Active Fund-นักลงทุนรายใหญ่ กับการเคลื่อนไหวในหุ้น DELTA

การปรับตัวเพิ่มขึ้นของหุ้น DELTA ในช่วงที่ผ่านมา ที่สามารถกลับมายืนเหนือราคา 80 บาท เกิดจากความสนใจของนักลงทุนที่เข้ามาเก็งกำไร ข่าวการดำรงสถานะอยู่ใน SET50


การปรับตัวเพิ่มขึ้นของหุ้นบริษัท เดลต้า อีเลคโทรนิคส์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ  DELTA ในช่วงที่ผ่านมา ที่สามารถกลับมายืนเหนือราคา 80 บาท เกิดจากความสนใจของนักลงทุนที่เข้ามาเก็งกำไร ข่าวการดำรงสถานะอยู่ใน SET50 โดยมีการคาดการณ์ว่า จะไม่หลุดออกจาก SET50 โดยกลุ่มหลักที่เข้ามาเก็งกำไร คือ นักลงทุนในประเทศ และกองทุน Active Fund

นักลงทุน 2 กลุ่มนี้ คือ ใครบ้าง? 

กลุ่มแรก นักลงทุนในประเทศ คือ นักลงทุนรายย่อย ที่เป็นรายใหญ่ ที่มีเงินมากพอที่จะซื้อหุ้นขนาดใหญ่อย่าง DELTA ได้ เพราะลำพังซื้อแค่ 100,000 หุ้น ก็ต้องใช้เงินมากถึง  8 ล้านบาท ถ้าซื้อสองไม้ ก็ 16  ล้านบาท 

ฉะนั้นจึงต้องใช้คำว่า “นักลงทุนรายย่อย ที่เป็นรายใหญ่” เหตุที่ว่าต้องเป็นรายใหญ่ เพราะวอลุ่มเทรดในแต่ละวันจะอยู่ที่ประมาณ 10-15 ล้านหุ้น หรือคิดเป็นมูลค่าประมาณ 800-1,200 ล้านบาทต่อวัน ถือว่าไม่ธรรมดา

กลุ่มที่สอง คือ กองทุน Active Fund กลุ่มนี้ คือ กองทุนที่มีหน้าตักพร้อม ที่พร้อมจะเข้าลงทุนในตราสารประเภทต่าง ๆ อาทิ หุ้น ตราสารหนี้ ฯลฯ เพื่อสร้างผลตอบแทนที่ชนะตลาด ในจังหวะที่ข่าวดีทางด้านเศรษฐกิจ ไม่สามารถกระตุ้นให้เกิดความน่าสนใจได้ การมองหาผลตอบแทนด้านอื่น ๆ จึงเกิดขึ้น

ในช่วงนี้ หุ้น DELTA จึงกลายเป็นหุ้นที่ได้รับความสนใจ จากกองทุน Active Fund เหล่านี้ เนื่องจาก มีการคาดเดาการคงสถานะให้อยู่ใน SET50 ต่อไป จากเดิมที่ก่อนหน้านี้มีการคาดการณ์ว่าจะถูกให้ออกจาก SET50 เนื่องจากไม่เข้าเกณฑ์ตามกฎระเบียบเป๊ะ 

ทำให้ มีแรงเทขายหุ้น DELTA ออกมาก่อนหน้านี้ช่วงที่ประเมินว่า จะออกจาก SET50 ช่วงราคา 100 บาท 

ประกอบ กับ มีรายการ big lot จำนวน 89.23 ล้านหุ้น ที่ราคาหุ้นละ 95 บาท คิดเป็น  0.72% จากผู้ถือหุ้นใหญ่ ทำให้เกิดแรงเทขายแบบแพนิก โดยกระแสข่าวว่า ผู้ถือหุ้นใหญ่จะเทขายหุ้นเพื่อทำกำไร 

แต่อีกเหตุผลหนึ่ง เพื่อต้องการเพิ่มสภาพคล่องให้ตรงตามเกณฑ์ฟรีโฟลต 2% เพื่อดำรงสถานะใน SET50 

สรุปความง่าย ๆ ว่า หุ้น DELTA ในช่วงที่ผ่านมา ปรับตัวลดลงจากราคา 102.50 บาท (28 ก.ย.) ลงมา ณ ปัจจุบันเฉลี่ย -20% โดยแรงเทขายจากแพนิกเซลล์ของ กองทุนและนักลงทุนในประเทศ จากปัจจัยดังกล่าวข้างต้น

ภายหลังจากที่มีการประเมินสถานะของหุ้น DELTA ที่อาจจะมีการ “หย่อนเกณฑ์” ที่จะไม่คัดหุ้น DELTA ออกจาก SET50 จากเหตุผล หลายประการที่ได้อธิบายไปแล้วในก่อนหน้านี้ ในหัวข้อ หย่อนเกณฑ์ “คำนวณฟรีโฟลต:คงสถานะ DELTA-INTUCH ใน SET50 ต่อไป”

ทำให้ราคาหุ้น DELTA ปรับตัว ขึ้นจากจุดต่ำสุดในรอบเดือนนี้ที่ระดับ 75.75 บาท (7 ธ.ค.) ขึ้นมา ยืนเหนือ 80 บาทได้  รวมถึงมีผลต่อการพยุงดัชนีให้ไม่ปรับตัวลดลงหนัก โดยมีแรงซื้อจากกองทุน Active Fund และนักลงทุนในประเทศ เข้ามา

ในระหว่างทางที่ราคาหุ้นปรับตัวขึ้นมา ก็มีทั้งแรงซื้อและแรงขายสลับกัน เนื่องจากมีทั้ง “กลุ่มที่เข้ามาเล่นเก็งกำไรแค่ก่อนข่าวออก” กับ “กลุ่มที่จะถือหุ้นข้ามไปหลังข่าวประกาศออก”  

เราคงต้องมาลุ้นดูผลของ “ก่อน”-“วันประกาศ” หรือ “หลังวันประกาศ” หุ้นใน SET50 ว่า ความเคลื่อนไหวของราคาหุ้น DELTA จะปรับตัวไปในทิศทางไหน?

เพราะถ้าหากยังดำรงสถานะอยู่ใน SET50 ต่อไป ก็จะมีกองทุน ประเภท Passive Fund เข้ามารับไม้ต่อ ที่จะต้องเข้ามาซื้อหุ้นตามดัชนีที่ใช้อ้างอิงกับ SET50 Index ต่อไป

Back to top button