Naked Short Selling

นับจากช่วงต้นปีมาจนถึงขณะนี้ ช่วงที่ตลาดหุ้นไทยปรับลงมาต่อเนื่อง มีการกล่าวถึงเรื่อง Naked Short Selling กันค่อนข้างมาก


นับจากช่วงต้นปีมาจนถึงขณะนี้

ช่วงที่ตลาดหุ้นไทยปรับลงมาต่อเนื่อง

มีการกล่าวถึงเรื่อง Naked Short Selling กันค่อนข้างมาก

ในด้านของนักลงทุนต่างมั่นใจว่า หุ้นไทยกำลังเผชิญกับปัญหานักลงทุน (ต่างชาติ) ทำเรื่อง Naked Short Selling อันเป็นเรื่องต้องห้ามสำหรับตลาดหุ้นไทย

โดยเฉพาะกับหุ้นตัวใหญ่ หรือบิ๊กแคป

ส่วนหน่วยงานกำกับทั้งสำนักงาน ก.ล.ต. และตลาดหลักทรัพย์ฯ

ต่างโต้แย้งว่า เป็นเพียง “ความเชื่อ” เท่านั้น

พร้อมกับบอกว่า หุ้นไทยที่ปรับลงมาจากการร่วงลงตามตลาดหุ้นในต่างประเทศ และปัจจัยอื่น ๆ

ประเด็นนี้ส่งผลเมื่อวานนี้ “เศรษฐา ทวีสิน” นายกรัฐมนตรี ตั้ง “กิตติรัตน์ ณ ระนอง” เข้าไปหารือกับ ผู้บริหารทั้งของสำนักงาน ก.ล.ต. และตลาดหลักทรัพย์ฯ

ประเด็นสำคัญคือเรื่องหุ้นไทยนี่แหละ

ในประเด็นเรื่อง Naked Short Selling สำหรับ กิตติรัตน์ นั้น

เขาก็ตอบแบบไม่ 100% เท่าไหร่นักว่า จริง ๆ แล้ว มีการทำกันหรือไม่

ทว่า ทางสำนักงาน ก.ล.ต. ยังคงยืนยันว่า “ไม่มี”

แต่ก็จะพยายามเพิ่มความเข้มงวดในการป้องกันธุรกรรม Naked Short Selling

แล้ว Naked Short Selling คืออะไร?

เรื่องนี้ มีข้อมูลจาก Thaiwarrant เขียนเกี่ยวกับเรื่องนี้ไว้

โดยมีการระบุ ด้วยการย้ำว่า  Naked Short Selling ในประเทศไทยนั้นขัดกับหลักเกณฑ์ การ Short Selling ของ ตลท.

และไม่อนุญาตให้ทำได้ Naked Short Selling คือ “การขายหุ้นออกไปโดยที่นักลงทุนรายนั้นไม่ได้ถือหุ้นอยู่จริง” พร้อมกับคาดหวังว่าจะซื้อหุ้นตัวนั้นคืนได้เมื่อราคาหุ้นปรับตัวลง

จากตรงนี้นักลงทุนรายย่อยทั่ว ๆ ไปนั้นไม่สามารถทำ Naked Short Selling ได้แน่ ๆ

นั่นเพราะปกติแล้วระบบซื้อขายหุ้นของโบรกฯ จะ Lock ไว้ไม่ให้ขายหากเราไม่มีหุ้นตัวนั้น

นักลงทุนที่มีโอกาสทำแบบนี้ได้ต้องเป็นนักลงทุนกลุ่มที่ระบบไม่ได้มีการ Lock หรือตรวจสอบหุ้นก่อนขาย

เพราะใช้ Custodian (บุคคลอื่นภายนอกโบรกฯ) ในการส่งมอบหุ้นในภายหลังที่ขายไป (T+2)

ซึ่งเป็นเรื่องที่ยากต่อการตรวจเช็กของโบรกฯ และ “หน่วยงานที่กำกับดูแล”

มาถึงคำถามที่ว่า แล้วทำไม Naked Short Selling อาจจะมีผลกระทบกับราคาหุ้นได้?

ประเด็นนี้มีคำอธิบายเพิ่มว่า ปกติการขาย “ชอร์ตหุ้น” ภายใต้เกณฑ์กำกับในแต่ละประเทศนั้น

เขาจะมีเกณฑ์เรื่องของราคาหุ้นที่ส่งคำสั่งขายชอร์ตหุ้นไว้เพื่อป้องกันผลกระทบกับราคาหุ้น เช่น ในประเทศไทย ตลท.กำหนดให้ขายชอร์ตได้แค่ที่ราคาล่าสุดเท่านั้น

หรือที่เรียกว่า Zero Plus Tick Rule ทำให้ไม่สามารถโยนขายหุ้นในหลาย ๆ ช่องที่ต่ำกว่าราคาล่าสุดได้

และ Naked Short Selling จะไม่ผ่านการตรวจสอบตรงนี้ ทำให้สามารถโยนขายหุ้นที่ราคาต่ำกว่าราคาล่าสุดได้

Naked Short Selling จะกระทำโดยนักลงทุนที่ใช้ Custodian ซึ่งมักจะมีวงเงินในการซื้อขายหุ้นขนาดใหญ่ ทำให้การขายหุ้นอย่างรุนแรงอาจส่งผลกระทบต่อราคาหุ้นได้

มาดูกลยุทธ์ของ Naked Short Selling กัน

โดยความเสี่ยงของผู้ที่ Naked Short Selling คือถ้าขายไปแล้วต้องรีบซื้อคืนภายในวัน (กรณีที่ไปหายืมมาส่งมอบไม่ได้)

เพราะถ้าไม่รีบซื้อคืนก็จะไม่มีหุ้นไปให้ Custodian ของตัวเองใช้ในการส่งมอบ

พอเงื่อนไขว่าต้องรีบซื้อคืนภายในวันทำให้ ผู้ที่ Naked Short Selling จึงต้องวางกลยุทธ์ดี ๆ

และมีเงื่อนไขว่าต้องชื้อคืนหุ้นได้ที่ราคาถูกกว่าที่ขายไป

ส่วนการขายชอร์ตไปมาก ๆ ก็ต้องรีบซื้อคืนมาก ๆ

ดังนั้น หุ้นที่อาจไม่น่าจะใช่เป้าหมายหลัก คือหุ้นที่พื้นฐานดี ๆ ขนาดใหญ่ที่ราคาปรับตัวลงแรง ๆ จะมีกองทุน นักลงทุนรายย่อยเข้าไปช้อนซื้อ เพราะไม่งั้นคนขายชอร์ตอาจจบลงที่ไปแย่งซื้อหุ้นคืนกลับรายใหญ่อื่น ๆ และกระทบกับราคาหุ้นได้

เป้าหมายที่น่าสนใจ จึงควรเป็นหุ้นที่ถ้าราคาปรับตัวลงแรง ๆ แล้วจะมีนักลงทุรายย่อยขายตามออกมามากกว่า

เช่น หุ้นที่กำลังอยู่ในกระแสข่าวเชิงลบ หุ้นขนาดกลางถึงเล็กที่กองทุนใหญ่ไม่มีนโยบายลงทุน

Naked Short Selling นั้นเป็นกลยุทธ์เกิดขึ้นจริงและมีหลายกรณีศึกษาในตลาดหุ้นต่างประเทศขนาดใหญ่

สำหรับในประเทศไทย เป็นเรื่องที่ขัดกับเกณฑ์และไม่อนุญาตให้ทำ

แต่เป็นเรื่องที่ดีและควรจะเข้มงวด เพราะส่งผลกระทบกับนักลงทุนรายย่อย ซึ่งเป็นสัดส่วนใหญ่สุดในตลาดหุ้นไทย

Back to top button