พรรคเพื่อไทยกับชนชั้นกระฎุมพีไทย ตอนที่ 1

ถ้าหากว่าชนชั้นกระฎุมพีในสังคมไทยมีอยู่จริงดังที่นักประวัติศาสตร์อย่าง ดร.นิธิ เอียวศรีวงศ์ ได้เคยศึกษาและสรุปว่าชนชั้นดังกล่าวมีอยู่จริงในสังคมไทยตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 3


บทความชิ้นนี้มีความยาวประมาณ 3 ตอน ทนอ่านหน่อยนะครับ

ถ้าหากว่าชนชั้นกระฎุมพีในสังคมไทยมีอยู่จริงดังที่นักประวัติศาสตร์อย่าง ดร.นิธิ เอียวศรีวงศ์ ได้เคยศึกษาและสรุปว่าชนชั้นดังกล่าวมีอยู่จริงในสังคมไทยตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 3 เป็นต้นมา โดยยกตัวอย่างที่สำคัญในวรรณคดีของสุนทรภู่เรื่องพระอภัยมณีที่นางเอกตามท้องเรื่องเป็นหญิงต่างชาติชื่อนางละเวงวัลลาซึ่งเป็นลูกสาวกษัตริย์กรุงลงกาและวัฒนธรรมที่เชิดชูเงินตราตามแบบเศรษฐกิจทุนนิยมเป็นหลัก

ผลจากการวิเคราะห์โครงสร้างชนชั้นของสังคมไทยโดยกลุ่มศึกษาเศรษฐศาสตร์การเมืองเป็นที่ยอมรับว่าในปัจจุบันนั้นสังคมไทยเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจทุนนิยมเต็มตัว

แนวคิดดังกล่าวมีอิทธิพลมาจากลัทธิมาร์กซิสม์ซึ่งแบ่งเป็น 3 หลักการใหญ่ หลักการที่ 1.คือปรัชญาวัตถุนิยมวิภาษ   2.เศรษฐศาสตร์การเมือง และ3.วัตถุนิยมทางประวัติศาสตร์

ปรัชญาวัตถุนิยมวิภาษของมาร์กเป็นปรัชญาที่มีลักษณะก้าวหน้าที่สุดของมวลมนุษย์ ที่เน้นหลักการว่าวัตถุกำหนดจิตและถูกขับเคลื่อนด้วยความขัดแย้งภายในมากกว่าปัจจัยภายนอกโดยที่ความขัดแย้งดังกล่าวจะพัฒนาจากเชิงปริมาณสู่คุณภาพอย่างก้าวกระโดด

ส่วนเศรษฐศาสตร์การเมืองนั้นมาร์กและเองเกลส์ร่วมกันแปลงเป็นทฤษฎีใหม่ให้เป็นรูปธรรมทางเศรษฐกิจโดยเน้นว่าโครงสร้างสังคมมนุษย์นั้นมีพัฒนาการเปลี่ยนแปลงเนื่องจากพลังการผลิตขัดแย้งกับความสัมพันธ์ทางการผลิตและเป็นตัวขับเคลื่อนสังคมที่แบ่งเป็นชนชั้นต่าง ๆ

ส่วนวัตถุนิยมทางประวัติศาสตร์เป็นการศึกษาความเปลี่ยนแปลงของสังคมมนุษย์ที่มีหลายยุคสมัยผ่านสังคมทาสแล้วเปลี่ยนมาเป็นสังคมแบบศักดินาก่อนจะมาเป็นสังคมทุนนิยมในปัจจุบัน และพัฒนาไปสู่สังคมนิยมและสังคมคอมมิวนิสต์ในที่สุดซึ่งมาร์กอ้างว่าเป็นรูปแบบสังคมมนุษย์ที่พลังการผลิตของสังคมมีลักษณะเป็นการเอาจากแต่ละคนตามความสามารถและให้ผลตอบแทนตามความพึงพอใจซึ่งจะทำให้การต่อสู้ทางชนชั้นหายไป

แม้ว่าแนวคิดทางด้านวัตถุนิยมทางประวัติศาสตร์จะถูกวิจารณ์ว่าเป็นมุมมองทางประวัติศาสตร์แบบเส้นตรงแบบพวกคริสเตียนและมุสลิม ซึ่งถูกตั้งคำถามอย่างมากหลังการล่มสลายของสหภาพโซเวียตในปี 1991 และการกลับมาเถลิงอำนาจของทุนนิยมที่ครอบงำโลกอยู่ในขณะนี้รวมทั้งจีนที่มีสภาพเป็นสังคมนิยมก็เป็นแค่เพียงชื่อ แม้ในปัจจุบันการที่ลัทธิสังคมนิยมไม่ใช่พลังในการขับเคลื่อนโลก แต่แนวคิดวิเคราะห์ทางชนชั้นของเศรษฐศาสตร์การเมืองก็ยังคงมีพลังต่อไป

หากนำเอาเศรษฐศาสตร์การเมืองมาใช้วิเคราะห์สังคมไทยจะเห็นได้ว่าไทยเป็นสังคมทุนนิยมแบบเต็มรูป โดยมีกลุ่มทุนผูกขาดจำนวนน้อยรายทำหน้าที่ขับเคลื่อนสังคมไทยไปข้างหน้า กลุ่มทุนผูกขาดเหล่านี้อาจจะเคยผ่านวิกฤติทางการเงินมาแล้วเมื่อไทยเกิดวิกฤติฟองสบู่แตกหรือโรคต้มยำกุ้งเมื่อปี 1997 แต่กลุ่มทุนผูกขาดเหล่านี้กลับมาเติบใหญ่มากขึ้น ได้แก่ กลุ่มซีพี (ที่เติบใหญ่โดยแฟรนไชส์ค้าปลีกและค้าส่งในนาม แม็คโคร ซีพีออลล์เจ้าของ 7-11 โลตัส และทรูคอร์ปอเรชั่น นอกเหนือจากธุรกิจอาหารและอาหารสัตว์ในชื่อซีพีเอฟ) กลุ่มเสี่ยเจริญ (ที่มีธุรกิจเครื่องดื่มใหญ่สุดในอาเซียนในชื่อ Thai Bev และ F&N กลุ่ม Big C) กลุ่มจิราธิวัฒน์ (เจ้าของห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัล โรบินสัน บิ๊กซีเวียดนาม และเจ้าของสื่อสิ่งพิมพ์ภาษาอังกฤษ Post) กลุ่มกาญจนพาสน์ที่มีธุรกิจขนส่งมวลชนอย่างบีทีเอสและอสังหาริมทรัพย์อย่างบริษัท U และ เมืองทองธานี กลุ่มตรีวิศวเวทย์เจ้าของ ช.การช่างและ CKP กับ BEM กลุ่มธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ที่มีอัตราการเติบโตของกำไรสุทธิปีละจีดีพี+5% อย่าง BBL, SCB และ KBANK กลุ่มปตท. กลุ่มปูนซิเมนต์ไทย SCG

กลุ่มทุนธนาคารของรัฐอย่างเช่น ธนาคารออมสิน ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) และธนาคารกรุงไทย ก็ถือว่าเข้าข่ายกลุ่มทุนผูกขาดขนาดใหญ่

กลุ่มทุนเหล่านี้สามารถแสวงหาเงินจากตลาดหลักทรัพย์ฯ และส่วนแบ่งการตลาดที่เหนือกว่าคู่แข่งขันจากการที่เป็นผู้อยู่เบื้องหลังนโยบายเศรษฐกิจของประเทศชนิดที่เรียกว่ารัฐบาลต้องเกรงใจ เพราะความใหญ่โตของขนาดสินทรัพย์ที่มากกว่ารายละหนึ่งแสนล้านบาทขึ้นไป

กลุ่มทุนผูกขาดเหล่านี้ถือว่าเป็นนายทุนชาติตามแนววิเคราะห์ทางเศรษศาสตร์การเมืองของมาร์กและเหมาเจ๋อตง  ซึ่งพรรคเพื่อไทยจะต้องเอาใจและให้ความสำคัญเพราะขนาดของธุรกิจของแต่ละกลุ่มนั้นเข้าข่าย “Too BiG To Be Failed”

(ยังมีต่อ)

Back to top button