สูตรลัดเข้าสู่การรู้จักบริษัทในโลกทุนนิยม

เมื่อพูดถึงบริษัทต่าง ๆ ในโลกนี้จะขออนุญาตผู้อ่านเอามะพร้าวห้าวมาขายสวนสักเล็กน้อย เพื่อจะได้เข้าใจตรงกันนะครับ


เมื่อพูดถึงบริษัทต่าง ๆ ในโลกนี้จะขออนุญาตผู้อ่านเอามะพร้าวห้าวมาขายสวนสักเล็กน้อย เพื่อจะได้เข้าใจตรงกันนะครับ

บริษัททั้งหลายในโลกทุนนิยมนั้นจะเรียกว่าบริษัทจำกัดเพราะต้องระบุเงินทุนจดทะเบียนเพื่อจำกัดความรับผิดชอบหากบริษัทเกิดความเสียหายขึ้นจนถึงขั้นต้องล้มเลิกกิจการ เจ้าหนี้ของบริษัทจะได้รับชำระหนี้ไม่เกินเงินทุนจดทะเบียน เริ่มต้นตั้งแต่บริษัทเริ่มก่อตั้งขึ้นมาแบบสตาร์ทอัพ ซึ่งเกิดขึ้นมาตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์เรียกกันว่าเป็นบริษัทเอกชนจำกัด ซึ่งบริษัทเอกชนเหล่านี้จะขายหุ้นให้กับสาธารณชนไม่ได้จึงต้องขายหุ้นให้บุคคลในวงจำกัด ไม่เหมือนกับบริษัทมหาชนที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายบริษัทมหาชนเพื่อการระดมทุนจากสาธารณะ บริษัทในตลาดหุ้นทั้งหมดจึงเป็นบริษัทมหาชนทั้งนั้น

บริษัทในตลาดหุ้นทั้งหมดถูกบังคับด้วยข้อกฎหมายบริษัทมหาชนให้ต้องแปลงกายเป็นบริษัทมหาชนจำกัดที่มีข้อกฎหมายเข้มงวดให้เปิดเผยข้อมูลทั้งหมดของบริษัทแลกกับการได้สิทธิระดมทุนจากสาธารณะ

สำหรับบริษัทเอกชนจำกัดทั่วไปมีกฎหมายบังคับว่าจะต้องมีผู้ตรวจสอบบัญชีปีละอย่างน้อย 1 ครั้ง ซึ่งบริษัทเหล่านี้บางบริษัทก็เก่าแก่มีอายุยาวนานโดยไม่ต้องเพิ่มทุนเลย เช่น บริษัท บุญรอดบริวเวอรี่ จำกัดของไทยที่มีเงินสดในมือมากจนไม่ต้องเพิ่มทุน และบริษัท คาร์กิลล์ จำกัดของอเมริกาก็เป็นบริษัทเอกชนที่ใหญ่ที่สุดในโลก

บริษัทเอกชนจำกัดโดยทั่วไปมักจะเป็นที่รู้กันในหมู่นักบัญชีว่ามักจะมีบัญชีและงบการเงิน 3 ชุด

บัญชีแรกเป็นงบที่ส่งให้ผู้ถือหุ้นรับทราบ

บัญชีที่สอง เป็นบัญชีที่ส่งให้กรมพัฒนาธุรกิจการค้าที่เป็นนายทะเบียน

บัญชีที่สาม เป็นบัญชีที่ส่งให้สรรพากร

แต่บริษัทมหาชนจำกัดจะมีเพียงบัญชีเดียว ซึ่งจะเห็นถึงความโปร่งใสมากกว่า

ในหนังสือ The Practice of Management ของปีเตอร์ ดรักเกอร์ ปรมาจารย์ระดับโลกด้านการจัดการธุรกิจ ชี้ว่าโครงสร้างสำคัญของบริษัททุกประเภทจะต้องประกอบด้วยงบการเงิน แผนการตลาดและแผนการจัดการทรัพยากรโดยมีเป้าหมายว่าจะต้องทำกำไรแม้ว่าจะประกาศว่าบริษัทที่ไม่แสวงหากำไรทางการขายสินค้าและบริการแต่ก็สามารถทำกำไรพิเศษได้ ยกเว้นองค์กรของรัฐและรัฐวิสาหกิจบางแห่งที่สามารถขาดทุนได้เพราะรัฐบาลให้เงินสนับสนุนสภาพคล่อง อย่างกรณีของไทยก็มี บริษัท ขนส่งมวลชนกรุงเทพฯ (ขสมก.) จำกัด และการรถไฟแห่งประเทศไทย (รัฐวิสาหกิจ) ที่ขาดทุนอย่างต่อเนื่องทุกปี

ภายใต้โครงสร้างของบริษัทจำกัดที่ปีเตอร์ ดรักเกอร์ อธิบายว่าจะต้องทำกำไรดังกล่าวก็ได้กลายเป็นเครื่องชี้วัดคุณภาพของผู้บริหารซึ่งดรักเกอร์แบ่งเป็น 2 ประเภท คือ นักฝัน และ นักสู้เพื่อกอบกู้กิจการ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับพฤติกรรมของผู้บริหารซึ่งมีกลยุทธ์ที่แตกต่างกัน

ในกรณีการเติบโตของกิจการนั้นดรักเกอร์ได้แบ่งออกเป็น 2 กลุ่มที่ชัดเจน คือ กลุ่มแรกเติบโตแบบอินทรีย์ (Organic growth) หมายถึงการเติบโตเชิงปริมาณด้วยทรัพยากรภายในของกิจการเป็นหลัก กลุ่มที่สองเป็นการเติบโตแบบอนินทรีย์ (Inorganic growth) หมายถึงการเติบโตโดยทางลัดด้วยการระดมทุนจากตลาดหุ้น

เมื่อเป็นเช่นนี้จะเห็นได้ว่าเส้นทางการเติบโตของบริษัทมหาชนที่จดทะเบียนในตลาดหุ้น (บมจ.) จะต้องมีเส้นทางที่หวือหวามากกว่าปกตินับตั้งแต่การเริ่มแต่งตัวเพื่อยื่นจดทะเบียนกับก.ล.ต.โดยกำหนดราคา IPO ที่สูงกว่า Book Value แล้วปล่อยให้นักลงทุนสาธารณะเข้าไปเสี่ยงกับราคาในตลาดเอง

สูตรลัดของบริษัทในโลกทุนนิยมเหล่านี้ล้วนมาในแนวเดียวกันทั้งสิ้น นั่นคือการโยนความเสี่ยงและโอกาสให้กับสาธารณะและผู้ถือหุ้น

Back to top button