ปตท.สู่พลังงานสะอาด
งบการเงินไตรมาส 3 ของ ปตท. หรือ PTT ออกมาแล้ว ดูดีเกินคาด! บริษัทมีกำไรสุทธิ รวมทั้งสิ้น 31,297 ล้านบาท เพิ่มขึ้นกว่า 2.2 หมื่นล้านบาท
งบการเงินไตรมาส 3 ของบริษัท น้ำมันแห่งชาติ ปตท.หรือ PTT ออกมาแล้ว ดูดีเกินคาด! บริษัทมีกำไรสุทธิ รวมทั้งสิ้น 31,297 ล้านบาท เพิ่มขึ้นกว่า 2.2 หมื่นล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 252.64% เมื่อเทียบกับไตรมาส 3 ปีก่อน
กำไรสุทธิรวมงวด 9 เดือนของปีนี้ก็น่าสนใจ ทำได้ 79,259 ล้านบาท ปรับตัวเพิ่มขึ้น 9.3% จากงวดเวลาเดียวกันของปีก่อน ซึ่งในไตรมาส 4 ที่จะถึงนี้ หากปตท.ทำกำไรได้ 2.1 หมื่นล้านบาทขึ้นไป ก็จะได้เห็นผลกำไรปตท.ข้าม 1 แสนล้านบาทอีกครั้ง จากไม่เคยเห็นในรอบหลายปีที่ผ่านมา
งบประมาณ 5 ปี (2566-2570) เพื่อปรับเปลี่ยนปตท.สู่พลังงานสะอาดและธุรกิจนอกเหนือพลังงานเช่น ยารักษาโรค ปตท.จะใช้งบทั้งสิ้นกว่า 4 แสนล้านบาท
นี่ไม่ใช่เรื่องพูดเล่นเพื่อเอาเท่อย่างเดียวแล้ว!
เป้าหมายปตท.ประกาศไว้ชัดเจนว่า ภายในปี ค.ศ. 2040 (พ.ศ. 2583) จะบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอน (ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสู่ชั้นบรรยากาศโลกให้เท่ากับการดูดซับคาร์บอนจากชั้นบรรยากาศโลกกลับคืนมา)
กับอีกเป้าหมายหนึ่ง คือการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emissions) ภายในปี 2050 (พ.ศ. 2593) ความหมายก็คือ ต้องลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้น้อยลงที่สุด หรือหากปล่อยไปแล้วก็ต้องมีเครื่องมือดักจับคาร์บอน เพื่อให้การปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ให้ได้
ทั้งนี้ก็โดยเพิ่มสัดส่วนการลงทุนในธุรกิจพลังงานสะอาดและการเติบโตในในธุรกิจใหม่ที่ไกลกว่าพลังงานเช่นการปลูกป่า ลดการลงทุนในพลังงานที่ใช้ฟอสซิลและเพิ่มการลงทุนในพลังงานทางเลือก หรือการซื้อคาร์บอนเครดิต และหรือไม่สนับสนุนการซื้อคาร์บอน เครดิตเลยในเป้าหมายเน็ต ซีโร่ อีมิสชั่น คือไม่ปล่อยคาร์บอนออกมาเลย
การนำคณะสื่อมวลชนอาวุโสไปดูงานสาธารณรัฐโปรตุเกสและราชอาณาจักรสเปนช่วงปลายเดือน ต.ค.ที่ผ่านมา ทำให้ได้รับรู้ว่า ในภาคพื้นยุโรปที่ไปมา มีความตื่นตัวในเรื่องของการเพิ่มธุรกิจพลังงานสะอาด และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสู่ชั้นบรรยากาศ ซึ่งทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางอากาศและฝุ่นควันพิษเป็นอันมาก
มหาวิทยาลัยชั้นนำของยุโรปและใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโปรตุเกส มีจำนวนนักศึกษาถึง 3.4 แสนคนคือมหาวิทยาลัยปอร์โต ทุ่มเทเอาจริงเอาจังทั้งการสอน งานวิจัย และการร่วมมือกับบริษัทเอกชนภายนอกกว่า 30 บริษัทในการจัดตั้ง “อุทยานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี”
หน้าที่หลักของอุทยานฯ หรือ UPTECH คือการสนับสนุนนวัตกรรม สนับสนุนการเติบโตของสตาร์ตอัพ โดยเน้นการพัฒนานวัตกรรมการลดคาร์บอน พร้อมกับการเชื่อมโยงสู่เครือข่ายพันธมิตรทั่วโลก ทั้งในระดับสถาบันวิชาการ และบริษัทเอกชนชั้นนำระดับโลก เช่น ไอบีเอ็ม อเมซอน หรือกูเกิลคลาวด์ ฯลฯ
ซึ่งปตท.ก็มีการจัดตั้งอุทยานวิทยาศาสตร์และการวิจัยที่ชื่อ “วังจันทร์ วัลเลย์” ที่มีทั้ง “สถาบันวิทยสิริเมธี” ที่จัดการเรียนการสอนในระดับปริญญาโทและเอก และโรงเรียนระดับมัธยมปลาย “กำเนิดวิทย์”
การไปดูงานที่บริษัท Iberdrola ผู้นำด้านพลังงานสะอาดในรัฐสเปนที่แบ่งธุรกิจออกเป็น 3 สาขา คือ พลังงานหมุนเวียน ธุรกิจเครือข่ายกระแสไฟฟ้า และธุรกิจขายส่ง-ขายปลีกพลังงานไฟฟ้า ทำให้ได้รับรู้ว่ามีความตื่นตัวและหันเหความสนใจสู่พลังงานไฮโดรเจนเป็นอันมาก
พลังงานไฮโดรเจนในโลก ยังอยู่ในระดับการศึกษาวิจัย ไม่ถึงกับจะพัฒนาในเชิงอุตสาหกรรมได้ เพราะยังมีต้นทุนในราคาที่แพงมาก แต่ก็มีความท้าทายอย่างสูงจาก “น้ำ” ซึ่งครองพื้นที่ถึง 2 ใน 3 ของโลก อันจะเป็นต้นทางในการแยกสารไฮโดรเจนออกมา
ปตท.เองก็มีโครงการศึกษาความเป็นไปได้ในการผลิตไฮโดรเจนสีเขียวในประเทศไทย ร่วมกับกฟผ. และบริษัท ACWA Power ประเทศซาอุดีอาระเบีย
การเปลี่ยนผ่านธุรกิจปตท.สู่พลังงานสะอาด ดำเนินการอย่างจริงจังในยุคซีอีโอ อรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ เป้าหมายยังยาวไกล แต่ก็ท้าทายอย่างสูงสู่ความสำเร็จ