สองเจ้าสัวกับ มาร์แชล แมกลูฮัน

มาร์แชล แมกลูฮัน เมื่อ 60 ปีก่อน ได้รับการยืนยันเมื่อโลกย่างเข้าสู่ศตวรรษที่ 21 ที่บอกว่า “ตัวสื่อนั่นแหละคือข่าวสารที่ดีที่สุด”


ข้อเสนอทางปรัชญาของนักคิดทางด้านการสื่อสารชื่อดังชาวแคนาดา มาร์แชล แมกลูฮัน เมื่อ 60 ปีก่อน ได้รับการยืนยันเมื่อโลกย่างเข้าสู่ศตวรรษที่ 21 ที่บอกว่า ตัวสื่อนั่นแหละคือข่าวสารที่ดีที่สุด หรือ media is the message

คำอธิบายเพิ่มเติมคือช่องทาง และรูปแบบการนำเสนอของสื่อนั่นแหละคือตัวการหลักที่ชี้นำเนื้อหาสาระของข้อมูลข่าวสารหรือพูดง่าย ๆ คือ ตัวสื่อนั้นกำหนดทิศทางของข่าวสาร

การปฏิวัติของธุรกรรมในระบบโทรคมนาคมที่มาพร้อมกับเทคโนโลยีดิจิทัลคือการถือกำเนิดขึ้นของเครือข่ายสังคมออนไลน์ที่หลากหลายและทำให้เกิดเป็นกระบวนการทั้งการทำลายล้างและการสร้างสรรค์โอกาสทางธุุรกิจใหม่ ๆ ที่คาดไม่ถึง

ธุรกิจสื่อสารมวลชนแบบเดิมต้องปรับทิศทางใหม่ เช่น การล้มหายของนิตยสารรายสัปดาห์ และรายเดือนไปจากตลาด และอิทธิพลที่ลดลงของสื่อสิ่งพิมพ์จนต้องหันไปพึ่งพารายได้จากสื่อออนไลน์

ส่วนสื่อวิทยุและโทรทัศน์ก็ถูกบังคับให้ปรับตัวอย่างรุนแรง

ท่ามกลางกระแสการเปลี่ยนแปลงเช่นนี้เราได้เห็นกลุ่มทุนค่ายสื่อใหญ่ 2 ค่ายปรากฏตัวขึ้นอย่างมีพลัง ได้แก่ค่ายของเสี่ยเจริญ สิริวัฒนภักดี และค่ายซีพีของเจ้าสัวธนินท์ เจียรวนนท์

ค่ายเสี่ยเจริญนั้นเข้าสู่วงการสื่ออย่างเงียบ ๆ โดยการเข้าซื้อกิจการของร้านหนังสือและสำนักพิมพ์สุริวงศ์บุ๊คเซ็นเตอร์ที่เชียงใหม่ของกลุ่มจิตติเดชารักษ์ที่ประสบปัญหาทางด้านการเงินด้วยคำขอร้องของผู้ยิ่งใหญ่บางคนในสังคมไทยก่อนที่จะมาได้รับการขอร้องจากคนกลุ่มเดียวกันให้เข้ามาโอบอุ้มบริษัท อมรินทร์ของตระกูลอุทกะพันธุ์ที่ประสบปัญหาขาดสภาพคล่องทางการเงินอย่างรุนแรง จนกลายเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ในกิจการอมรินทร์ทีวี นิตยสารบ้านและสวนและร้านหนังสือนายอินทร์ด้วย

โดยแรกเริ่มเข้ามานั้นอำนาจการบริหารทั้งหมดยังอยู่ในมือของสองแม่ลูกตระกูลอุทกะพันธุ์คือ นางเมตตาในฐานะประธาน และนางสาวระรินในฐานะซีอีโอ หลังจากการเข้ามาหนุนช่วยของเสี่ยเจริญผลงานของอมรินทร์ก็ดีขึ้นจนพลิกกลับมาทำกำไร และเสี่ยเจริญก็เข้ามาถือหุ้นเพิ่มมากขึ้นกว่า 75% โดยซื้อหุ้นต่อจากกลุ่มอุทกะพันธุ์ที่ขายให้จนเกือบหมด ในเดือนตุลาคม กลุ่มอุทกะพันธุ์ก็ประกาศถอนตัวไม่เกี่ยวข้องกับบริษัท อมรินทร์อย่างเป็นทางการ  และในเดือนพฤศจิกายน บริษัท อมรินทร์ได้ประกาศรายชื่อคณะกรรมการและผู้บริหารใหม่โดยมีนายสุเมธ ตันติเวชกุลเป็นประธานกรรมการบริษัท และมีนายฐาปน สิริวัฒนภักดีเป็นซีอีโอ

ส่วนค่ายทรูของซีพีนั้นนอกจากมีทรูวิชั่นส์ที่มีฐานลูกค้าแบบรับเป็นสมาชิก ยังบุกเบิกเครือข่ายออนไลน์อย่างเต็มที่โดยโครงการของทรูสปอร์ตที่มีครบทั้งเครือข่ายออนไลน์และแอปพลิเคชันใหม่ ๆ ดึงดูดใจลูกค้าที่ชื่นชอบข่าวกีฬาอย่างเหนียวแน่น พร้อมกับรายการข่าวทีวีช่องทรู 24 ได้ผลิตข่าวทั่วไปในประเทศ

ความยิ่งใหญ่ของค่ายอมรินทร์ไม่อาจปฏิเสธได้ว่ามาจากการหนุนช่วยของกลุ่มทุนใหญ่ที่มีไทยเบฟฯ-บิ๊กซีหนุนหลัง ซึ่งในความยิ่งใหญ่นี้จะเห็นได้ว่าเรื่องระยำใจของค่ายเสี่ยเจริญที่ผูกขาดตลาดเครื่องดื่มด้วยกลยุทธ์การขายพ่วงที่ไม่ปรากฏบนสื่อนี้

ส่วนค่ายทรูที่มี 7-11 และโลตัสกับแมคโครเป็นฐานคงจะมีความยิ่งใหญ่ทำนองเดียวกัน

ในความยิ่งใหญ่ของทั้งสองค่าย ทำให้ข้อเท็จจริงที่เป็นเรื่องระยำใจของทั้งสองค่ายจะไม่ปรากฏบนสื่อของทั้งสองค่ายนี้ ใครใคร่รู้เรื่องระยำใจเหล่านี้ต้องไปหาอ่านจากสื่ออื่น ๆ เอง เพราะนี้คือประเทศกูมี

Back to top button