VGI สิ้นสุดข้อพิพาท
เป็นเรื่องคาราคาซังที่ฉุดหุ้น บมจ.วีจีไอ หรือ VGI ของกลุ่ม BTS มานานหลายปี กรณีพิพาทระหว่างบริษัท ดีเอ็ม คอร์ปอเรชั่น จำกัด (ดีเอ็มฯ) กับ VGI
เป็นเรื่องคาราคาซังที่ฉุดหุ้นบริษัท วีจีไอ จำกัด (มหาชน) หรือ VGI ของกลุ่ม BTS มานานหลายปี กรณีพิพาทระหว่างบริษัท ดีเอ็ม คอร์ปอเรชั่น จำกัด (ดีเอ็มฯ) กับ VGI (ดีเอ็มฯ เดิมชื่อบริษัท ไมดาส โกลบอล มีเดีย จำกัด เคยเป็นบริษัทร่วมทุนระหว่าง VGI กับบริษัท ดีไลท์ มัลติมีเดีย จำกัด)
แม้ศาลแพ่งได้มีคำสั่งให้เพิกถอนคำสั่งของคณะอนุญาโตตุลาการที่มีคำสั่งชี้ขาดว่า VGI ผิดสัญญาต่อดีเอ็มฯ และต้องชดใช้ค่าเสียหายให้แก่ดีเอ็มฯ เป็นเงินจำนวน 579.41 ล้านบาท พ่วงด้วยดอกเบี้ย 7.5% ต่อปี ไปแล้วตั้งแต่ปี 2565 แต่ก็เป็นหนึ่งในข้อกังวลที่ทำให้นักลงทุนไม่กล้าใส่เกียร์ลุยหุ้น VGI…
ล่าสุดศาลฎีกามีคำสั่งพิพากษาเห็นพ้องตามคำพิพากษาของศาลแพ่ง ให้เพิกถอนคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการ ทำให้ VGI ไม่ต้องชำระค่าเสียดายดังกล่าวให้กับดีเอ็มฯ…เป็นอันสิ้นสุดทางเลื่อน…อุ๊ย สิ้นสุดข้อพิพาทนี้สักที..!!
เท่ากับว่า VGI ก็โล่งอก…ไม่ต้องตั้งสำรองฯ จากข้อพิพาทนี้ในงบการเงิน หรือหากตั้งสำรองฯ ไปแล้ว ก็สามารถกลับรายการทางบัญชี…ก็จะทำให้งบดูดีขึ้น
ที่จริง ระหว่างดีเอ็มฯ กับ VGI ก็เคยมีช่วงเวลาที่หวานชื่นกันมาก่อน…เกี่ยวก้อยเป็นพันธมิตรกันมาตั้งแต่ปี 2557 ในตอนนั้นดีเอ็มฯ กับ VGI มีแผนจะรุกสื่อโฆษณานอกบ้านในต่างจังหวัด ด้วยการทำหอนาฬิกาในย่านชุมชน และใช้เป็นพื้นที่ติดตั้งโฆษณาใน 10 จังหวัดตามหัวเมืองใหญ่และจังหวัดท่องเที่ยวสำคัญ โดยดีเอ็มฯ เป็นผู้ดูแลด้านการออกแบบและโครงสร้างของหอนาฬิการวมถึงจอภาพ LED ทั้งหมด ขณะที่ VGI จะเป็นผู้รับผิดชอบในการขายสื่อโฆษณาบนจอ LED ที่ติดตั้งอยู่กับหอนาฬิกาในแต่ละจังหวัดทั้งหมด
ก็เป็นโปรเจกต์ที่ดูดีนะ ช่วยกันคนละไม้คนละมือในการสร้างการเติบโตของทั้งคู่ แต่ไม่รู้ไปทำอีท่าไหน..?
จู่ ๆ เมื่อวันที่ 25 มิ.ย. 2561 ดีเอ็มฯ ได้ยื่นคำเสนอข้อพิพาทต่อคณะอนุญาโตตุลาการ กล่าวอ้างว่า VGI ปฏิบัติผิดสัญญาระหว่างผู้ถือหุ้นของดีเอ็มฯ ฉบับลงวันที่ 5 ก.พ. 2557 ซึ่งเป็นสัญญาที่ทำระหว่าง VGI และดีไลท์ฯ ต่อมาคณะอนุญาโตตุลาการได้มีคำชี้ขาดเมื่อวันที่ 5 ก.พ. 2563 ว่า VGI ปฏิบัติผิดสัญญา และให้ชำระค่าเสียหายให้แก่ดีเอ็มฯ เป็นเงินจำนวน 579.41 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ย 7.5% ต่อปี
จากนั้นเมื่อวันที่ 3 เม.ย. 2563 ดีเอ็มฯ ได้ยื่นคำร้องต่อศาลแพ่ง ขอให้มีการบังคับตามคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการ อย่างไรก็ตามในวันที่ 5 พ.ค. 2563 VGI ได้ยื่นคำร้องต่อศาลแพ่งขอให้เพิกถอนคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการดังกล่าว
ศาลแพ่งได้มีคำสั่งให้เพิกถอนคำชี้ขาดคณะอนุญาโตตุลาการดังกล่าวในวันที่ 21 มี.ค. 2565 ซึ่งดีเอ็มฯ ได้ยื่นอุทธรณ์คำสั่งของศาลแพ่งดังกล่าวต่อศาลฎีกา
กระทั่งวันที่ 7 ธ.ค. 2566 ศาลฎีกามีคำพิพากษายืนตามคำพิพากษาของศาลแพ่ง ให้เพิกถอนคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการ ทำให้ VGI ไม่ต้องชำระค่าเสียหายดังกล่าวให้แก่ดีเอ็มฯ…
เรื่องราวก็เป็นเช่นนี้ค่าคุ้ณณณ…
ส่วนสารตั้งต้นของการฟ้องร้องละเมิดสัญญาครั้งนี้ จะมีส่วนไปเกี่ยวพันกับการที่ VGI ปรับโครงสร้างธุรกิจ ขายสิทธิการเช่าพื้นที่เชิงพาณิชย์บนรถไฟฟ้า BTS ให้กับบริษัท เนชั่น อินเตอร์เนชั่นแนล เอ็ดดูเทนเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือ NINE ซึ่งปัจจุบันกลายร่างมาเป็นบริษัท ซุปเปอร์ เทอร์เทิล จำกัด (มหาชน) หรือ TURTLE หรือเปล่า..? อันนี้ไม่รู้จริง ๆ
แต่ที่เห็นประจักษ์กับตา ก็ราคาหุ้น VGI นี่แหละ ทั้ง ๆ ที่มีสตอรี่เชิงบวก…ปลดล็อกข้อพิพาทไปแล้ว แต่ราคาหุ้นกลับไหลเป็นน้ำ…ไม่ตอบสนองเอาซะงั้น..!?
เอ๊ะ…หรือหุ้น VGI จะตายด้านไปแล้ว…ก็ไม่รู้สินะ
…อิ อิ อิ…