เข้ม ‘ชอร์ตเซล – ตั้งทีมพิเศษ’ รายย่อยจะเท่าเทียม
ถึงตอนนี้ ตลท.ยังฟันธงว่าชอร์ตเซลไม่ใช่สาเหตุทุบหุ้นไทย แต่สาเหตุหลัก ๆ มาจากภาวะเศรษฐกิจของประเทศ ภาวะเศรษฐกิจโลก
เส้นทางนักลงทุน
แม้จะยังไม่มีการ “ยกเลิกชั่วคราว” หรือ “ปรับเปลี่ยนกฎเกณฑ์” การทำ “ชอร์ตเซล” หรือ “การขายชอร์ต” แต่กรณีที่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เตรียมยกระดับการตรวจสอบธุรกรรมชอร์ตเซลให้เข้มงวดมากขึ้น
รวมทั้งจะจัดตั้งคณะกรรมการชุดพิเศษขึ้นมาเพื่อดูแลความเท่าเทียมเป็นธรรมให้เกิดขึ้นกับนักลงทุนทุกกลุ่ม ไม่ว่าจะส่งคำสั่งซื้อขายด้วยระบบใด ๆ ก็ตาม ทำให้เกิด “ความหวัง” ว่า นับจากนี้เป็นต้นไป “นักลงทุนรายย่อย” จะไม่ตกเป็นฝ่ายเสียเปรียบอีก
หลังได้รับ “เผือกร้อน” จดหมายร่อนจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เมื่อช่วงเช้าของวันที่ 20 พ.ย. 2566 ให้บอร์ดตลท.ตัดสินใจทำอะไรซักอย่างภายใต้คำแนะนำที่ฟังดูคล้าย ๆ ให้ปรับเปลี่ยนแก้ไขการตั้งราคาขายชอร์ต ตลท.เรียกประชุมบอร์ดด่วนทันทีในช่วงบ่ายของวันดังกล่าว เพื่อหาข้อสรุปของเรื่องนี้ทันที
ผลสรุปที่ได้ บอร์ดตลท.ตัดสินใจแก้ปัญหาความกังวลใจเรื่อง “ชอร์ตเซล” โดยได้ส่งหนังสือเวียนกำชับไปยังโบรกเกอร์เพื่อบอกว่าตลท.จะเข้มงวดในการตรวจสอบการทำธุรกรรม ดังนั้นนับจากวันนี้เป็นต้นไป โบรกเกอร์จะต้องส่งหลักฐานก่อนการทำธุรกรรมขายชอร์ตเพื่อแสดงว่ามีหุ้นตัวนั้น ๆ อยู่ในครอบครองภายใน 15 วัน
หากโบรกเกอร์ไม่สามารถดำเนินการส่งหลักฐานได้ทันตามกำหนด ก็จะเข้าข่ายให้สันนิษฐานได้ว่าธุรกรรมชอร์ตเซลนั้น ๆ เป็นการทำชอร์ตเซลโดยไม่มีหุ้นในมือ หรือ Naked Short Sell และถือเป็นเหตุให้ตลท.สามารถจะลงโทษทางวินัยกับโบรกเกอร์รายนั้น ๆ ได้ด้วย ซึ่งโทษจะมีตั้งแต่การปรับภาคทัณฑ์ ตักเตือน ตลอดจนระงับการซื้อขาย ขึ้นอยู่กับการกระทำความผิด และการพิจารณาของคณะกรรมการวินัย
นอกจากโบรกเกอร์แล้ว ตลท.ยังได้ขอความร่วมมือและประสานงานไปยังทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง เช่น คัสโตเดียน (Custodian) ในฐานะที่เกี่ยวข้องกับผู้ลงทุนจากต่างประเทศ ให้ช่วยกันกำกับดูแลการขายชอร์ตให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด
โดยงานนี้ ก.ล.ต.จะร่วมตรวจสอบบัญชีซื้อขายร่วมที่ทำรายการชอร์ตเซล เพื่อดูว่าผู้ที่มีอำนาจสั่งการเป็นตัวจริง หรือตัวแอบแฝง ซึ่งจะเป็น 2 แรงแข็งขัน ประสานความร่วมมือกันกับก.ล.ต. ยกระดับการตรวจสอบบัญชีลูกค้า ประเภทบัญชีที่มีคนลงทุนร่วมกันหลายคน แต่อยู่ภายใต้บัญชีเดียวกัน (Omnibus Account) เพื่อให้ทราบถึงผู้ลงทุนที่แท้จริง (End Beneficiary owner) ที่เข้ามาทำธุรกรรม
ถึงตอนนี้ ตลท.ยังฟันธงว่าชอร์ตเซลไม่ใช่สาเหตุทุบหุ้นไทย แต่สาเหตุหลัก ๆ มาจากภาวะเศรษฐกิจของประเทศ ภาวะเศรษฐกิจโลกที่ทำให้การส่งออกชะลอตัว ปัญหาเงินเฟ้อที่ทำให้ธนาคารทั่วโลกต้องใช้นโยบายปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย รวมทั้งปัญหาสงครามซึ่งไม่สามารถประเมินได้ว่าจะจบอย่างไร และเงินทุนไหลออก โดยบางปัจจัยส่งผลกระทบต่อผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียน (บจ.) แต่ในส่วนของชอร์ตเซลตรวจสอบแล้วไม่ผิดปกติ
ดังนั้น กรณีที่ก.ล.ต.มีข้อแนะนำให้บอร์ดตลท.พิจารณาความเหมาะสมในการปรับเกณฑ์ จาก Zero tick Rule คือการขายชอร์ตจะต้องกำหนดราคาไม่ต่ำกว่าราคาซื้อขายครั้งสุดท้าย เป็นกำหนดราคาสูงกว่าราคาซื้อขายครั้งสุดท้าย (Up tick Rule) เพื่อไม่ให้เกิดการดัมป์ราคานั้น บอร์ดตลท.เห็นว่าขณะนี้ยังไม่มีความจำเป็นต้องนำมาใช้ เพราะตลาดหุ้นไทยเปลี่ยนแปลงไปตามเทรนด์โลก ซึ่งไม่ได้มีความผิดแผกจากตลาดหุ้นใด
และเห็นว่าดัชนีตลาดหุ้นไทยทรุดตัวลงไปมีความสอดคล้องกับตลาดหุ้นอื่น ๆ ทั่วโลก แรงขายส่วนใหญ่เป็นการขายของผู้ลงทุนต่างประเทศที่ขายต่อเนื่องมาโดยตลอด มากถึงประมาณ 138,000 ล้านบาท ทำให้มีผลกระทบต่อตลาดหุ้นไทย ทั้งนี้คำแนะนำของก.ล.ต.จะนำมาใช้หากพบสถานการณ์ที่ไม่ปกติที่มีผลกระทบต่อการซื้อขาย โดยจะไม่ปิดโอกาสหากมีความจำเป็นต้องนำมาพิจารณาใช้เป็นมาตรการชั่วคราว ก็จะดำเนินการทันที
ส่วนประเด็นที่มีการมองกันว่านักลงทุนรายย่อยเสียเปรียบเพราะบรรดาขาใหญ่ใช้วิธีการซื้อขายด้วยโปรแกรมเทรด ทำให้มีต้นทุนต่ำนั้น ตลท.จะตั้งคณะกรรมการชุดพิเศษขึ้นมา ซึ่งจะประกอบด้วยทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง เพื่อทบทวนความเท่าเทียมเป็นธรรมของผู้ที่ใช้โปรแกรมเทรดและไม่ได้ใช้โปรแกรมเทรด ให้เป็นไปตามหลักสากล
อย่างไรก็ตาม กรณีค่าธรรมเนียนนั้น ตลท.ไม่สามารถเข้าไปแทรกแทรงการกำหนดค่าธรรมเนียมของโบรกเกอร์ได้ เนื่องจากเป็นการเปิดเสรีค่าธรรมเนียมอยู่แล้ว
บทสรุปปิดท้ายคือ คำยืนยันที่ว่า ที่ผ่านมาตลท.ทำงานร่วมกับสำนักงานก.ล.ต.ในการตรวจสอบ Naked Short Sell และโปรแกรมเทรดมาอย่างต่อเนื่อง มันไม่มีอะไรในกอไผ่จริง ๆ นะ