พาราสาวะถี
ไม่มีอะไรลึกลับซับซ้อนกับการเลือกหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ที่สุดท้ายก็ได้บทสรุป โดย เฉลิมชัย ศรีอ่อน รักษาการหัวหน้าได้รับเลือกเป็นหัวหน้าตามคาด
ไม่มีอะไรลึกลับซับซ้อนกับการเลือกหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ที่สุดท้ายก็ได้บทสรุป โดย เฉลิมชัย ศรีอ่อน รักษาการหัวหน้าได้รับเลือกเป็นหัวหน้าตามคาด ส่วน “มาดามเดียร์” วทันยา บุนนาค แคนดิเดตผู้ประกาศชิงเก้าอี้ ถ้าเปรียบเป็นมวยชิงแชมป์โลกก็พ่ายแพ้บนตาชั่ง เนื่องจากคุณสมบัติของเจ้าตัวไม่ตรงกับข้อบังคับพรรคที่กำหนดไว้ จึงต้องมีการเสนอให้ยกเว้นข้อบังคับต่อที่ประชุมใหญ่วิสามัญพรรค ซึ่งต้องใช้เสียงขององค์ประชุม 3 ใน 4 ถึงจะสามารถลงสมัครแข่งเป็นหัวหน้าพรรคได้
แต่ปรากฏว่า ผลการโหวตคะแนนของมาดามเดียร์ได้ไม่ถึง 3 ใน 4 จึงทำให้ขาดคุณสมบัติไม่สามารถลงสมัครแข่งขันเป็นหัวหน้าพรรคได้ ก่อนที่เจ้าตัวจะมีการโพสต์ผ่านแอปพลิเคชันเอ็กซ์ ด้วยการรีทวีตข้อความของ พายุ เนื่องจำนงค์ สมาชิกประชาธิปัตย์ ที่โพสต์ภาพแชทหลุด ไม่โหวตให้มาดามเดียร์ หากมีการงดเว้นคุณสมบัติ พร้อมระบุว่า ตั้งใจล็อบบี้โหวตไม่รับรองการเสนอชื่อมาดามเดียร์ในวันนี้ ก็เป็นอีกหนึ่งตัวบ่งชี้ว่า “ประชาธิปัตย์จะไม่เหมือนเดิม” จริง ๆ ต่อไปนี้
โดยที่มาดามเดียร์ ก็ได้โพสต์ความเห็นของตัวเองว่า “เสรีภาพที่ไม่มีอยู่จริง เมื่อไม่มีแสงแห่งความหวังแล้วแสงแห่งศรัทธาจะกลับมาได้ยังไง” เห็นเช่นนี้แล้วคงมองแนวโน้มอนาคตทางการเมืองต่อไปกับพรรคเก่าแก่ของมาดามเดียร์ว่าจะเป็นอย่างไร ซึ่งในที่ประชุมเพื่อเลือกหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์รอบนี้ก็มีอะไรให้เห็นหลายประการ ที่เป็นตัวบ่งบอกว่าสภาพปัญหานับตั้งแต่หลังการเลือกตั้งปี 2562 จนมาถึงปัจจุบัน ยังคงดำรงอยู่ต่อไป และอาจจะยากต่อการแก้ไข
การประกาศขอพักการประชุมและคุยตัวต่อตัวกับเฉลิมชัยของ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ก่อนที่จะกลับมาประกาศไม่ขอรับการเสนอชื่อชิงเก้าอี้หัวหน้า ปชป. ที่ ชวน หลีกภัย เป็นผู้ชง พร้อมขอลาออกจากความเป็นสมาชิกพรรค แล้วเดินออกจากห้องประชุมทันที ย่อมแสดงให้เห็นว่าทุกอย่างมันมีเบื้องหลัง ซึ่งคนที่เคยอยู่ร่วมในเหตุการณ์ทางการเมืองสำคัญ ตั้งแต่ครั้งไปตั้งรัฐบาลในค่ายทหาร เรื่อยมาถึงความพ่ายแพ้ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ในการเลือกตั้งเมื่อปี 2554 ย่อมเข้าใจกันดีว่า ความเป็นไปในพรรคเก่าแก่นั้นเป็นอย่างไร
คงไม่ผิดกับคำพูดของอภิสิทธิ์ที่บอกว่า “อุดมการณ์ของพรรค ที่เราเคยพูดว่าเป็นพรรคที่ต่อสู้กับประชาธิปไตย ต่อสู้กันมายาวนาน” นั้น มันก็เป็นเช่นนั้นจริง หากแต่ไม่ใช่เป็นการต่อสู้เพื่อระบอบประชาธิปไตยและระบบรัฐสภาที่ตัวเองสมอ้าง หากแต่เป็นการอิงแอบกับอำนาจนอกระบบ หลังจากที่พ่ายแพ้ให้กับ ทักษิณ ชินวัตร นับตั้งแต่การเลือกตั้งเมื่อปี 2544 เป็นต้นมา จนเกิดการล้มล้างรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งถึงสองครั้งสองหน โดยเฉพาะกับการนำพาไปสู่การรัฐประหารเมื่อปี 2557 ยิ่งเห็นบทบาทที่ชัดเจน กระทั่งประชาธิปไตยของประเทศเข้ารกเข้าพงจนถึงปัจจุบัน
ดังนั้น บทเรียนความพ่ายแพ้อย่างเจ็บปวดเมื่อการเลือกตั้งปี 2562 แต่ประชาธิปัตย์ก็ได้เป็นรัฐบาลจากการไปสนับสนุนเผด็จการสืบทอดอำนาจ จนอภิสิทธิ์ต้องสังเวยเก้าอี้ สส.และตำแหน่งหัวหน้าพรรค ปลดระวางตัวเองไปจากวงโคจรทางการเมือง กระทั่งการเลือกตั้งล่าสุด ความปราชัยย่อยยับ เป็นจุดชี้ชัดว่าคนที่ไม่มั่นคงทางประชาธิปไตย ลื่นไหลไปด้วยวาทกรรมและการอ้างอุดมการณ์นั้น ท้ายที่สุดก็ยากที่จะยิ่งใหญ่ได้ เพราะคนไทยยุคใหม่รู้ทันข่าวสาร เห็นความเป็นมาเป็นไป ไม่ใช่โง่ดักดาน รับเงินซื้อเสียงเหมือนที่พวกแผ่นเสียงตกร่องของพรรคพูดอยู่เป็นประจำ
สิ่งสำคัญมากไปกว่านั้น หากไม่โกหกตัวเองคนของประชาธิปัตย์ต้องยอมรับว่า การสมคบคิดกับพวกเผด็จการนั้นมีแต่หนทางนำไปสู่ความเสื่อม เสื่อมทั้งจากความนิยมของประชาชน และเสื่อมทั้งจากการถูกกระทำด้วยคนที่เคยเป็นมิตร ใครกล้าปฏิเสธหรือไม่ว่า ผลแห่งรัฐธรรมนูญสืบทอดอำนาจ และกลไกต่าง ๆ ที่เกิดจากการวางแผนเพื่อการอยู่ยาวนั้น ไม่ได้สร้างประโยชน์หรือเกิดอานิสงส์ใด ๆ ต่อพรรคเก่าแก่ตามที่หวังไว้แม้แต่น้อย มิหนำซ้ำ ยังกลายเป็นพรรคที่ถูกพวกเดียวกันดูดทั้งสมาชิก สส.และฐานเสียงไปเกือบหมด
หากจะสรุปบทเรียนมันต้องก้าวให้พ้นการหลงตัวเองที่อ้างว่าเป็นสถาบันทางการเมืองเก่าแก่ มีหลักการ ยึดมั่นในระบบ ไม่ได้เป็นพรรคการเมืองของใคร แต่ธาตุแท้ในการดำเนินการทางการเมืองนั้นสวนทางกันอย่างสิ้นเชิง ต้องดูกันต่อ ประชาธิปัตย์ภายใต้การนำของเฉลิมชัยที่ประกาศว่า จะไม่เป็นพรรคอะไหล่ของใคร มันคือการสื่อว่าไม่มีทางเข้าร่วมรัฐบาลใช่หรือไม่ ถ้าใช่มันต้องกล้าที่จะประกาศให้ชัดถ้อยชัดคำ ไม่ใช่แทงกั๊กแบบนี้ อย่าลืมว่า ตัวหัวหน้าพรรคคนใหม่มีชนักปักหลังที่เป็นเหตุให้ สาธิต ปิตุเตชะ ไขก๊อกจากความเป็นสมาชิกพรรคด้วยข้อกล่าวหาที่ว่า รับไม่ได้เพราะเสียสัจจะ
สัจจะในที่นี้คือ สิ่งที่เฉลิมชัยประกาศก่อนการเลือกตั้งปี 2566 หากพรรคประชาธิปัตย์พ่ายแพ้เลือกตั้งได้ สส.ไม่ถึง 50 ที่นั่ง จะยุติบทบาทการเมืองถาวร จุดนี้จึงเป็นสิ่งที่บรรดาสมาชิกและ สส.ของพรรคเก่าแก่ยังไม่เชื่อมั่น ยิ่งประเมินจากท่าทีของ 21 สส.กลุ่มเพื่อนต่อด้วยแล้ว แนวโน้มในการไม่เป็นฝ่ายค้านนั้นมันมีอยู่สูงยิ่ง บอกไว้แล้วว่า ไม่ว่าผลการเลือกตั้งหัวหน้าพรรคจะออกมาอย่างไร พรรคเก่าแก่จะไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป รูปรอยที่เกิดขึ้นมันน่าเชื่อว่าจะเป็นไปแบบนั้น
หันกลับมามองทางรัฐบาล การประชุมคณะกรรมการไตรภาคีว่าด้วยการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำที่มี ไพโรจน์ โชติกเสถียร ปลัดกระทรวงแรงงานนั่งหัวโต๊ะเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา สรุปว่าเคาะขึ้นค่าแรงที่ 2-16 บาทต่อวันนั้น ไม่น่าจะเป็นข้อยุติ เพราะ เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังฟันธงแล้วว่า น้อยไป ขอพูดคุยเพื่อทบทวนใหม่ พร้อมย้ำด้วยว่า ถ้ามีการเสนอเข้าสู่ที่ประชุม ครม. ตนไม่ยินยอม ไม่เห็นด้วยอย่างแน่นอน
คำถามคือ แล้วจะทบทวนกันแบบไหน เพราะปลัดแรงงานย้ำกับผู้สื่อข่าวแล้วว่า เมื่อคณะกรรมการไตรภาคีเคาะกันมาแบบนี้แล้วต้องจบ หากไม่เห็นด้วยต้องไปว่ากันใหม่ในปีหน้า แต่การที่ผู้นำประเทศไม่เห็นด้วยจะต้องทำอย่างไร การขอทบทวนใหม่ จะเป็นไปในแนวทางใด ตัวชี้วัดสำคัญคงไม่ได้อยู่ที่ฝ่ายแรงงาน แต่เป็นนายจ้าง เมื่อไม่ใช้วิธีการสั่งการ เลือกที่จะคุยกันก็ต้องเป็นภาคผู้ประกอบการ งานนี้จะเป็นอีกหนึ่งบทพิสูจน์ฝีมือการเจรจาของท่านผู้นำ