนไทยที่มีอายุตั้งแต่ 16 ปีขึ้นไป จำนวน 56 ล้านคน ใช้งบประมาณในการดำเนินการ 560,000 ล้านบาทแล้ว จะมีแนวทางอื่นเป็นทางเลือกหรือไม่ ซึ่งตามที่ปรากฏเป็นข่าวจะมีอยู่ 3 แนวทาง
ประกอบด้วย ให้เฉพาะกลุ่มที่เคยลงทะเบียนคนจนจำนวน 15-16 ล้านคน ใช้งบประมาณ 150,000-160,000 ล้านบาท กลุ่มที่มีรายได้ไม่เกิน 25,000 บาทต่อเดือน จำนวน 43 ล้านคน และมีเงินฝากในบัญชีไม่เกิน 1 แสนบาท ใช้งบประมาณ 430,000 ล้านบาท และกลุ่มที่มีรายได้ไม่เกิน 50,000 บาทต่อเดือน จำนวน 49 ล้านคน และมีเงินฝากในบัญชีไม่เกิน 5 แสนบาท ใช้งบประมาณ 490,000 ล้านบาท ตัวชี้วัดสำคัญในการเลือกนั้น อยู่ที่งบประมาณที่จะดำเนินการ หากใช้งบผูกพันตามงบปกติ ตรงนี้ทำให้รัฐบาลสามารถอธิบายได้ต่อกระบวนการจัดสรรงบประมาณ จึงอาจจะเลือกแนวทางแจกถ้วนหน้า
ขณะเดียวกัน เรื่องเงื่อนไขของโครงการตามนโยบายเพื่อไทยที่จะให้ใช้ในรัศมี 4 กิโลเมตรนั้น มีการปรับเป็นใช้ภายในอำเภอหรือเขต ตามทะเบียนบ้านที่มีชื่อผู้ได้รับสิทธิ และจะมีการจำกัดการใช้จ่ายครอบคลุมสินค้าบริการประเภทใดบ้าง รวมไปถึงกรณีแอปพลิเคชันที่จะใช้ดำเนินการ ตามที่เศรษฐาให้สัมภาษณ์ไว้แอปเป๋าตังจะเข้ามามีส่วนร่วมด้วย จะเป็นการใช้แอปดังกล่าวทั้งหมด หรือใช้ส่วนอื่นร่วมด้วย ทั้งหมดก็จะมีความชัดเจนในคราวเดียว
อย่างไรก็ตาม ก่อนที่จะมีการแถลงเรื่องดิจิทัลวอลเล็ตนั้น เวลาทุ่มตรงของวันนี้ (9 พฤศจิกายน) เศรษฐาจะออกรายการพิเศษ “Chance of Possibility จากนโยบายสู่การลงมือทำจริง 60 วัน ภายใต้รัฐบาลนายกเศรษฐา ทวีสิน” ทางสถานีโทรทัศน์ NBT2HD, NBT 11 ทางออนไลน์ Facebook และ YouTube ของทีวีทั้งสองช่องรวมถึงเฟซบุ๊กส่วนตัวของเศรษฐาที่ชื่อว่า Srettha Thavisin ด้วย เป็นการชี้แจง แสดงผลงานการทำงานในรอบสองเดือนที่ผ่านมาของรัฐบาล
โดยเศรษฐาได้ฉายหนังตัวอย่างไว้ว่า จะบอกเล่าตลอดช่วง 60 วันที่ผ่านมาของรัฐบาลภายใต้การนำของตนได้ทำอะไรไปบ้าง และเป็นประโยชน์ต่อประชาชนอย่างไร รวมถึงอยากแชร์ความคืบหน้าและความท้าทายในการแก้ไขปัญหาเร่งด่วนให้กับคนไทยผ่านนโยบายของรัฐบาลทั้งระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว ที่เน้นควิกวิน 3 ประการ คือ ลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ และขยายโอกาส ซึ่งมีหัวใจหลักของการทำงานคือ พยายามกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งใหญ่ เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ และยกระดับชีวิตของประชาชนให้ดียิ่งขึ้น
วิธีการทำงานเช่นนี้ของเศรษฐา สอดรับกับแนวทางการขยับตัวของพรรคเพื่อไทยที่แพทองธารเข้ามากุมบังเหียน โดยทีมบริหารพรรคต่างเชื่อมั่นว่า หากสามารถขับเคลื่อนนโยบายได้ตามเป้าหมายที่วางไว้ จะสามารถเรียกความเชื่อมั่นจากประชาชนกลับคืนมาได้ในระดับหนึ่ง ส่วนการเพลี่ยงพล้ำทางการเมืองของก้าวไกลจากปมความประพฤติส่วนตัวของ สส.นั้น จะไม่มีการซ้ำเติมหรือถือโอกาสสร้างความได้เปรียบเด็ดขาด เนื่องจากทีมกุนซือของพรรคนายใหญ่ต่างตระหนักดีว่า การเมืองรูปแบบใหม่ต้องเป็นไปในทางสร้างสรรค์เท่านั้น โดยคนรุ่นใหม่ของพรรคก็จะทำหน้าที่ขับเน้นแนวทางนี้ให้เป็นที่ยอมรับ