พาราสาวะถี
ยืนยันจาก จุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง หนังสือที่จะส่งให้ถามคณะกรรมการกฤษฎีกาเรื่อง พ.ร.บ.กู้เงิน 5 แสนล้านบาท จะเรียบร้อยภายในสัปดาห์นี้ ขณะที่ ปกรณ์ นิลประพันธ์ เลขาธิการกฤษฎีกา ถึงกับควันออกหูเพราะถูกทัวร์ลงหาว่าดึงเรื่องช้า ไม่ยอมพิจารณาเสียทีทำให้คนที่รอเงินจากนโยบายดิจิทัลวอลเล็ตต้องตั้งตารอ เข้าทำนองเนื้อไม่ได้กินหนังไม่ได้รอง ต้องเอากระดูกมาแขวนคอ แบบนี้ใครจะทนได้ต้องมีโวยเป็นธรรมดา
ยืนยันจาก จุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง หนังสือที่จะส่งให้ถามคณะกรรมการกฤษฎีกาเรื่อง พ.ร.บ.กู้เงิน 5 แสนล้านบาท จะเรียบร้อยภายในสัปดาห์นี้ ขณะที่ ปกรณ์ นิลประพันธ์ เลขาธิการกฤษฎีกา ถึงกับควันออกหูเพราะถูกทัวร์ลงหาว่าดึงเรื่องช้า ไม่ยอมพิจารณาเสียทีทำให้คนที่รอเงินจากนโยบายดิจิทัลวอลเล็ตต้องตั้งตารอ เข้าทำนองเนื้อไม่ได้กินหนังไม่ได้รอง ต้องเอากระดูกมาแขวนคอ แบบนี้ใครจะทนได้ต้องมีโวยเป็นธรรมดา
มาถึงบางอ้อ จากการเฉลยและกล่าวคำขอโทษเลขาฯ กฤษฎีกาของ ภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกฯ และรัฐมนตรีพาณิชย์ ในฐานะผู้ให้สัมภาษณ์หลังประชุมคณะกรรมการดิจิทัลวอลเล็ตชุดใหญ่ ในทำนองที่ว่าคณะกรรมการกฤษฎีกาได้นั่งอยู่ในที่ประชุมด้วย โดยเนื้อหาที่เสี่ยอ้วนสื่อสารในวันนั้นก็คือ คณะกรรมการกฤษฎีกาไม่ได้คัดค้าน เพียงแต่บอกว่าถ้ายังมีความไม่ชัดเจนหรือความไม่สบายใจ ต้องรับผิดชอบร่วมกัน กฤษฎีกาอาสาไปดูข้อกฎหมายว่า มีอะไรที่ผิดหรือไม่ผิด
แต่คนดันไปตีความว่า ได้มีการส่งหนังสือเพื่อให้คณะกรรมการกฤษฎีกานำไปพิจารณาแล้ว จนทำให้เกิดข่าวตามมาทั้ง กฤษฎีกาไม่เห็นด้วยและมีคนดึงเรื่องให้ช้า ทั้งที่ความจริง ในฐานะที่ปรึกษากฎหมายของรัฐบาลได้แสดงความหวังดีในการที่จะให้ทุกคนสบายใจต่อการตัดสินใจเดินหน้าดิจิทัลวอลเล็ต ด้วยการออกเป็น พ.ร.บ.กู้เงิน จะไปดูให้ว่าขัดต่อข้อกฎหมายใดหรือไม่ ด้วยเหตุนี้เลขาฯ กฤษฎีกาจึงย้ำในเชิงประชดว่า มีหน้าที่ดูแค่ข้อกฎหมาย เพราะเป็นฝ่ายกฎหมาย ไม่ใช่นักการเมืองจึงไม่มีหน้าที่ชี้ว่า เศรษฐกิจประเทศวิกฤตหรือไม่
คงไม่ใช่ปัญหา เศรษฐา ทวีสิน ยืนยันเองว่าทุกอย่างยังอยู่ในไทม์ไลน์ของการดำเนินโครงการ ไม่มีอะไรล่าช้า การส่งหนังสือให้กฤษฎีกาพิจารณาเมื่อเดินหน้าแล้วทุกอย่างก็จะเป็นไปตามกระบวนการ ซึ่งด้วยหลักการแล้วในส่วนนี้ไม่น่าจะมีปัญหาอะไร หัวใจสำคัญคงอยู่ที่การสนทนาธรรมว่าด้วยเศรษฐกิจประเทศวิกฤตหรือไม่วิกฤต ระหว่างนายกรัฐมนตรีกับผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยมากกว่า ถ้าไม่วิกฤตมันก็หมายความว่า การออก พ.ร.บ.กู้เงินเพื่อเดินหน้าดิจิทัลวอลเล็ตจะกลายเป็นหมันในทันที
ก่อนจะไปถึงตรงนั้น วันพรุ่งนี้ (28 พฤศจิกายน) รอฟังข่าวใหญ่ที่เศรษฐาจะแถลงเรื่องการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบกันดีกว่า มาตรการที่จะออกมาสามารถใช้ได้ผลในทางปฏิบัติหรือไม่ แต่เท่าที่รู้และกลายเป็นประเด็นร้อนต่อเนื่องจากการไปพูดในที่ประชุม สส.พรรคเพื่อไทย คงหนีไม่พ้นปมการฝากเรื่องย้ายผู้กำกับ ก่อนที่จะมีการชี้แจงโดยแกนนำและคนของพรรคแกนนำรัฐบาลว่า ที่เศรษฐาสื่อหมายถึงกลไกการทำงานในพื้นที่ระหว่างผู้กำกับกับนายอำเภอ เพื่อที่จะเป็นมือไม้สำคัญในการแก้ปัญหาหนี้นอกระบบต่างหาก
มีการเปรียบเทียบจนถูกนำไปตีความว่าเป็นการก้าวก่าย แทรกแซง กระบวนการแต่งตั้งโยกย้ายผู้กำกับของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กรณีนั้นก็ว่ากันไปตามช่องทางที่มีทั้งร้องเรียนต่อ ป.ป.ช.ให้สอบนายกฯ รวมไปถึงการเรียกให้ไปชี้แจงต่อคณะกรรมาธิการชุดที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคง กระบวนการยุติธรรม ของสภาผู้แทนราษฎร แต่ว่าตามแนวทางที่คณะทำงานของเพื่อไทยและรัฐบาลวางไว้สำหรับการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบ กลไกสำคัญที่จะสะสางคือนายอำเภอและผู้กำกับ
นั่นก็คือ จะมีการสแกนหาตัวเจ้าหนี้นอกระบบตั้งแต่ระดับหมู่บ้าน ตำบล จนไปถึงอำเภอ เมื่อเจอตัวแล้ว ก็จะตรวจสอบรายชื่อลูกหนี้ที่มีปัญหา จึงเป็นที่มาของคำสั่งโดย สุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดมหาดไทย ให้มีการเปิดรับลงทะเบียนลูกหนี้นอกระบบตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคมนี้เป็นต้นไป ในทุกอำเภอทั่วประเทศรวมทั้งทุกสำนักงานเขตของกทม. กรณีพื้นที่เมืองหลวงอาจต้องอาศัยความร่วมมือจากหลายภาคส่วน เนื่องจากเป็นการปกครองในลักษณะพิเศษ และปัญหาจะซับซ้อนมากกว่า
สำหรับต่างจังหวัด หลังจากเห็นตัวเจ้าหนี้กันหมดแล้ว และมีลูกหนี้ที่เดือดร้อนมีความประสงค์จะให้ภาครัฐเข้าไปแก้ไขปัญหาให้ ก็จะมีการนัดหมายทั้งสองฝ่ายไปเจรจากันที่ที่ว่าการอำเภอ โดยมีนายอำเภอและผู้กำกับโรงพักในพื้นที่ของแต่ละอำเภอเป็นตัวกลางในการไกล่เกลี่ย ตามแนวทางก็คือ ในรายที่เจ้าหนี้เรียกเก็บดอกเบี้ยจนทบต้นหรือเกินเงินต้นไปแล้ว จะขอร้องให้หยุดเก็บเงินจากลูกหนี้ได้หรือไม่ เพราะถือได้ประโยชน์ไปเกินกว่าที่ควรจะเป็นแล้ว
หากฝ่ายเจ้าหนี้ยินยอมก็จบ เลิกแล้วกันไป ถ้าฮึดฮัดต้องเอาเงินคืนให้ได้ ก็จะมีการใช้มาตรการทางกฎหมาย จากที่เคยมัดมือชกลูกหนี้ คราวหนี้เจ้าหนี้ก็จะถูกมัดมือชกด้วยกระบวนการยุติธรรม ซึ่งไม่ว่าจะมุมไหนก็ผิดเต็มประตูอยู่แล้ว ดีไม่ดีอาจถึงขั้นถูกยึดทรัพย์ ดังนั้น เวลานี้จึงมีหลายพื้นที่เริ่มขยับในการประนีประนอมกันแล้ว เพื่อที่จะไม่ให้เรื่องถูกนำไปขยายผลใหญ่โต แต่ยังมีพวกทำนาบนหลังคนบางพวกที่ไม่อินังขังขอบ ด้วยเชื่อมั่นว่ามีแบ็กอัพดีจึงไม่แยแสต่อคำขู่ใด ๆ
ด้วยเหตุนี้จึงมีการวางมาตรการหลังจากผ่านกระบวนการไกล่เกลี่ยไปแล้ว โดยให้กระทรวงมหาดไทยเป็นผู้ถือธงนำในการปฏิบัติ นั่นก็คือ ให้กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และคณะกรรมการหมู่บ้าน เฝ้าระวังสอดส่องบุคคลหรือกลุ่มบุคคลที่มีพฤติการณ์เป็นผู้กระทำความผิด ทั้งนายทุนปล่อยเงินกู้นอกระบบ การทวงถามหนี้โดยการข่มขู่ ใช้ความรุนแรง แล้วรายงานศูนย์ดำรงธรรมอำเภอเพื่อดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ในส่วนที่เกี่ยวข้อง ซึ่งกรณีนี้ก็มีการมองว่าจะมีบางพื้นที่เป็นการลูบหน้าปะจมูกหรือไม่ เพราะเจ้าหน้าที่รัฐโดยเฉพาะกำนัน ผู้ใหญ่บ้านหรือคนในเครือข่ายก็เป็นเจ้าหนี้นอกระบบกันเสียเอง
ถือเป็นบทพิสูจน์ความศักดิ์สิทธิ์ต่อคำสั่งและการดำเนินนโยบายของรัฐบาลเพื่อไทยภายใต้การนำของเศรษฐา ถ้าต้องการให้นโยบายดิจิทัลวอลเล็ตขับเคลื่อนได้เต็มประสิทธิภาพก็ต้องกำจัดความเดือดร้อนของประชาชนจำนวนไม่น้อยในเรื่องนี้ไปด้วย เช่นเดียวกันกับการแก้ปัญหาหนี้ในระบบที่จะมีการแถลงข่าวในวันที่ 12 ธันวาคมนี้ ต้องยอมรับกันว่าเกือบ 10 ปีที่ผ่านมานั้น ไม่ใช่เฉพาะประเทศไทยเสียโอกาสบนเวทีระหว่างประเทศเท่านั้น แต่ประชาชนยังเสียโอกาสต่อความเจริญในทุกด้าน โดยเฉพาะคุณภาพชีวิต