พาราสาวะถี

ปฏิเสธไม่ได้ว่าการรัฐประหารของเผด็จการ คสช.เมื่อ 22 พฤษภาคม 2557 คือจุดเริ่มต้นของการนำพาพรรคประชาธิปัตย์สู่ยุคตกต่ำ


ปฏิเสธไม่ได้ว่าการรัฐประหารของเผด็จการ คสช.เมื่อ 22 พฤษภาคม 2557 คือจุดเริ่มต้นของการนำพาพรรคประชาธิปัตย์สู่ยุคตกต่ำ ไม่ใช่เพราะการสมคบคิดกับอำนาจนอกระบบ เล่นนอกกติกา จนเป็นเหตุให้พ่ายแพ้ หากแต่การปรับแก้กฎกติกาภายใต้แผนการอยู่ยาวของขบวนการสืบทอดอำนาจ มันส่งผลอย่างรุนแรงชนิดที่คนของพรรคเก่าแก่ไม่คาดคิด ใครจะเชื่อว่าหลังการเลือกตั้งปี 2562 ประชาธิปัตย์จะกลายเป็นแค่พรรคขนาดกลาง พ่ายแพ้ทั้งคู่รักคู่แค้นอย่างเพื่อไทยแบบหมดรูป

สูญเสียทั้งไพร่พลและฐานเสียงให้กับพรรคเพื่อการสืบทอดอำนาจ อย่าง พลังประชารัฐที่เข้าป้ายเป็นอันดับ 2 และตั้งรัฐบาลอยู่ยาวสำเร็จ ปราชัยแม้กระทั่งพรรคเกิดใหม่อย่างอนาคตใหม่ กลายเป็นเพียงพรรคที่อยู่ในระนาบเดียวกับพรรคภูมิใจไทย การได้เข้าร่วมรัฐบาลโดยไม่แยแสต่อท่าทีของ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคในขณะนั้นที่ไม่สนับสนุนการสืบทอดอำนาจ ด้วยหวังว่าการเข้าสู่อำนาจจะทำให้พรรคกลับมายิ่งใหญ่ได้

สุดท้าย ต้องยอมรับว่าการตัดสินใจครั้งนั้นเป็นความผิดพลาด เพราะนอกจากพรรคไม่ได้สรุปบทเรียนจากการเลือกตั้ง และเตรียมความพร้อมให้เกิดความเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ กลับยังเดินเกมการเมืองแบบเดิม ด้วยหวังว่าความเป็นประชาธิปัตย์ยังขายได้ ยึดแนวทางแบบพวกอนุรักษนิยมสุดโต่ง จนท้ายที่สุด ผลการเลือกตั้งได้ สส.มาแค่ 25 ที่นั่ง จน จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ ในฐานะหัวหน้าพรรคต้องสังเวยเก้าอี้แสดงความรับผิดชอบ

แต่ปัญหาภายในพรรคว่าด้วยความเห็นต่าง และความแตกแยกมันไม่ได้เพิ่งเกิดขึ้นหลังเลือกตั้งหนล่าสุด มีมาตั้งแต่หลังเลือกตั้งครั้งที่แล้ว เพียงแต่คนในพรรคยังเชื่อว่าด้วยระบบ หลักการของพรรคจะสามารถจัดการด้วยตัวของมันเองได้เหมือนที่ผ่านมา ทว่าหนนี้ไม่ได้เป็นเช่นนั้น ความจริงการประชุมเพื่อเลือกหัวหน้าพรรคคนใหม่ที่ล่มถึงสองครั้งสองครา น่าจะเป็นสัญญาณเตือนให้คนในพรรคเก่าแก่ได้ตระหนักกันแล้วว่า มันมีความผิดปกติเกิดขึ้น และทุกอย่างไม่เหมือนเดิม

อาจจะเป็นเพราะคนส่วนใหญ่ยังเกรงใจ หวั่นบารมีของผู้อาวุโสภายในพรรค จึงยอมที่จะให้ทุกอย่างเป็นไปตามกระบวนการ ด้วยเชื่อว่าความเป็นประชาธิปัตย์จะทำให้สถานการณ์ดีขึ้น ซึ่งก็ได้เห็นกันแล้วว่า ผู้มีบารมีภายในพรรคยังคงต้องการที่จะเดินแบบเดิมด้วยการเสนอชื่อคนเดิมที่คิดว่าจะเข้ามากอบกู้วิกฤตของพรรคได้ โดยไม่สนใจที่จะไปสนับสนุนคนรุ่นใหม่อย่างจริงจัง เป็นเพียงการให้กำลังใจตามมารยาทเท่านั้น เมื่อฝ่ายกุมอำนาจในพรรคและมีเสียง สส.ที่ดูแลกันมาถึง 21 เสียง มีความประสงค์ที่จะกุมบังเหียนเอง ทุกอย่างจึงเป็นไปได้ง่ายอย่างที่ต้องการ

การตราหน้า เฉลิมชัย ศรีอ่อน หัวหน้าพรรคคนใหม่ว่าตระบัดสัตย์ ไร้สัจจะ กลืนน้ำลายตัวเอง พาพรรคแพ้แล้วบอกจะวางมือถาวร แต่กลับมารับเก้าอี้ ก็เป็นเพียงวาทกรรมที่คนพรรคนี้ถนัด ยัดเยียดให้กับคนและคณะบุคคลที่ตัวเองไม่ญาติดีด้วยเท่านั้น ส่วนการลาออกจากความเป็นสมาชิกพรรคของพวกที่อยู่กับพรรคมานาน ตามหลังอภิสิทธิ์อย่างต่อเนื่องนั้น เมื่อสแกนไปยังพื้นที่ และแนวโน้มทางการเมืองของแต่ละคนแล้ว ก็จะพบว่าโอกาสจะได้กลับมาบนสนามการเมืองนั้นแทบจะเป็นศูนย์กันแล้ว

มองจากความพ่ายแพ้ในการเลือกตั้งตั้งแต่ปี 2562 จนถึงปี 2566 เรียกได้ว่าคนที่ไขก๊อกยังควานหาชัยชนะในพื้นที่ไม่เจอ จึงไม่ใช่เรื่องที่จะสร้างความหนักใจให้กับกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่แต่อย่างใด ความจริงที่ต้องยอมรับร่วมกันสำหรับคนที่ยังทำใจไม่ได้ ต้องไปอ่านข้อความของ พนิต วิกิตเศรษฐ์ อดีต สส.บัญชีรายชื่อของพรรค ที่เห็นความเป็นไปของกระบวนการที่ไม่ปกติซึ่งเกิดขึ้นกับการเลือกหัวหน้าพรรค ที่มันย่อมคาดถึงผลที่จะตามมาได้อยู่แล้ว

โดยที่พนิตได้ไปยื่นหนังสือลาออกจากความเป็นสมาชิกพรรคเก่าแก่กับ กกต. ตั้งแต่วันที่ 5 ตุลาคมที่ผ่านมาแล้ว ด้วยเหตุผลที่ว่า เป็นไปตามที่วิเคราะห์ไว้ทุกประการ กับโฉมหน้าหัวหน้าพรรค กรรมการบริหารพรรคประชาธิปัตย์ชุดใหม่ หลังรับทราบข้อมูล เห็นความเคลื่อนไหวเบื้องหน้าเบื้องหลังเปรียบดังละครฉากใหญ่ และเป้าหมายทางการเมืองของทุกฝ่ายทุกขั้วอย่างชัดเจน เพียงแต่ว่าเจ้าตัวเลือกที่จะไม่กล่าวหา ให้ร้าย หรือสร้างวาทกรรมดิสเครดิต ด้วยการชี้ว่า ไม่มีใครผิด ไม่มีใครถูก ทุกคนมีเหตุผลของตัวเอง และยอมรับโดยดุษฎีว่า ยังไม่เห็นแสงสว่างแห่งความเปลี่ยนแปลงหรือฟ้าหลังฝนในเร็ว ๆ นี้

เชื่อว่ากองเชียร์หรือแม้แต่กองแช่งพรรคเก่าแก่ก็เข้าใจอย่างที่พนิตว่า ไม่มีปาฏิหาริย์ใด ๆ เกิดขึ้น ซึ่งมันก็คงจะเป็นไปได้ยากแล้วกับบริบททางการเมืองที่เปลี่ยนไป อำนาจที่เคยอิงแอบไม่เหมือนเดิม การไปตั้งรัฐบาลในค่ายทหารที่ถือเป็นประวัติศาสตร์อันน่าอดสูทางการเมืองในระบอบประชาธิปไตย เหล่านั้นแม้แต่ตัวพนิตเองก็เข้าใจว่ามันไม่ใช่เรื่องปกติ และอาการแตกของประชาธิปัตย์มันก็เริ่มเห็นรอยปริแยกนับตั้งแต่ก่อนเลือกตั้งปี 2562 เรื่อยมาแล้ว

นอกจากจะบอกพรรคพวกในพรรคเก่าแก่ให้ทุกฝ่ายต้องน้อมรับผลต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นจากการกระทำของคนกันเอง จนทำให้พรรคเดินมาไกลถึงขณะนี้แล้ว พนิตคงต้องสะกิดให้คนในพรรคเข้าใจวลีที่ว่าหัวเราะไม่ได้ ร้องไห้ไม่ออก ด้วย เพราะผลที่เกิดขึ้นในวันนี้มันมาจากเหตุที่เลือกที่จะไม่เดินตามกลไกของระบอบประชาธิปไตย และระบบรัฐสภาที่ควรจะเป็นในวันนั้น เมื่อหลุดจากอุดมการณ์และหลักการที่อ้างกันเป็นวาทกรรมมาตลอด มันย่อมยากที่จะกลับไปยืนยังจุดเดิมเมื่อถนนสายการเมืองมันได้เปลี่ยนทิศทางไปแล้ว

ขณะเดียวกัน เห็นหายนะที่เกิดขึ้นกับพรรคเก่าแก่แล้ว พรรคคนรุ่นใหม่ที่หวังเห็นแสงสว่างข้างหน้า ก็ต้องปรับและพัฒนาตัวเองเพื่อให้เป็นทางเลือกที่สร้างสรรค์ และเป็นความหวังให้กับคนส่วนใหญ่ได้ อย่างที่ ปิยบุตร แสงกนกกุล ขายความคิดล่าสุด คนหัวก้าวหน้าไม่ใช่เอาแต่ตามข่าวหาประเด็นด่านายกรัฐมนตรี ไล่บี้จับผิดรัฐมนตรีและรัฐบาล มันต้องชี้ให้สังคมเห็นถึงรูปธรรมที่จะจับต้องได้ต่อการเปลี่ยนแปลงไปสู่สิ่งใหม่ ไม่ใช่ตั้งหน้าตั้งตาโจมตีกันทางการเมือง เหมือนที่นักการเมืองดึกดำบรรพ์ทำกัน

Back to top button