ไม่ทำคงไม่ตาย
ผมเพิ่งกลับมาจากเมืองจีนครับ เดินทางในเส้นทางประวัติศาสตร์โดยใช้เส้นทางรถไฟความเร็วสูงอยู่ 2 ช่วง จากซีอานมาลั่วหยาง และไคฟง-เซี่ยงไฮ้ ความเร็วรถสูงสุด ยังเป็นระดับกลาง ๆ ที่ 300 กิโลเมตร/ชั่วโมง
ผมเพิ่งกลับมาจากเมืองจีนครับ เดินทางในเส้นทางประวัติศาสตร์โดยใช้เส้นทางรถไฟความเร็วสูงอยู่ 2 ช่วง จากซีอานมาลั่วหยาง และไคฟง-เซี่ยงไฮ้ ความเร็วรถสูงสุด ยังเป็นระดับกลาง ๆ ที่ 300 กิโลเมตร/ชั่วโมง
แต่รถไฟความเร็วสูงระดับ 600 กิโลเมตร/ชั่วโมง จะเกิดขึ้นในเร็ววันนี้ หากวิ่งช่วงเซี่ยงไฮ้-หางโจว ระยะทาง 200 กิโลเมตร ที่แต่ก่อนใช้เส้นทางรถ ขนาดวิ่งบนมอเตอร์เวย์แล้ว ก็ยังใช้เวลาตั้ง 3 ชั่วโมง หากมีรถไฟ 600 กม./ชม.วิ่งเมื่อไหร่ ก็จะใช้เวลาแค่ 20 นาทีเท่านั้น
จีนมีแผนพัฒนา จะทำความเร็วรถไฟความเร็วสูงไปถึง 1,000 กม./ชม. ซึ่งจะเท่ากับความเร็วเครื่องบินได้เลย ส่วนไทยเรา อนาคตคงเลือนรางตาม “ตรรกะป่วย” ว่าจะต้องทำถนนลูกรังให้หมดไปก่อน โครงการรถไฟความเร็วสูงสายอีสานเชื่อมจีน จึงยังสร้างได้สั้นจุ๊ดจู๋ แถมอยู่กลางป่ากลางดง ไม่เชื่อมอะไรกับใครเขาเลย
ผมขอเสนอว่า ให้ย้ายมาสร้างรางพร้อมอาณัติสัญญาณที่หนองคาย เพื่อเปิดใช้งานเชื่อมโยงกับรถไฟที่เวียงจันทน์ไปจีนก่อน โดยไม่ต้องรอก่อสร้างเสร็จทั้งเส้นทาง จะได้ร่นระยะเวลาที่ไม่เคยรอคอยใคร
เรื่อง “ดิจิทัล วอลเล็ต 5 แสนล้าน” ที่มีทั้งคนรอคอย และคนที่รอลับมีดจะคว่ำโครงการรวมทั้งอาจคว่ำรัฐบาล ผมว่าเอาเข้าจริงแล้ว คงไม่ได้ทำกันหรอก เพราะต้องติดขั้นตอนยุ่งยากมากมาย ทั้งกลุ่มคนที่ไม่เห็นด้วย และองค์กรอิสระต่าง ๆ
เริ่มต้นที่สำนักงานกฤษฎีกา อันเป็นองค์กรที่ปรึกษาทางกฎหมายในการบริหารราชการแผ่นดินของรัฐบาล เอาเข้าจริง รัฐบาลบริหารงานมา 3 เดือนแล้ว ก็ยังไม่ส่งหนังสือไปขอความเห็นเลยว่ารัฐบาลทำได้ หรือทำไม่ได้
รัฐบาลจะส่งเมื่อไหร่ก็ยังไม่รู้ ส่งไปแล้ว คำตอบจะกลับมาเมื่อไหร่ก็ยังไม่รู้ รัฐบาลจะไปเร่งนั่นเร่งนี่กฤษฎีกา ก็คงไม่ได้คำตอบ อาจมีได้เป็น 3 ทาง เห็นว่าทำได้ ทำไม่ได้ หรือออกกลาง ๆ ที่ไม่ชี้ชัดว่าทำได้หรือทำไม่ได้อย่างไร
ถ้ากฤษฎีกาบอกว่า ทำไม่ได้ อันนี้ก็ชัดเจนว่า “เก็บฉาก” ไปเลย ขืนทำก็มีหวังติดคุกแน่ ส่วนจะหวังให้กฤษฎีกาเห็นชอบด้วยในเรื่องที่เป็นความขัดแย้งระดับ “เขาควาย” ผมก็ยังไม่เคยเห็นความชัดเจนนะ
คำตอบอาจจะออกมากลาง ๆ ที่ไม่ชี้ชัดว่าทำได้หรือไม่ได้ หากรัฐบาลเดินหน้าก็คง “มีเสียว” ล่ะ
ระบบระเบียบของบ้านเมืองเรา ก็ไม่เหมือนในอารยะประเทศ ที่องค์กรอิสระจะไม่ตัดสินชี้ขาดในเรื่องที่เป็น “นโยบายรัฐ” ซึ่งมีทั้งคนได้ประโยชน์และเสียประโยชน์เสียด้วย
คำตอบจากกฤษฎีกา หาใช่ยาวิเศษจะเป็นเกราะคุ้มกัน หากไม่เคลียร์ รัฐบาลก็เดินลำบาก หากพลาดหรือไม่ได้ทำ ก็เสียเวลาเปล่า
ปัญหา “หนี้สาธารณะ” หรือ “หนี้แผ่นดิน” ก็ยังหนักหนาสาหัส หนี้พันธบัตร 1.4 ล้านล้านบาท อันเกิดจากการปิดสถาบันการเงินตอน “ต้มยำกุ้ง” ก็ยังใช้กันไม่หมด ยังมีหนี้เงินกู้ชดเชยงบประมาณขาดดุลของรัฐบาล “ลุงตู่” อีก 6.8 ล้านล้านบาท
หากมีหนี้อีก 5 แสนล้านบาท ก็คงต้องแบกหนี้หลังแอ่นอีกไม่น้อย ยิ่งปีหน้า หากเศรษฐกิจโลกยังไม่ฟื้น ก็จะยิ่งลำบากหนักเข้าไปอีก
ผมว่ารัฐบาลเศรษฐา ทวีสิน ยังมี “ของดีมีอยู่” ที่ยังไม่ได้ทำอยู่นะ นั่นคือ “โครงการสร้างอนาคตประเทศ 2 ล้านล้าน” ที่จะเป็นการจัดการสาธารณูปโภคทั้งระบบคมนาคมขนส่ง และระบบบริหารจัดการน้ำ
สมัยนายกฯ ยิ่งลักษณ์
นอกจากนั้นก็ยังมีโครงการคืนความสุขให้ประชาชนทั้งในเรื่องของหนี้นอกระบบ การอุดหนุนเกษตรกร การดับไฟใต้ และการต่อสู้รณรงค์ขจัดฝุ่นมลภาวะควันพิษ PM2.5 อย่างเอาจริงเอาจัง ฯลฯ
โครงการดิจิทัล วอลเล็ต ไม่ทำคงไม่ตาย แต่หากต้องเสียเวลารอคอยโครงการที่เลื่อนลอย โดยไม่คิดเผื่อแผนสำรอง จะก่อเกิดความเสียหายอย่างใหญ่หลวงแก่รัฐบาลและประชาชน