พาราสาวะถี

จัดสัมมนาใหญ่ของพรรคเพื่อไทยที่โคราช นอกเหนือจากการเป็นการเปิดตัวหัวหน้าพรรคคนใหม่ “อุ๊งอิ๊ง” พร้อมกรรมการบริหารพรรคอย่างเป็นทางการแล้ว ยังเป็นการพบปะ แลกเปลี่ยน รับฟังปัญหาของบรรดาสมาชิก


จัดสัมมนาใหญ่ของพรรคเพื่อไทยที่โคราชระหว่างวันที่ 6-7 ธันวาคม นอกเหนือจากการเป็นการเปิดตัวหัวหน้าพรรคคนใหม่ “อุ๊งอิ๊ง” แพทองธาร ชินวัตร พร้อมกรรมการบริหารพรรคอย่างเป็นทางการแล้ว ยังเป็นการพบปะ แลกเปลี่ยน รับฟังปัญหาของบรรดาสมาชิกที่มีทั้ง รัฐมนตรี สส. และข้าราชการการเมือง (อันหมายถึงพวก สส.สอบตกเป็นส่วนใหญ่) เพื่อจัดวางจังหวะก้าว การขับเคลื่อนสู่อนาคตของพรรค การได้ลูกสาวคนเล็กของ ทักษิณ ชินวัตร มาเป็นผู้นำ และพรรคเป็นแกนนำรัฐบาล น่าจะเป็นโอกาสพลิกฟื้นครั้งใหญ่ หลังจากที่ซบเซากันมาร่วม 10 ปี

งานนี้ เศรษฐา ทวีสิน ในฐานะสมาชิกพรรคต้องเข้าร่วมอยู่แล้ว แต่ด้วยบริบทของผู้นำประเทศจึงไม่อาจจะอยู่ร่วมจนจบงานได้ แค่ไปให้เห็นหน้า โชว์วิสัยทัศน์ รับฟังความเดือดร้อนของประชาชนผ่านตัวแทน แล้วบอกว่าจะเร่งแก้ไขให้ พร้อมประกาศย้ำชัดถึงนโยบายหลัก ๆ ที่จะขับเคลื่อนเท่านี้ก็ทำให้หัวใจของสมาชิกพรรคและกองเชียร์พองโตกันแล้ว ส่วนเรื่องการขบเหลี่ยมกันระหว่างนายกรัฐมนตรีกับหัวหน้าพรรคนั้นไม่มีอย่างแน่นอน

รับประกันจากแกนนำสำคัญภายในพรรค ถือเป็นบริบทการทำงานที่คล้ายคลึงกับยุคของ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่คนเป็นผู้นำประเทศมีหน้าที่ไปขับเน้นเรื่องที่เป็นนโยบาย โชว์ศักยภาพในการบริหารได้อย่างเต็มที่ ไม่ต้องห่วงเรื่องการบริหารภายในพรรค แต่หนนี้ต่างออกไป เพราะชั้นเชิงของคนที่เป็นนายกฯ ไม่ธรรมดา กล้าคิด กล้าตัดสินใจ และตรงไปตรงมา จึงทำให้พรรคไม่ต้องพะวักพะวงงานในสภาฯ การที่ผู้นำประเทศกล้าที่จะไปเผชิญหน้ากับการตั้งคำถามในสภาหินอ่อน ถือเป็นสิ่งที่ทำให้ สส.ของพรรคการเมืองนั้นก็พร้อมที่จะทำหน้าที่องครักษ์ปกป้องชนิดถวายหัวเช่นกัน

ขณะเดียวกัน หัวหน้าพรรคก็ถือว่าแข็งแกร่ง ไม่ใช่ด้วยความเป็นลูกสาวของอดีตผู้นำที่สมาชิกพรรคทุกคนศรัทธา เชื่อมั่น แต่ศักยภาพในการเป็นนักการเมืองนั้น ได้แสดงให้เห็นแล้วว่ามีไม่ยิ่งหย่อนกว่าผู้พ่อ มิหนำซ้ำ บางเรื่องยังมองกันว่าน่าจะเด็ดขาดกว่าอีกต่างหาก อาจจะด้วยความเป็นคนรุ่นใหม่ เรียนรู้การเมืองที่ผิดพลาดในอดีตนำมาปรับแก้ หัวใจสำคัญคือ เน้นการรับฟังเสียงสะท้อนจากสมาชิกโดยเฉพาะ สส.มากขึ้น ไม่ทุบโต๊ะสั่งเปรี้ยงเหมือนที่ผ่านมา

ว่ากันว่า จากบทเรียนที่ตกเป็นผู้ถูกกระทำตั้งแต่พรรคไทยรักไทย เรื่อยมาจนถึงพลังประชาชน และการผลักดันร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมสุดซอย ทำให้นายใหญ่รู้แล้วว่าการเหลิงในอำนาจนั้นผลเสียเป็นอย่างไร ขนาดที่ว่ามีเสียงข้างมากในสภาแบบพรรคเดียวยังไม่สามารถนั่งอยู่ในอำนาจได้ครบเทอม ไปเร็วกว่าการเป็นรัฐบาลผสมเสียด้วยซ้ำ ดังนั้น การพลิกขั้วตั้งรัฐบาลในครั้งนี้ ไม่ว่าจะเดินหน้าเรื่องใดคณะทำงานของเพื่อไทยจะรัดกุม ตั้งการ์ดสูง และสอบทานเสียงต้านโดยเฉพาะพวกชนชั้นอีลิทที่มีพลังต่อการเมืองของประเทศ

การจัดสัมมนาเที่ยวนี้ของเพื่อไทยจึงไม่ได้เป็นเพียงการกระชับความสัมพันธ์ รับฟังปัญหาโดยฝ่ายรัฐบาลเพื่อการขับเคลื่อนนโยบายแก้ไขปัญหาสร้างความพึงพอใจให้กับประชาชนเท่านั้น ยังเป็นการเตรียมความพร้อมก่อนที่สมัยประชุมของสภาฯ เปิดในวันที่ 12 ธันวาคมนี้ ซึ่งมีทั้งร่างกฎหมายของรัฐบาลที่ต้องผลักดันหลายเรื่อง แต่หลัก ๆ ที่สำคัญคือ ร่าง พ.ร.บ.กู้เงิน 5 แสนล้านบาทในการเดินหน้าโครงการดิจิทัลวอลเล็ต ตรงนี้อาจต้องรอผลจากคณะกรรมการกฤษฎีกาประกอบ การแก้ไขรัฐธรรมนูญ และร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมที่ต้องทำประกบกับร่างของพรรคก้าวไกล

ทั้งหมดนี้ต้องอาศัยการทำงานที่สอดประสานกันระหว่างพรรคกับรัฐบาล ในฐานะผู้ดูแลฝ่ายนิติบัญญัติกับฝ่ายบริหาร โดยมีเป้าหมายคือ ทำให้ประชาชนพอใจ ตรงกับความต้องการมากที่สุด ซึ่งจะส่งผลต่อการเลือกตั้งครั้งหน้าด้วย ทั้งนี้ร่าง พ.ร.บ.กู้เงิน และการแก้ไขรัฐธรรมนูญอาจมีเวลาที่จะคิดอ่าน ดำเนินการได้ แต่กฎหมายนิรโทษกรรม กำลังถูกรุกหนักจากการขยับของพรรคแกนนำฝ่ายค้าน และมีการตั้งคำถามถึงความจริงใจจากรัฐบาลโดยเฉพาะเพื่อไทยที่ชูธงก้าวข้ามความขัดแย้ง

ในมุมของกลุ่มที่ต้องการให้ความขัดแย้งหมดไปก็เห็นว่า การจะทำให้ทุกฝ่ายหันหน้ามาสามัคคีกันได้นั้น จะต้องหาจุดร่วม ซึ่งตั้งแต่เกิดกลุ่มเคลื่อนไหวทางการเมืองนับตั้งแต่ระบอบสนธิ-จำลอง ตั้งแต่ปี 2548 เรื่อยมาถึงกลุ่มคนเสื้อแดง ม็อบนกหวีด กระทั่งกลุ่มคนรุ่นใหม่ในยุคของรัฐบาลเผด็จการ คสช.และรัฐบาลสืบทอดอำนาจ ที่เป็นปุจฉามากที่สุดคือกระบวนการยุติธรรม โดยเฉพาะกระบวนการยุติธรรมตั้งต้นที่ถูกมองว่ามีการใช้เป็นเครื่องมือทางการเมือง

ส่วนผลของการตัดสินคดีอยู่ที่ดุลยพินิจของศาลยุติธรรม ไม่มีใครไปก้าวล่วงได้ พยาน หลักฐานมีมาอย่างไร ไม่สามารถที่จะเปลี่ยนแปลงได้ แต่สิ่งที่เป็นคำถามจากสังคมโดยเฉพาะช่วงหลังของการถูกดำเนินคดีสำหรับแกนนำคนรุ่นใหม่ในคดีมาตรา 112 ส่งผลให้หลายคนหมดอนาคต จึงเริ่มมีความเห็นว่าคดีในลักษณะดังกล่าว รวมถึงคดีในทางการเมืองที่ไม่เกี่ยวกับการทุจริต หากสามารถพิสูจน์ได้ว่าเป็นการจงใจเล่นงานกันทางการเมืองก็ควรที่จะได้รับการยกโทษ เพื่อให้ประเทศก้าวไปข้างหน้าได้

ไม่ว่าจะอย่างไร เมื่อมีประเด็นที่เกี่ยวข้องกับมาตรา 112 ถือเป็นเรื่องอ่อนไหวสำหรับพรรคการเมือง ส่วนของก้าวไกลในฐานะพรรคที่เสนอแก้ไขมาตราดังกล่าวอยู่แล้ว จึงไม่ได้ติดขัดที่จะเสนอร่างกฎหมายนิรโทษกรรมกับคดีที่เกี่ยวพันในเรื่องนี้ จึงอยู่ที่การตัดสินใจในพรรคซีกรัฐบาลว่าจะดำเนินการกันแบบไหน เสนอในนามรัฐบาลหรือแต่ละพรรคแยกกันเสนอเพื่อความสบายใจของทุกฝ่าย สุดท้ายก็ต้องไปว่ากันในสภาที่เมื่อผ่านขั้นตอนของ สส.แล้ว ก็ยังมีพวกลากตั้งคัดกรองอีกชั้น

ประเมินจากท่าทีของเพื่อไทย น่าจะเป็นการให้ทุกพรรคเสนอเป็นร่างกฎหมายที่มีหลักการเดียวกันหรือใกล้เคียง ตามขั้นตอนจะรวมพิจารณาและรับหลักการทุกร่าง แต่จะใช้ร่างรัฐบาลเป็นหลัก และตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณา ซึ่งจะเป็นเวทีในการปรับแก้เพื่อให้พอใจทั้งฝ่ายค้านและรัฐบาล เพราะจะมีการเชิญตัวแทนจากกลุ่มที่เกี่ยวข้องมาร่วมเป็นกรรมาธิการด้วย เดินกันตามนี้น่าจะคุมทิศทางกันได้ ส่วนจะเกิดวิวาทะหรือขัดแย้งทางความคิดกันหรือไม่ อยู่ที่ท่าทีของก้าวไกลและพวกลากตั้งเป็นด้านหลัก

Back to top button