ภาษาวิบัติของก.ล.ต.ขี่พายุ ทะลุฟ้า
เฮ้อ! เหนื่อย เหนื่อยทุกครั้งแหละครับ ที่ต้องมานั่งอ่านสาส์นของคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ หรือก.ล.ต. ซึ่งก็เป็นเช่นเดียวกับสาส์นจากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย หรือตลท.ด้วยล่ะ
เฮ้อ! เหนื่อย เหนื่อยทุกครั้งแหละครับ ที่ต้องมานั่งอ่านสาส์นของคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ หรือก.ล.ต. ซึ่งก็เป็นเช่นเดียวกับสาส์นจากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย หรือตลท.ด้วยล่ะ
มันมีลักษณะเป็นภาษากฎหมาย และหลีกเลี่ยงการบอกกล่าวรายละเอียดที่เป็นรูปธรรม รวมทั้งไม่สนใจจะตอบปัญหาให้ตรงประเด็นด้วย
พูดง่ายๆ ต้องแปลไทยเป็นไทยทุกครั้ง และต้องใช้เวลาพินิจอักษรนานมาก ถึงจะเข้าใจ
เมื่อวันพุธที่13 ธ.ค.ที่ผ่านมา มีหมายแถลงข่าวด่วนจากก.ล.ต. นัดหมายเชิญออกมาราวเที่ยงวัน นัดหมายแถลงข่าวตอน 5 โมงเย็น
ข่าวลือสะพัดว่อน มันจะเป็นเรื่องอะไรหนอ
ลือกันหนักว่าเป็นเรื่องหุ้น TRUE ปั่นราคา บ้างก็ว่าเป็นเรื่องอินไซเดอร์ เทรดดิ้งของ CPALL รอบ 2 และบ้างก็ว่าอาจจะเป็นเรื่องสรุปผลหุ้นเนชั่น กรณีกีดกันผู้ถือหุ้น หรือจะสรุปผลเอาเรื่องผู้อาจหาญไปซื้อหุ้นเนชั่น
แต่ที่ไหนได้ กลายเป็นสรุปคดีโอนหุ้นเสี่ยชูวงษ์ซะฉิบ
สรุปก.ล.ต.ลงโทษบล.เออีซี ผู้บริหาร และผู้แนะนำลงทุนครับ แต่เอกสารที่ใช้ประกอบการแถลงข่าวนี่สิ ยังคงเป็นภาษาที่ค่อนข้างจะทำความเข้าใจได้ยากเหลือหลาย (เหมือนเดิม)
“กรณีการโอนหุ้นที่ปรากฏเป็นข่าว ก.ล.ต.พบว่า ผู้แนะนำการลงทุนรายน.ส.อุรชา จัดการโอนหุ้นในบัญชีของลูกค้ารายหนึ่งเข้าบัญชีของมารดาตนเอง โดยได้รับประโยชน์จากการรับโอนหุ้นดังกล่าวผ่านการเตรียมการไว้อย่างเป็นขั้นตอน/
ตั้งแต่การเปิดบัญชีของมารดาโดยไม่เปิดเผยความสัมพันธ์ให้บริษัททราบ จัดการเกี่ยวกับการโอนหุ้นโดยไม่ได้มีหน้าที่เกี่ยวข้องโดยตรง และไม่ได้เป็นผู้แนะนำการลงทุนที่ดูแลบัญชีลูกค้าดังกล่าว/
จัดการให้ฝ่ายปฏิบัติการของบริษัทยืนยันการโอนหุ้นกับบุคคลที่น่าเชื่อว่า ไม่ใช่ลูกค้าเจ้าของบัญชี และดำเนินการเพื่อให้เพิ่มหมายเลขโทรศัพท์เข้าไปไนระบบข้อมูลของลูกค้า/
ซึ่งไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าลูกค้าได้แจ้งกับผู้แนะนำการลงทุนที่ดูแลบัญชีเพื่อขอเพิ่มหมายเลขโทรศัพท์ดังกล่าวในระบบของบริษัท เพื่อให้การโอนหุ้นสำเร็จ”
เหนื่อยไหมล่ะครับท่านผู้อ่าน นี่ผมต้องแยกแยะข้อความออกจากกลุ่มตัวหนังสือดำพรืด มาใส่ย่อหน้าเป็น 4 ย่อหน้า เพื่อให้ง่ายลงมาชั้นหนึ่งในการพินิจตัวอักษร
ใจความที่จะพูดให้คนฟังรู้เรื่องง่ายก็คือ น.ส.อุรชาเป็นมาร์เก็ตติ้ง จัดการโอนหุ้นนายชูวงษ์เข้าในบัญชีมารดาตนเองโดยมิชอบ
ย่อหน้าที่ 3 น่าสนใจมาก อุรชาใช้ไหว้วานหัวหน้าของตนให้รับคำสั่งโอนหุ้นไปจากบัญชีนายชูวงษ์ โดยผู้สั่งเป็นบุคคลอื่นที่ไม่น่าเชื่อว่าเป็นนายชูวงษ์ แถมยังมีการเพิ่มเติมหมายเลขโทรศัพท์ติดต่อเข้าไปในระบบข้อมูลนายชูวงษ์อีก
มันน่าสนใจตรง ”บุคคลอื่น” ที่ไม่ใช่ชูวงษ์สั่งโอนหุ้น ก.ล.ต.ก็น่าจะมีข้อมูลเพียงพอแล้วว่า ไม่ใช่เสียงชูวงษ์ แต่จะเป็นใครนี่สิ ก็อยู่ในวิสัยจะสืบสาวราวเรื่องต่อไปได้
ปัญหาก็คือ ก.ล.ต.อาจจะอ้างว่า หน้าที่ตนหมดแค่นั้นแล้ว การสืบสาวราวเรื่องต่อไปเป็นหน้าที่ของฝ่ายอื่น ก็ยังคงทิ้งเป็นปริศนาว่า ก.ล.ต.ส่งมอบหลักฐานชิ้นนี้ไปให้ตำรวจเค้นต่อหรือเปล่า
รวมทั้งหมายเลขโทรศัพท์ที่เพิ่มเติมเข้าไปในระบบข้อมูลลูกค้านั้นด้วย มันเป็นเบอร์โทรศัพท์ของใคร ใช่เบอร์ที่เกี่ยวข้องกับบุคคลที่ต้องสงสัยของสังคมด้วยหรือไม่
การใช้ภาษาที่ยากต่อการทำความเข้าใจก็เรื่องหนึ่ง พอทำความเข้าใจได้ในระดับหนึ่งว่า เจ้าหน้าที่ก.ล.ต.ต้องใช้ความระมัดระวัง มิให้ฝ่ายถูกกล่าวหาหรือกล่าวโทษฟ้องกลับเอาได้
แต่ในอีกด้านหนึ่ง มันก็ได้ละเลยรายละเอียดอันเป็นรูปธรรม ที่จะทำให้สามารถปะติดปะต่อเรื่องได้โดยไม่ซับซ้อนมากนัก หรือต้องนำเอาถ้อยคำไปนั่งมโนนึกตีความเอาเอง ผิดบ้างถูกบ้างก็แล้วแต่ล่ะ
คดีความหลายต่อหลายคดีของก.ล.ต. ถึงไม่ค่อยมีใครจดจำได้มากนัก
ความคิดจะให้กรณีการกล่าวโทษหรือลงโทษเป็นอุทาหรณ์ เพื่อผู้คนจะได้ไม่ประพฤติผิดหรือหวาดกลัว จึงไม่สู้จะได้ผล
นอกจากการใช้ภาษาที่ยากต่อการทำความเข้าใจ แล้วยังมีลักษณะปกปิดข้อเท็จจริงบางอย่าง ซึ่งอาจจะไม่เจตนาอีกด้วย