พรรคเพื่อไทยกับชนชั้นกระฎุมพี ตอนที่ 3

ความแกว่งไกวของนโยบายพรรคทักษิณ ชินวัตร ในนามพรรคไทยรักไทยและเพื่อไทย แต่ละยุคสมัยจะเห็นได้ถึงยุทธศาสตร์ "สู้ไปกราบไป” ที่เริ่มจากการสู้ไปก่อน ตามด้วยการกราบไป สามารถอธิบายได้ด้วยเศรษฐศาสตร์การเมืองแบบมาร์กซิสม์


ความแกว่งไกวของนโยบายพรรคทักษิณ ชินวัตร ในนามพรรคไทยรักไทยและเพื่อไทย แต่ละยุคสมัยจะเห็นได้ถึงยุทธศาสตร์ “สู้ไปกราบไป” ที่เริ่มจากการสู้ไปก่อน ตามด้วยการกราบไป สามารถอธิบายได้ด้วยเศรษฐศาสตร์การเมืองแบบมาร์กซิสม์

เริ่มต้นตั้งแต่พรรคไทยรักไทยที่นำนโยบายแบบเศรษฐกิจทุนนิยมก้าวหน้าด้วยการส่งเสริม SME และแล้วก็ถูกต่อต้านด้วยพลังอนุรักษนิยมของนายทุนชาติขนาดใหญ่ที่รู้สึกว่าตนเองถูกรุกไล่จนสูญเสียผลประโยชน์ พลังอนุรักษนิยมที่ออกมาต่อต้านเหล่านี้ซ้อนตัวอยู่เบื้องหลังสนธิและจำลองและได้ประดิษฐ์คำว่า “ตุลาการภิวัตน์” ขึ้นมาเพื่อใช้เป็นเครื่องมือทางกฎหมายเล่นงานทักษิณและพลังที่ก้าวหน้ามาจนถึงทุกวันนี้ภายใต้ของคำอ้างว่าเพื่อปกป้องสถาบันซึ่งเป็นเหมือนยาสามัญประจำบ้านที่อยู่เบื้องหลังรัฐธรรมนูญปี 2550 และ 2560 อันทรงพลัง

เมื่อทักษิณคิดจะกลับมามีอำนาจในยุคที่ 2 โดยผ่านยิ่งลักษณ์ ชินวัตร น้องสาวของตนเองในนามพรรคเพื่อไทย ก็ได้แปรเปลี่ยนนโยบายใหม่ที่เอาใจทุนชาติขนาดใหญ่มากขึ้นแต่ยังคงรักษาภาพลักษณ์ที่ส่งเสริม SME เพื่อเอาใจนายทุนน้อยต่อไปโดยผ่านโครงการก่อสร้างสาธารณูปโภคขนาดใหญ่ เช่นรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนในเขตกทม. และโครงการรถไฟฟ้าความเร็วสูง แต่การพลาดพลั้งของนโยบายนิรโทษกรรมแบบเหมาเข่งเป็นฟางเส้นสุดท้ายที่เปิดช่องให้พวกอนุรักษนิยมนำโดยกปปส.สร้างสถานการณ์ที่นำไปสู่การรัฐประหารปี 2557 โดยคสช. และคสช.ก็ร่างรัฐธรรมนูญขึ้นมาใหม่เพื่อสืบทอดอำนาจโดยการออกกฎหมายเลือกตั้งฉบับพิสดารของมีชัย ฤชุพันธุ์ ที่ขัดขวางไม่ให้พรรคเพื่อไทยที่ได้เสียงข้างมากในกลุ่มสส.เขตต้องสูญเสียคะแนนเสียงในปาร์ตี้ลิสต์ไปจนหมดสิ้นปิดโอกาสเป็นแกนนำในการตั้งรัฐบาลผสม

แต่สิ่งที่พวกอนุรักษนิยมไม่คาดหมายได้เกิดขึ้นเมื่อคะแนนเสียงในปาร์ตี้ลิสต์ส่วนใหญ่กลับเทไปให้พรรคเกิดใหม่อย่างพรรคอนาคตใหม่  จนพวกอนุรักษนิยมต้องใช้กลยุทธ์หักดิบโดยการตัดสิทธิ์ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ จนหมดอนาคตทางการเมือง และตามมาด้วยการยุบพรรคอนาคตใหม่

ผลการเลือกตั้งครั้งล่าสุดปี 2566 ที่รื้อฟื้นกฎหมายการเลือกตั้งปี 2544 มาใช้อีกครั้งทำให้พรรคเพื่อไทยคิดจะกลับมาใหม่โดยการเสนอ นโยบายประชานิยมแบบสุดขั้วในโค้งสุดท้ายก่อนการเลือกตั้งด้วยการแจกเงินสดในรูปกระเป๋าเงินดิจิทัลให้ประชาชนที่มีอายุเกิน 18 ปีคนละ 10,000 บาทเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในท้องถิ่นรัศมีไม่เกิน 4 กม.ตามทะเบียนบ้าน กลับได้คะแนนเสียงต่ำกว่าพรรคก้าวไกลที่นำเสนอนโยบายที่ก้าวหน้ากว่า เช่น ยกเลิกการเกณฑ์ทหาร ยกเลิกมาตรา 112

นโยบายแก้ปัญหาปากท้องก่อนสร้างเสรีภาพของพรรคเพื่อไทยได้รับการตอบรับจากประชาชนต่ำเกินคาดหมายเมื่อผลการเลือกตั้งพรรคก้าวไกลกลับได้คะแนนเสียงมากเป็นอันดับหนึ่ง แต่ไม่เพียงพอที่จะจัดตั้งรัฐบาลได้เนื่องจากขาดเสียงสนับสนุนจากสว.

ท้ายสุดก็เกิดการหักดิบอีกครั้งด้วยตุลาการภิวัตน์เมื่อศาลรัฐธรรมนูญตัดสิทธิการดำรงตำแหน่งทางการเมืองของพิธา ลิ้มเจริญรัตน์หัวหน้าพรรคก้าวไกล สบช่องให้พรรคเพื่อไทยหักหลังพรรคก้าวไกลให้ออกไปเป็นฝ่ายค้าน และตั้งตัวเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลผสมข้ามขั้วพร้อมกับเปลี่ยนแปลงนโยบายที่ประกาศไว้ก่อนการเลือกตั้ง เป็นการแจกเงินสดที่มาจากการกู้เงิน 5.5 แสนล้านบาทให้ประชาชนที่มีรายได้ไม่เกินคนละ 70,000 บาทต่อเดือนและต้องมีเงินฝากไม่เกิน 500,000 บาท โดยร้านค้าที่เข้าร่วมโครงการต้องอยู่ในระบบ VAT เท่านั้นซึ่งเท่ากับเปิดช่องให้กลุ่มทุนใหญ่ได้รับประโยชน์อย่างเต็มที่และเป็นปฏิบัติการต้อนหมูเข้าเล้า

แนวทางและมาตรการของพรรคเพื่อไทยที่เปลี่ยนไปนี้สะท้อนให้เห็นถึงพัฒนาการของกลยุทธ์สู้ไปกราบไป  โดยเฉพาะยุคหลังสุดจะเห็นถึงการประนีประนอมกับอำนาจอนุรักษนิยมอย่างชัดเจนเพียงเพื่อแลกเปลี่ยนกับการให้ทักษิณได้กลับบ้าน การรับโทษจึงทำเพียงพอเป็นพิธี

บทวิเคราะห์ด้วยเศรษฐศาสตร์การเมืองแบบมาร์กซิสม์ที่กล่าวมานี้อาจจะไม่ถูกใจผู้อ่านและบรรดาสาวกของทักษิณ

Back to top button