พาราสาวะถีอรชุน
นับวันพฤติกรรมยิ่งกว่านักการเมืองกันเข้าไปใหญ่ ล่าสุดเป็นคิวของ กอบกาญจน์ วัฒนวรางกูร รัฐมนตรีท่องเที่ยวและกีฬา อ้างว่าการบริหารงานของกระทรวงท่องเที่ยวที่ผ่านมามีปัญหาจากการครอบงำและแทรกแซงจากนักการเมือง ก่อนที่จะแสดงความพออกพอใจต่อตัวเลขนักท่องเที่ยวปี 2558 ที่คาดว่าจะมีจำนวน 29.6 ล้านคน
นับวันพฤติกรรมยิ่งกว่านักการเมืองกันเข้าไปใหญ่ ล่าสุดเป็นคิวของ กอบกาญจน์ วัฒนวรางกูร รัฐมนตรีท่องเที่ยวและกีฬา อ้างว่าการบริหารงานของกระทรวงท่องเที่ยวที่ผ่านมามีปัญหาจากการครอบงำและแทรกแซงจากนักการเมือง ก่อนที่จะแสดงความพออกพอใจต่อตัวเลขนักท่องเที่ยวปี 2558 ที่คาดว่าจะมีจำนวน 29.6 ล้านคน
งานนี้ทำเอา นิพิฎฐ์ อินทรสมบัติ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ควันออกหู ก่อนจะย้อนกลับว่า ไม่คิดว่ารัฐมนตรีท่องเที่ยวฯจะติดนิสัยคิดไม่ออกก็ด่านักการเมืองไว้ก่อน ทั้งที่สิ่งที่พูดนั้นไม่เป็นความจริง ซึ่งตอนนี้ใครที่ด่านักการเมืองได้ดูเหมือนจะเป็นคนดีในสายตาประชาชน เพราะประชาชนได้รับข้อมูลฝ่ายเดียว ประชาชนควรรับรู้ข้อมูลที่เป็นจริงในประเทศด้วย
ตัวเลขนักท่องเที่ยวแม้ไม่มีรัฐมนตรีก็เพิ่มอยู่แล้ว และตัวเลขในขณะที่กอบกาญจน์อยู่ในตำแหน่งก็เพิ่มขึ้นน้อย ไม่ได้น่าภูมิใจ จะเห็นว่าในระยะหลังจำนวนนักท่องเที่ยวจะเพิ่มขึ้นทุกปีปีละ 3-4 ล้านคน หากคิดอัตราปกติปีนี้ควรจะมีนักท่องเที่ยว 32-33 ล้านคน แต่ที่แถลงอย่างภูมิใจว่าปีนี้มีนักท่องเที่ยว 29.6 ล้านคน ไม่รู้ว่าน่าดีใจตรงไหน ที่ตัวเลขพลาดเป้าไปหลายล้าน
นอกเหนือจากการตอบโต้รัฐมนตรีท่องเที่ยวแล้ว นิพิฎฐ์ยังเสนอแนะต่อผู้มีอำนาจด้วยความหวังดีด้วยว่า ควรอยู่กันอย่างยอมรับความจริงกันดีกว่า อยู่อย่างให้เกียรติซึ่งกันและกัน การด่านักการเมืองอย่างไม่มีเหตุผลไม่ทำให้กอบกาญจน์ดูดีขึ้นแต่กลับแย่ลงกว่าเดิมอีก หากประชาชนได้ทราบความจริงครบถ้วน เพราะปีนี้ที่ภูเก็ตคนที่นั่นยังพูดกันว่าไม่มีไฮซีซั่น
สไตล์คนประชาธิปัตย์แนะนำให้กอบกาญจน์ลองลาออกจากตำแหน่งแล้วให้ปลัดกระทรวงรักษาการแทน รับรองนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นแน่นอน เผลอๆอาจจะเพิ่มขึ้นมากกว่าตอนที่มีรัฐมนตรีเสียอีก ก่อนที่จะออกตัวขออภัยหากความจริงนี้ทำให้ไม่สบายใจ แต่ความจริงก็คือความจริง นักการเมืองคนอื่นอาจไม่ออกมาตอบโต้ แต่ตนคงจะไม่ยอมให้ใส่ร้ายนักการเมืองโดยไม่มีเหตุผล
เช่นเดียวกับ ภูมิธรรม เวชยชัย รักษาการเลขาธิการพรรคเพื่อไทย ที่จับอาการของ สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกรัฐบาลที่โยนความผิดให้กับอดีตส.ส.เพื่อไทยหลังจากท้วงติงเรื่องโครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค โครงการ 30 บาทจะถูกยกเลิกหรือจะเปลี่ยนแปลงเพราะรัฐบาลแบกภาระไม่ไหวนั้น เป็นคำพูดที่ออกมาจากปากของผู้นำและรัฐมนตรีในรัฐบาลทั้งสิ้น แต่เพียงชั่วค่ำคืนกลับพลิกกลับว่าไม่ได้พูด แล้วยังจะเหลือสิ่งใดให้มีความน่าเชื่อถือน่ารับฟังอยู่อีก
ก่อนที่เสี่ยอ้วนจะตั้งคำถามว่า ก่อนจะถามหาจริยธรรมของผู้อื่นควรเริ่มต้นค้นดูจริยธรรมของตนเองก่อนดีกว่าหรือไม่ว่าจะหาได้สักเท่าใด รวมไปถึงกรณีการเปิดใจให้ความจริง เพราะตนแค่เริ่มต้นสะท้อนความรู้สึกของคนส่วนใหญ่ที่ยังลำบากอยู่ให้รัฐบาลทราบว่าถ้ายกเลิก คนส่วนใหญ่ของประเทศจะเดือดร้อนหนัก ถ้ารัฐบาลไม่มีความสามารถจะบริหารก็หลีกทางให้คนที่เขาทำได้มาทำ เสนอแค่นี้ก็ทนฟังไม่ได้ แล้วจะไปรับฟังความเห็นเรื่องใหญ่ๆที่จะนำไปแก้ปัญหาต่างๆของประเทศได้อย่างไร
ถ้าเช่นนั้นก็น่าเสียดายที่รัฐบาลนี้ได้ชื่อว่ามาจากนายทหารใหญ่เกือบทั้งคณะน่าจะมีความอดทนกว่ารัฐบาลนักการเมือง แต่กลายเป็นพวกจุดเดือดต่ำนั่นคงเป็นเพราะทั้งชีวิตที่ผ่านมาถนัดแต่สั่งให้ลูกน้องผู้ใต้บังคับบัญชาซ้ายหันขวาหัน พอมาเป็นรัฐบาลจึงอยากให้ประชาชนเป็นเช่นนั้นบ้าง มิเช่นนั้น นักวิชาการคงไม่ออกมาเรียกร้อง มหาวิทยาลัยไม่ใช่ค่ายทหารและประเทศไทยไม่ใช่ค่ายกักกัน
แต่จะว่าไปแล้วก็ถือเป็นความโชคร้ายของประเทศไทย ที่คนส่วนหนึ่งซึ่งได้ชื่อว่าเป็นนักวิชาการผู้กล้าหาญชาญชัยหลายรายที่ชอบวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลเลือกตั้งโดยเฉพาะจากพรรคของทักษิณ ชินวัตรและเครือข่าย แต่กับรัฐบาลทหารกลับนิ่งสนิท ปิดปากเงียบ ทั้งๆที่มีหลายเรื่องประชาชนคนทั่วไปมองเห็นว่าไม่น่าจะเป็นการดำเนินการที่ถูกต้องเท่าไหร่
ยกตัวอย่างเช่น รัฐบาลทหารกำลังเดินหน้าโครงการรถไฟความเร็วปานกลางด้วยเงินงบประมาณลงทุนที่สูงกว่าเมื่อคราวรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร หลายช่วงตัว ซึ่งเวลานั้นจะเห็นการกล่าวหาทั้งภาระเป็นหนี้ชั่วลูกชั่วหลานและการลงทุนที่แสนแพง แต่กรณีนี้พิสูจน์กันชัดๆว่าราคาต่อกิโลเมตรนั้นของรัฐบาลทหารสูงกว่ามหาศาลทั้งที่ไม่ใช่รถไฟความเร็วสูง
แต่ก็แปลกที่พวกปากดีทั้งหลายกลับเงียบเฉยเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น จนกระทั่งมีบางคนออกมาตั้งข้อสังเกตว่านี่น่าจะเป็นอาการวิปริตพิสดารอยู่ไม่น้อย ความจริงน่าจะมีใครบางคนไปถามอดีตตุลาการศาลรัฐธรรมนูญที่วันนี้ได้ดิบได้ดีไปนั่งเป็นรองประธานกรธ. ไม่คิดจะออกมาท้วงติงหน่อยหรือ หลังจากที่ก่อนหน้านั้นเคยงัดเอาความคิดดึกดำบรรพ์มาตั้งคำถามรัฐบาลยิ่งลักษณ์ว่า รอถนนลูกรังหมดไปจากประเทศก่อนค่อยสร้างรถไฟความเร็วสูง ทำให้คนไทยอึ้งกันไปทั้งประเทศ
เห็นทัศนคติที่เต็มไปด้วยอคติและความคร่ำครึเช่นนี้ของผู้ทำหน้าที่ในองค์กรอิสระแล้ว ทำให้นึกถึงการที่กรธ.จะยกอำนาจถอดถอนของส.ว.ไปให้องค์กรเหล่านั้นวินิจฉัย ไม่อยากคิดว่าบ้านเมืองมันจะบรรลัยวายวอดขนาดไหน ซึ่งก็คงไม่ต่างจากเรื่องการให้ส.ว.มีที่มาจากการเลือกตั้งทางอ้อมที่ยืนยันกันว่าจะไม่มีการฮั้วหรือบล็อกโหวตได้ โดยที่หลายฝ่ายมั่นใจว่าขึ้นชื่อผลประโยชน์ แม้จะอ้างความเป็นกลุ่มทางสังคม แต่เชื่อว่าต้องมีการหาช่องทางตกลงและแลกเปลี่ยนการลงคะแนนให้กันได้อยู่แล้ว