พาราสาวะถี
เริ่มมีการมองแล้วว่าร่าง พ.ร.บ.กู้เงิน 5 แสนล้านบาท เพื่อดำเนินนโยบายดิจิทัลวอลเล็ตของรัฐบาล จะผ่านความเห็นชอบของที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร และที่ประชุมวุฒิสภาหรือไม่
เริ่มมีการมองแล้วว่าร่างพระราชบัญญัติ หรือ พ.ร.บ.กู้เงิน 5 แสนล้านบาท เพื่อดำเนินนโยบายดิจิทัลวอลเล็ตของรัฐบาล จะผ่านความเห็นชอบของที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร และที่ประชุมวุฒิสภาหรือไม่ ก่อนจะไปถึงจุดนั้น ต้องดูท่าทีของรัฐบาลผ่าน เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ก่อนว่า จริงจังกับการเดินหน้าขนาดไหน ล่าสุด ย้ำในการให้สัมภาษณ์จากสหรัฐอเมริกา “ประเทศไทยอยู่ในสภาพเศรษฐกิจวิกฤต และมีความจำเป็นที่จะต้องกระตุ้นเศรษฐกิจ”
ด่านแรกก่อนที่จะมีการส่งร่างกฎหมายให้สภาพิจารณา รอดูก่อนว่าคำตอบจากคณะกรรมการกฤษฎีกาจะออกมาอย่างไร ด้วยบทบาท หน้าที่เชื่อได้ว่าไม่น่าจะมีปัญหา เมื่อมีการผลักดันเข้าสู่ที่ประชุมสภาฯ แล้ว เพื่อไทยในฐานะแกนนำรัฐบาลเชื่อมั่นว่า จะไร้เสียงค้านจากพรรคร่วมเช่นเดียวกัน อาจมีบ้างที่ สส.ของบางพรรคจะใช้สิทธิอภิปรายทักท้วง แต่เมื่อถึงคราวลงคะแนนเสียงจะไม่มีใครแตกแถว เพราะมองเห็นปัญหาที่กำลังเผชิญ ประชาชนเดือดร้อนจริง เศรษฐกิจของประเทศต้องการการกระตุ้น
อย่าลืมเป็นอันขาด เวลานี้งบประมาณแผ่นดินสำหรับปีงบประมาณ 2567 ร่างกฎหมายยังไม่ได้ผ่านกระบวนการพิจารณาของสภา ซึ่งทำให้เกิดความล่าช้าเป็นอย่างมาก ส่งผลกระทบในแง่เม็ดเงินลงทุนในโครงการขนาดใหญ่ของภาครัฐ ที่ถือเป็นอีกขาหนึ่งที่สำคัญในการจะกระตุ้นเศรษฐกิจ ทำให้ตัวเลขจีดีพีขยับได้ในระดับหนึ่ง ดังนั้น ทุกภาคส่วนจึงเข้าใจตรงกันรัฐบาลจำเป็นต้องใช้กลไกอย่างใดอย่างหนึ่งเพื่อทำให้เกิดการขับเคลื่อนเศรษฐกิจขนานใหญ่
ส่วนเรื่องวิธีการที่คนเห็นต่าง การเลือกหนทางออกเป็น พ.ร.บ.ของรัฐบาลก็เพื่อแสดงเจตนาบริสุทธิ์ให้ผ่านกระบวนการถกของสภาฯ ประเด็นเมื่อมีผลบังคับใช้ไปแล้วจะเกิดการทุจริต หรือมีปัญหาอะไรหรือไม่ ขึ้นอยู่กับการบริหารจัดการ สุดท้าย โครงการจะประสบผลสำเร็จหรือล้มเหลว ประชาชนจะเป็นผู้ตัดสินเอง ไม่ใช่ว่าใครคนใดคนหนึ่ง หรือกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง มาชี้นิ้วว่าทำไม่ได้ ห้ามทำ ทั้งที่เป็นนโยบาลหลักของพรรคแกนนำรัฐบาล
เหตุผลที่พรรคร่วมรัฐบาลไม่ขวางกฎหมายกู้เงิน ถึงขนาดที่มีบางคนบางพวกชี้ช่องว่านี่เป็นโอกาสที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลได้ แต่นักการเมืองอาชีพในพรรคร่วมต่างรู้ดีภายใต้สถานการณ์เช่นนี้ ถ้าไม่ใช่เพื่อไทยเป็นแกนนำแล้ว จะไปจับมือพรรคไหนหาเสียงให้เป็นเสียงข้างมากในสภาได้ ยิ่งตัวเลือกของคนที่จะมาเป็นนายกฯ ยิ่งไปกันใหญ่ การได้เศรษฐามาเป็นหัวขบวนก็ถือว่าสร้างความอุ่นใจได้ โดยเฉพาะเรื่องการเจรจา สานสัมพันธ์กับต่างประเทศ
ส่วนพวกลากตั้งอาจยังมีประเภทสุดโต่งที่ยังไงก็ไม่อาจทำใจยอมรับรัฐบาลเพื่อไทยได้ แต่ส่วนใหญ่เข้าใจสภาพความเป็นจริงแล้วว่า ไม่มีทางที่กลุ่มอำนาจเก่าโดยเฉพาะแก๊ง 3 ป.จะหวนคืนสู่สนามการเมืองอีกกระทอก ยิ่งผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจหลังจากประกาศวางมือทางการเมืองไปแล้ว เหมือนได้ติดปีกได้ทำทุกอย่างตามที่ใจปรารถนา ไม่ต้องมาแบกภาระอันหนักอึ้งไว้บนบ่า หลายเรื่องราวเข้าข่ายเนื้อไม่ได้กินหนังไม่ได้รองยังไปเอากระดูกมาแขวนคอเสียฉิบ
อาจมีความพยายามที่จะล้มรัฐบาลเศรษฐาอยู่ แต่พลังมันไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป ฝ่ายกุมอำนาจปัจจุบันอ่านเกมขาดตั้งแต่ตัดสินใจพลิกขั้วแล้ว จึงมีการรุกเข้าไปในส่วนของขบวนการปล่อยข่าวทำลายความน่าเชื่อถือของฝ่ายตรงข้ามทางการเมืองของอำนาจเผด็จการก่อนหน้านี้ ซึ่งสามารถย่อยสลายจนแทบจะหมดบทบาทกันไปแล้ว พวกที่เหลือและยังทำไอโอกันอยู่ ก็เพียงแค่ต้องการค่าจ้างที่ยังค้างกันอยู่ แต่ระดับหัวขบวนนั้น พากันเปิดตูดไปหมดแล้ว เพราะรู้ดีว่าบ้านเมืองเป็นช่วงของการเปลี่ยนแปลง หากยังปักหลักแลกหมัดต่อไปจะเป็นการได้ไม่คุ้มเสีย
ความจริงการขยับของพวกตัวตึงในสื่อบางช่อง ที่ทิ้งฐานที่มั่นทั้งที่ตัวเองเป็นผู้ปลุกปั้น บุกเบิก และเป็นผู้ดำเนินรายการแม่เหล็ก บางคนวางมือถึงขนาดพร้อมที่จะขายหุ้นที่มีอยู่ทั้งหมด บางรายไปซบสื่อกระแสหลักที่ตั้งตัวอยู่ฝั่งตรงข้ามรัฐบาล เป็นเพราะรู้ดีว่าภายในระยะเวลาอันสั้นนี้หรือดีไม่ดีจนครบวาระของรัฐบาล ไม่สามารถที่จะใช้วิธีการเดิม ๆ ในการทำมาหากินและเล่นงานปฏิปักษ์ได้อีกต่อไป จึงต้องเล่นบทไอ้เสือถอย รอเวลาจนกว่าเศรษฐาและรัฐนาวาจะเกิดบาดแผลจนเกินเยียวยา
ดูเหมือนว่าโอกาสที่จะเกิดการสะดุดขาตัวเอง เหมือนที่รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เคยพลาดมาแล้วน่าจะเกิดขึ้นยาก หาก พ.ร.บ.กู้เงิน 5 แสนล้านไม่มีปัญหา คงจะเป็นบทพิสูจน์อีกขั้นว่าการเลือกเดินเกมเทหมดหน้าตักของเพื่อไทย เป็นความเสี่ยงที่น่าจะคุ้มเกินคุ้ม ยิ่งมองไปยังสถานการณ์ของพรรคฝ่ายค้านก้าวไกลไม่ใช่แค่ประเด็นคดีถือหุ้นไอทีวีของ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ และนโยบายแก้ ม. 112 ของพรรคที่รอศาลรัฐธรรมนูญชี้ชะตา แต่ไม่มีใครรู้ได้ว่า สส.ของพรรคจะไปสร้างวีรกรรมอื้อฉาวอะไรอีกหรือไม่
ระดับแกนนำอาจผลักให้เป็นความรับผิดชอบส่วนตัวของผู้ก่อเหตุ แต่จะปฏิเสธความรับผิดชอบในแง่ของความเป็นต้นสังกัดไม่ได้ กรณีคุกคามทางเพศที่ผ่านมาทำให้เห็นได้ชัด เรียกได้ว่ามีการบ้าน โจทย์หินให้ต้องคอยแก้กันอยู่ตลอดเวลา ทำให้เป็นอุปสรรคต่อการกำหนดทิศทาง และแนวทางในการขับเคลื่อนพรรค ขณะที่ประชาธิปัตย์ การติดหล่มต่อการเลือกหัวหน้าพรรคที่ล่าช้ามาครึ่งปีแล้ว เป็นภาพสะท้อนให้เห็นถึงความเปลี่ยนแปลงที่จะไม่เหลือภาพของความเป็นสถาบันการเมืองที่กล่าวอ้างกันมาตลอดอีกต่อไป
ต้องยอมรับกันว่า คนรุ่นเก่า กับ กลุ่มเลือดใหม่ กลายเป็นจุดขัดแย้งทางความคิดที่ยากจะต่อกันติด แนวคิดและทิศทางการเมืองต่างกันอย่างสิ้นเชิง พวกอาวุโสก็จะอ้างหลักการ เจ้าคิดเจ้าแค้น สังฆกรรมผสมพันธุ์กับพรรคที่เคยเป็นศัตรูกันไม่ได้ ขณะที่คนรุ่นใหม่มองเห็นว่าต้องยึดประโยชน์ของประเทศเป็นตัวตั้ง แล้วนำพรรคเข้าไปช่วยขับเคลื่อน เป็นเหตุให้ 16 สส.ไปยกมือหนุนเศรษฐาเป็นนายกฯ การยืดเยื้อลากยาวกันมาเช่นนี้ มันเหมือนเป็นการยืนยันแล้วว่า ระบบ ระเบียบ กติกาที่เคยยึดถือกันมาอย่างเคร่งครัดจนถูกยกให้เป็นพรรคการเมืองที่เข้มแข็งนั้น มันไม่มีอีกแล้ว นาทีนี้แค่รอเวลาจะล่มสลายกันแบบไหนเท่านั้นเอง