รัฐบาลกับค่าแรงขั้นต่ำ
เศรษฐา ทวีสิน สร้างปัญหาให้กับตัวเองขึ้นมาอย่างกะทันหันหลังจากที่ประกาศท้าทายข้อเสนอของคณะกรรมการค่าจ้างที่เสนอสูตรปรับค่าแรงขั้นต่ำ
นายกรัฐมนตรีเศรษฐา ทวีสิน สร้างปัญหาให้กับตัวเองขึ้นมาอย่างกะทันหันหลังจากที่ประกาศท้าทายข้อเสนอของคณะกรรมการค่าจ้างที่เสนอสูตรปรับค่าแรงขั้นต่ำซึ่งนายกฯ ยืนยันว่าต้องอยู่ที่ 400 บาทต่อวัน ซึ่งเป็นการก้าวกระโดดครั้งใหญ่ของนโยบายพรรคเพื่อไทยที่ต้องการยกระดับค่าแรงขั้นต่ำเป็น 400 บาทต่อวันทั่วประเทศในปีหน้านี้ และเพิ่มเป็น 500 บาทต่อวันในปี 2568 และพอถึงต้นปี 2569 จะขึ้นเป็น 600 บาทต่อวัน โดยอ้างว่าเป็นนโยบายที่พรรคหาเสียงไว้ และอ้างถึงเจตนาของรัฐบาลในการยกระดับค่าครองชีพของแรงงาน ซึ่งเท่ากับว่าค่าแรงขั้นต่ำใน 3 ปีข้างหน้าจะเพิ่มจากปีปัจจุบันขึ้นอีก 100%
เจตนาของรัฐบาลนั้นไม่มีข้อสงสัย แต่คำถามก็คือ นายจ้างจะรับภาระการขึ้นค่าแรงไหวหรือไม่
ปัญหาค่าแรงขั้นต่ำเป็นปัญหารายละเอียดระหว่างเจตจำนงกับความเป็นจริง ซึ่งที่ผ่านมาก็มีทางเลือกให้ถกเถียงกันในคณะกรรมการค่าจ้างที่มีตัวแทนฝ่ายแรงงานร่วมด้วย 3 คนในคณะกรรมการไตรภาคีที่ประกอบด้วยตัวแทนนายจ้าง ตัวแทนลูกจ้างและตัวแทนรัฐบาลจากกระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคม
เรื่องนี้พรรคเพื่อไทยสมัยยิ่งลักษณ์เป็นนายกรัฐมนตรีได้เสนอให้ค่าแรงขั้นต่ำอยู่ที่ 300 บาท แม้คณะกรรมการค่าจ้างจะไม่เห็นด้วยเพราะเกรงว่านายจ้างจะรับไม่ไหวและถอนการลงทุนจากประเทศไทย แต่รัฐบาลก็ผลักดันจนสำเร็จ
แต่คราวนี้สถานการณ์ไม่เหมือนเดิมเพราะตัวแทนฝ่ายลูกจ้างมองไม่เห็นประโยชน์จากการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำและมองว่าจะเป็นผลร้ายต่อแรงงานไทยมากกว่าเนื่องจากการจ้างงานจะถดถอยลง โดยผู้ได้รับประโยชน์จากนโยบายขึ้นค่าแรงขั้นต่ำครั้งนี้จะได้แก่แรงงานต่างด้าว 5 ล้านคนที่จะได้รับโอกาสจ้างงานเพิ่มขึ้นแทนแรงงานไทยเพราะเป็นแรงงานนอกระบบจ้างงานของไทย
ข้อเท็จจริงดังกล่าวนี้นำมาสู่ข้อโต้แย้งระหว่างคณะกรรมการค่าจ้างที่เสนอให้ปรับค่าแรงขั้นต่ำอย่างยืดหยุ่นโดยไม่มีจังหวัดไหนได้รับค่าแรงขั้นต่ำเกิน 400 บาท กับนายกรัฐมนตรีที่ประกาศว่าจะไม่ยอมผ่านมติของคณะกรรมการค่าจ้างที่จะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2567 เป็นต้นไป
เรื่องนี้ตัวแทนฝ่ายแรงงานของคณะกรรมการค่าจ้างยืนยันออกมาชัดเจนแล้วว่าข้อเสนอของคณะกรรมการค่าจ้างนั้นมีเหตุผลเพียงพอ และที่สำคัญมติดังกล่าวเสนอเพื่อให้นายกฯ รับทราบโดยไม่มีสิทธิแทรกแซงใด ๆ
ข้อโต้แย้งดังกล่าวนี้อาจจะกลายเป็นน้ำผึ้งหยดเดียวที่กัดกร่อนเจตนารมณ์ของนักการเมืองโดยที่นโยบายดังกล่าวจะถูกโยงเข้ากับความชอบธรรมของรัฐบาล