พาราสาวะถี

วันนี้ พรรคก้าวไกลต้องลุ้นผลการวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในกรณีที่ ธีรยุทธ สุวรรณเกษร ยื่นขอให้พิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญมาตรา 49


วันนี้ (15 พฤศจิกายน) พรรคก้าวไกลต้องลุ้นผลการวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในกรณีที่ ธีรยุทธ สุวรรณเกษร อดีตทนายความพุทธะอิสระ ยื่นขอให้พิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญมาตรา 49 ว่า การกระทำของ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล และพรรคก้าวไกล ที่เสนอร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่…) พ.ศ… เพื่อยกเลิกประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 โดยใช้เป็นนโยบายในการหาเสียงเลือกตั้ง และยังคงดำเนินการอย่างต่อเนื่อง เป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญมาตรา 49 วรรคหนึ่ง หรือไม่

ความหวั่นไหวของคนในพรรคแกนนำฝ่ายค้านสะท้อนผ่านคำสัมภาษณ์ของ ศิริกัญญา ตันสกุล สส.บัญชีรายชื่อ และรองหัวหน้าพรรคก้าวไกล ว่า “ลุ้นมาก” ขอให้แคล้วคลาดปลอดภัย ก้าวไกลเจอมาเยอะเกี่ยวกับการตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญ ไม่อยากให้รัฐบาลนี้ต้องมาเจออะไรแบบนี้เช่นเดียวกัน ถ้าจะให้มีการยกเลิก หรือล้มเลิกอะไรก็คงให้เป็นไปตามกระบวนการประชาธิปไตย อย่าเอากลไกข้างนอกแบบนี้มาใช้ ไม่ควรมีองค์กรอิสระองค์กรไหนก็ตามที่เข้ามามีส่วนร่วมในการตัดสินใจเรื่องของนโยบายหาเสียง

เหตุที่ต้องออกอาการเช่นนี้ เพราะหากศาลรัฐธรรมนูญชี้ว่ามีความผิดจริง โทษคือยุบพรรค นั่นหมายความว่า ศิริกัญญาจะโดนตัดสิทธิทางการเมืองไปด้วย ทั้งในฐานะกรรมการบริหารพรรค ที่สำคัญคือ เป็นผู้ที่ลงนามสนับสนุนนโยบายนี้ และไม่เพียงแต่ผู้บริหาร สส.และสมาชิกพรรคปัจจุบันที่จะโดนหางเลข สส.ของพรรคก่อนหน้านั้นก็อาจจะถูกหางเลขไปด้วย หากเป็นเช่นนั้นจริงมันหมายถึงอนาคตของพรรคการเมืองนี้ เพราะตัวเลือกที่เป็นตัวชูโรง จนนำไปสู่ชัยชนะในการเลือกตั้ง จะไม่เหลือใคร คนใหม่ที่จะขึ้นมาไม่น่าจะฉายแสงเป็นที่ถูกตาต้องใจได้เหมือนตัวเลือกปัจจุบัน

ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาในเนื้อหาคำร้องที่อดีตทนายความพุทธะอิสระยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญแล้ว จะพบว่ามีการอ้างถึงบรรทัดฐานจากคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 19/2564 ในคดีที่ ณฐพร โตประยูร ยื่นร้องกรณีการชุมนุมของคนรุ่นใหม่มีข้อเรียกร้องปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ 10 ข้อ เผยแพร่สู่สาธารณะ หรือ “คดีทะลุเพดาน” ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่า ข้อเรียกร้องปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ 10 ข้อ บนเวทีการชุมนุมของกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2563 กระทบต่อสถานะของสถาบันกษัตริย์

ศาลรัฐธรรมนูญชี้ว่า การใช้สิทธิหรือเสรีภาพของผู้ถูกร้องที่ 1 นายอานนท์ นำภา ที่ 2 นายภาณุพงศ์ จาดนอก และที่ 3 นางสาวปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล เป็นการแสดงความคิดเห็นโดยไม่สุจริต เป็นการละเมิดกฎหมาย มีมูลเหตุจูงใจเพื่อล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 วรรคหนึ่ง จึงมีคำสั่งให้ผู้ถูกร้องทั้ง 3 รวมทั้งกลุ่มองค์กรเครือข่ายเลิกกระทำการดังกล่าวที่จะเกิดขึ้นต่อไปในอนาคต

เป็นที่ทราบกันดีว่า 1 ใน 10 ข้อเรียกร้องของกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุมคือ ให้ยกเลิกประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 รวมถึงเปิดให้ประชาชนได้ใช้เสรีภาพแสดงความคิดเห็นต่อสถาบันกษัตริย์ได้ และนิรโทษกรรมผู้ถูกดำเนินคดีเพราะวิพากษ์วิจารณ์สถาบันกษัตริย์ทุกคน ซึ่งผลจากคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ หากนำมาเทียบเคียงกับสิ่งที่ก้าวไกลถูกยื่นร้อง ก็มีมุมที่ชวนให้คิดอยู่ไม่น้อยว่ามันจะเข้าข่ายเป็นความผิดหรือไม่

ในมุมของธีรยุทธผู้ยื่นร้อง มองว่า การใช้สิทธิหรือเสรีภาพเรียกร้องเพื่อให้มีการยกเลิกหรือแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ซึ่งเป็นกฎหมายที่บัญญัติขึ้นห้ามผู้ใดล่วงละเมิด หมิ่นประมาท หมิ่นพระบรมเดชานุภาพสถาบันพระมหากษัตริย์ เป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพที่เกินความพอเหมาะพอควร มีผลทำให้กระทบกระเทือนหรือเป็นอันตรายต่อความมั่นคงของรัฐ ความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน และจะนำไปสู่การบ่อนทำลายการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขในที่สุด

ดังนั้น การขับเคลื่อนของพิธาและพรรคก้าวไกล เมื่อเทียบเคียงกับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญดังกล่าว จึงถูกมองว่าอาจเข้าลักษณะองค์ประกอบความผิด เพราะถือว่า การกระทำใด ๆ ที่มีเจตนาเพื่อทำลายหรือทำให้สถาบันพระมหากษัตริย์ต้องสิ้นสลายไป ไม่ว่าจะโดยวิธีการพูด การเขียน หรือการกระทำต่าง ๆ เพื่อให้เกิดผลเป็นการบ่อนทำลาย ด้อยคุณค่า หรือทำให้อ่อนแอลง ย่อมแสดงให้เห็นถึงการมีเจตนาเพื่อล้มล้างสถาบันพระมหากษัตริย์

เรียกได้ว่าเป็นชะตากรรมของพิธาและก้าวไกลที่ต้องเผชิญ หากคดีนี้ถูกปิดเกม อีกคดีที่เหลือของพิธากรณีถือหุ้นไอทีวีแทบจะไม่มีความหมายอะไร แม้ว่าจะมีการยกคำร้องก็ตาม เพราะความผิดหากถูกตัดสินในคดี 112 ไปแล้ว มันหมายถึง การเว้นวรรคและพรรคยาวเหมือนที่ ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ และอดีตกรรมการบริหารพรรคอนาคตใหม่เคยได้รับไปก่อนหน้า หากเป็นเช่นนั้น ก็น่าสนใจต่อแรงกระเพื่อมทางการเมืองในแง่จำนวนของ สส.ที่จะต้องมีการเปลี่ยนแปลง ปรากฏการณ์ผึ้งแตกรังจะเกิดขึ้นอีกครั้ง บรรดาพรรคร่วมรัฐบาลทั้งหลายคงลูบปากรอ ยังไงก็ต้องมีพวกที่ไม่ไปต่อกับพรรคที่ตั้งไว้รอแน่นอน

หากมีการปิดเกมพรรคก้าวไกลจริง อีกสิ่งหนึ่งที่ต้องติดตามคือ พรรคแกนนำรัฐบาลอย่างเพื่อไทยจะมีเหตุให้ต้องเผชิญชะตากรรมในรูปแบบเดียวกันหรือไม่ ถ้าพิจารณาจากขบวนการต้องการล้มต้องยอมรับว่ามีความพยายามเช่นนั้นจริง ไม่ใช่แค่ล้มพรรคแกนนำแต่เป็นการล้มกระดานรัฐนาวาทั้งคณะเลยทีเดียว เพียงแต่ว่า ด้วยสถานการณ์ของบ้านเมืองที่บอบช้ำมาเกือบ 10 ปี ไม่มีการปฏิรูปใด ๆ ตามข้ออ้างของเผด็จการ คสช. ประเทศชาติไร้การพัฒนา โดยเฉพาะปัญหาเศรษฐกิจมีแต่สาละวันเตี้ยลง

นั่นจึงเป็นเหตุให้แรงหนุนของพวกอนุรักษนิยมสุดโต่งที่เคยล้มรัฐบาลจากการเลือกตั้งมาแล้วสองหนซ้อนในช่วงระยะห่างกันแค่ 8 ปี ไม่ขอร่วมสังฆกรรมกับกลุ่มเคลื่อนไหวอีก ขณะที่ฝ่ายเพื่อไทยผลจากการถูกกระทำมาในอดีต ทำให้รู้ทันเล่ห์เหลี่ยมของคนพวกนั้นเป็นอย่างดี จึงมีการเร่งกระชับอำนาจ และจัดการพวกที่ยังคงเล่นไม่เลิก โดยมีแนวโน้มว่าจะเอาอยู่และน่าจะสบายใจหายห่วงได้ โดยที่มีแรงหนุนอีกด้านที่ถือเป็นเกราะป้องกันชั้นยอด

Back to top button