พาราสาวะถี
บอกแล้วว่านี่คือคุณสมบัติของนายกรัฐมนตรีที่ชื่อ เศรษฐา ทวีสิน ตรงไปตรงมา อะไรชอบไม่ชอบ รับได้ไม่ได้ จะสื่อสารตรงไปยังผู้บังคับบัญชาและหน่วยงานที่รับผิดชอบ
บอกแล้วว่านี่คือคุณสมบัติของนายกรัฐมนตรีที่ชื่อ เศรษฐา ทวีสิน ตรงไปตรงมา อะไรชอบไม่ชอบ รับได้ไม่ได้ จะสื่อสารตรงไปยังผู้บังคับบัญชาและหน่วยงานที่รับผิดชอบ เหมือนกรณีที่เรียก พลตำรวจโท จิรสันต์ แก้วแสงเอก ผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 1 พลตำรวจโท ฐากูร นัทธีศรี ผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 3 และพลตำรวจตรี ณรงค์ฤทธิ์ ด่านสุวรรณ์ ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดนครราชสีมา มาคุยที่โรงแรมเดอะ กรีนเนอร์รี รีสอร์ท เขาใหญ่ เมื่อเย็นวันพุธที่ผ่านมา
อันเนื่องมาจากเกิดเหตุแก๊งเงินกู้บุกพังร้านอาหารกลางดึก ที่จังหวัดชัยนาท หลังลูกหนี้ขึ้นทะเบียนแก้หนี้นอกระบบกับรัฐบาล เป็นความเหิมเกริม ท้าทาย ทั้งที่วันนี้ (8 ธันวาคม) เศรษฐาได้เรียกนายอำเภอและผู้กำกับการทุกโรงพัก มารับมอบนโยบายและสั่งการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบเป็นวาระแห่งชาติ ให้สางปัญหาจบในระดับพื้นที่ โดยที่เจ้าตัวบอกกับนายตำรวจใหญ่ทั้ง 3 นายที่เรียกพบว่า เหตุที่ชัยนาทเป็นอะไรที่ตนรับไม่ได้ ตนบอกไปว่าต้องจัดการให้เด็ดขาด ต้องสาวให้ถึงตัวคนทำให้ได้และถือเป็นกรณีตัวอย่าง
การเกิดเหตุก่อนที่รัฐบาลจะประกาศเป็นวาระแห่งชาติ ถือว่าท้าทายอย่างมาก บ้านเมืองมีกฎหมาย คงไม่ใช่เพียงแค่ระดับผู้บัญชาการภาคและผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดที่นายกฯ สั่งการโดยตรง แต่ระดับบริหารคือ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติคงรับนโยบายนี้จากเศรษฐาในฐานะที่กำกับดูแลสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ไปปฏิบัติเพื่อให้เห็นผล ต้องปราศจากผู้มีอิทธิพล นายทุนหน้าเลือด เจ้าหนี้นอกระบบโหด เหมือนที่เจ้าตัวเคยบอกไป ปัญหาหนี้นอกระบบเหมือนการค้าทาสยุคใหม่นั่นเอง
อย่างไรก็ตาม จากการเปิดเผยข้อมูลตัวเลขของผู้ลงทะเบียนแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบ จากข้อมูลของสำนักการสอบสวนและนิติการ กรมการปกครอง โดย สุทธิพงษ์ จุลเจริญ น่าสนใจตรงที่ว่า การเปิดลงทะเบียน 6 วันจนถึงวันที่ 6 ธันวาคม มีผู้ลงทะเบียนรวมทั้งสิ้น 68,651 ราย รวมจำนวนเจ้าหนี้ 40,903 ราย มีมูลหนี้รวม 3,316.060 ล้านบาท มองจากตัวเลขสัดส่วนของจำนวนลูกหนี้และเจ้าหนี้ กับมูลหนี้แล้วจะเห็นได้ชัดว่ามูลค่าความเดือดร้อนของประชาชนต่อการตกเป็นทาสพวกปล่อยกู้ผิดกฎหมายนั้น มหาศาลขนาดไหน
ตรงนี้แหละที่คนจำนวนไม่น้อยเกรงว่า เมื่อดำเนินการกันไปแล้วจะกลายเป็นการลูบหน้าปะจมูก ด้วยจำนวนเงินที่เป็นผลประโยชน์ก้อนใหญ่ และผู้ที่ปล่อยเงินกู้เหล่านี้น่าจะมีทั้งที่เป็นผู้มีอำนาจรัฐ หรือใช้เครือข่ายอำนาจรัฐในการคุ้มกะลาหัว หากไม่เด็ดขาด จริงจัง ก็น่าจะล้างปัญหาที่หมักหมมได้ยาก ตัวเลขที่น่าขีดเส้นใต้อีกประการจากกระทรวงมหาดไทยก็คือ จำนวนผู้ที่มาลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการนั้น เรียงจากมากไปหาน้อย ก็จะพบว่า จังหวัดที่มีขนาดใหญ่และความเจริญมากเท่าไหร่ ลูกหนี้นอกระบบก็จะเยอะตามไปด้วย
โดย 5 ลำดับแรกของจังหวัดผู้ที่มีคนมาลงทะเบียนแก้หนี้นอกระบบมากที่สุดคือ กรุงเทพฯ 4,449 ราย เจ้าหนี้ 3,234 ราย มูลหนี้ 278.662 ล้านบาท สงขลา 2,912 ราย เจ้าหนี้ 1,813 ราย มูลหนี้ 162.672 ล้านบาท นครศรีธรรมราช 2,863 ราย เจ้าหนี้ 1,867 ราย มูลหนี้ 133.738 ล้านบาท นครราชสีมา 2,752 ราย เจ้าหนี้ 1,379 ราย มูลหนี้ 180.883 ล้านบาท และขอนแก่น 1,705 ราย เจ้าหนี้ 1,079 ราย มูลหนี้ 89.757 ล้านบาท สูงทั้งจำนวนคนและตัวเลขเม็ดเงินที่ต้องใช้หนี้
ส่วนจังหวัดที่มีผู้ลงทะเบียนน้อยที่สุด 5 ได้แก่ แม่ฮ่องสอน 87 ราย เจ้าหนี้ 48 ราย มูลหนี้ 3.087 ล้านบาท ระนอง 138 ราย เจ้าหนี้ 88 ราย มูลหนี้ 4.719 ล้านบาท สมุทรสงคราม 192 ราย เจ้าหนี้ 128 ราย มูลหนี้ 6.168 ล้านบาท ตราด 212 ราย เจ้าหนี้ 95 ราย มูลหนี้ 5.626 ล้านบาท และ สิงห์บุรี 244 ราย เจ้าหนี้ 133 ราย มูลหนี้ 9.867 ล้านบาท ถ้าจับตัวเลขเหล่านี้มาสังเคราะห์กันอย่างละเอียดแล้ว เชื่อว่าเศรษฐาและรัฐบาลน่าจะมองเห็นต้นตอของปัญหา และหาแนวทางแก้ไขได้ตรงจุด
ยึกยักกันมาพักใหญ่ เศรษฐาหาคำตอบจาก จุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยคลัง เกี่ยวกับเรื่องที่จะส่งให้กฤษฎีกาตีความ คงไม่ต้องเสียเวลามานั่งคิดให้ปวดหัวแล้วกระมังว่าจะถามอย่างไร ฟังจากที่ วิษณุ เครืองาม กรรมการกฤษฎีกาชี้แนะน่าจะเห็นช่อง และเห็นหนทางที่ทำให้ทุกอย่างจบไม่ว่าจะแบบไหนก็ตาม ไม่รู้ว่าทีมกฎหมายของรัฐบาล คิดตรงกับที่เนติบริกรรายนี้เสนอไว้หรือไม่ นั่นก็คือ ควรส่งคำถามเป็น 2 ช่วง ไม่ควรเสนอเป็นร่าง พ.ร.บ.กู้เงินให้พิจารณา นอกจากจะไม่ได้คำตอบที่ต้องการแล้ว ปลายทางรัฐบาลอาจมีคดีความติดตัวกันด้วย
ความเห็นของวิษณุคือ ให้ถามครั้งแรกก่อนว่า รัฐบาลประสบปัญหาวิกฤต ประเทศชาติมีวิกฤต และรัฐบาลคิดว่าจะทำอย่างนี้ถูกกฎหมายหรือไม่ ถ้าไม่ถูกขอให้ช่วยแนะนำว่าควรทำอย่างไร ถึงจะทำได้เพื่อช่วยแก้วิกฤต ซึ่งหากกฤษฎีกาตอบมาว่า ออกร่างกฎหมายกู้เงินได้ ค่อยส่งร่างกฎหมายไปให้ตรวจสอบเป็นครั้งที่สอง ไม่ต้องกังวลเรื่องเวลาในการพิจารณา อดีตมือกฎหมายประจำรัฐบาลสืบทอดอำนาจการันตีว่า หากถามเร็วก็ตอบเร็ว เชื่อว่าทันที่รัฐบาลจะให้ประชาชนได้ใช้เงินเดือนพฤษภาคมปีหน้าอย่างแน่นอน
จะเรียกได้ว่าการให้ความเห็นของวิษณุหนนี้ เหมือนเป็นอาจารย์บอกแนวข้อสอบหรือแทบจะเฉลยกันเลยก็ว่าได้ โดยชี้ให้เห็นว่ากฤษฎีกาชินกับการตอบคำถามเหมือนศาล ถามแค่ไหนตอบแค่นั้น หลายเรื่องที่ถามกฤษฎีกาไปว่าทำได้หรือไม่ จะมีคำตอบแค่ว่าได้หรือไม่ได้ ไม่เคยตอบว่าถ้าไม่ได้จะต้องทำอย่างไร จะไม่มีการชี้ช่องให้ ดังนั้น การจะถามคำถามไปยังกฤษฎีกา ควรถามให้กว้าง ถ้าส่งร่าง พ.ร.บ.ไปรอบเดียวจะตีความในมิติที่แคบ ถามช้างก็ตอบช้างไม่ได้ตอบม้า แต่ถ้าถามไปว่าจะช้างหรือม้าหรือวัวหรือควายดี ก็จะได้ตอบให้ แหม! เข้าใจเปรียบเทียบเสียเห็นภาพ
แต่ช้าก่อน ช่วงท้ายของความเห็นมีการบอกว่ามาตรา 9 ของ พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ บัญญัติไว้ว่า รัฐจะไปจ่ายเงินเพื่อประชานิยมไม่ได้ และจะไปสัมพันธ์กับเรื่องที่ไม่ตรงปกตอนที่หาเสียง พูดเอาไว้อย่างไรก็เกี่ยวโยงกับกฎหมายเลือกตั้งด้วย เอ๊ะแบบนี้เหมือนชี้ให้เห็นแล้วหรือเปล่าว่าบทสรุปจะเป็นอย่างไร แต่ก็ยังเชื่อเหมือนที่วิษณุว่า ถ้าออก พ.ร.บ.กู้เงินไม่ได้หมายความว่าเป็นทางลงของเศรษฐาและรัฐบาลหรือไม่ เพราะยังไม่เห็นทางขึ้น จึงไม่ทราบว่าทางลงเป็นอย่างไร