ห่วง ‘หนี้’ ฉุดเศรษฐกิจไทยปี 2567

ปัญหาหนี้สินเป็นปัญหาเรื้อรังที่อยู่กับสังคมไทยมายาวนาน ทั้งในส่วนของหนี้ในระบบและหนี้นอกระบบ ซึ่งรัฐบาลได้เร่งดำเนินแก้ไข


เส้นทางนักลงทุน

เมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 2566 เวลา 14.00 น. ที่ทำเนียบรัฐบาล นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการ (รมว.) กระทรวงการคลัง ได้แถลง “การจัดการหนี้ทั้งระบบ” โดยในงานนี้มีประโยคทองที่ออกมาจากปากนายกรัฐมนตรี นั่นคือ

“วันนี้พวกเราไม่สามารถปล่อยให้ลูกหนี้เผชิญปัญหาอยู่อย่างลำพัง ถึงเวลาที่ภาครัฐจะขอยื่นมือไปช่วยเหลือลูกหนี้ที่มีปัญหาทุกคน ให้กลับมาเป็นส่วนหนึ่งของกลไกทางเศรษฐกิจที่แข็งแรง”

ปัญหาหนี้สินเป็นปัญหาเรื้อรังที่อยู่กับสังคมไทยมายาวนาน ทั้งในส่วนของหนี้ในระบบและหนี้นอกระบบ ซึ่งรัฐบาลได้เร่งดำเนินแก้ไข เช่น กำหนดให้การแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบเป็นวาระแห่งชาติ

แต่การแก้ไขปัญหาดังกล่าวต้องใช้เวลา ขณะที่ในระยะสั้น ปัญหาหนี้ หรือหนี้ครัวเรือน จะยังส่งผลกระทบอย่างแน่นอน

ดังนั้นนักเศรษฐศาสตร์หลายสำนักจึงพากันทยอยปรับลดตัวเลขอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ หรือจีดีพีไทย ในปี 2567 ลง โดยในส่วนของคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ประเมินภาวะเศรษฐกิจของไทยในปีหน้าจะขยายตัวอยู่ในช่วง 2.8-3.3% จากปีนี้ที่ติดลบ 1-2%

และมีความเสี่ยงที่จะเติบโตได้น้อยกว่า 3% ซึ่งเป็นระดับศักยภาพเป็นปีที่ 6 ติดต่อกัน เนื่องจากเผชิญปัญหาเศรษฐกิจโลกชะลอตัว และปัจจัยความเปราะบางในประเทศ เช่น หนี้ครัวเรือน ที่พบว่าหนี้เสีย (NPL) ในระบบธนาคารพาณิชย์ยังเพิ่มขึ้นต่อเนื่องจาก 2.68% ในไตรมาส 1 ปีนี้ เป็น 2.79% ในไตรมาส 3 จากสินเชื่อทุกประเภท และหนี้ของภาคธุรกิจ โดยเฉพาะ SMEs

รวมถึงผลกระทบต่อการเข้าถึงสินเชื่อในระบบจากการเริ่มใช้มาตรการการปล่อยสินเชื่ออย่างมีความรับผิดชอบของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่เน้นเรื่องวินัยการไม่สร้างหนี้เกินกำลัง รวมถึงการกลับมาจัดชั้นคุณภาพหนี้ตามปกติหลังยุคโควิด

นอกจากนี้ ยังมีความท้าทายจากศักยภาพการเติบโตของประเทศลดลง การปรับตัวให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงของโลกเพื่อรักษาความสามารถในการแข่งขัน ทั้งด้านเทคโนโลยี เพิ่มผลิตภาพของแรงงานเพื่อเผชิญกับการก้าวเข้าสู่สังคมสูงวัย และการก้าวสู่ low carbon society

ทั้งนี้ ภาคเอกชนยังมีความกังวลต่อความเสี่ยง เห็นได้จากกรณีที่ฝ่ายวิจัย ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ร่วมมือกับสมาคมบริษัทจดทะเบียนไทย สำรวจความคิดเห็นของผู้บริหารบริษัทจดทะเบียนใน SET และ mai (CEO Survey : Economic Outlook 2023-2024) สรุปว่า CEO ส่วนใหญ่คาดว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2566 ปรับตัวดีขึ้น แต่ลดลงจากที่คาดการณ์ไว้ในครั้งก่อน คาดว่าจะเติบโตระดับ 2-3% และคาดการณ์ว่าในปี 2567 จะเติบโตที่ระดับ 3-4%

เนื่องจากการท่องเที่ยว นโยบายการคลัง และการใช้จ่ายภาครัฐ และเสถียรภาพการเมืองในประเทศ จะเป็นเครื่องยนต์ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจต่อเนื่องในปี 2567

แต่มองเสถียรภาพการเมืองในประเทศ กำลังซื้อในประเทศ และการส่งออกจะเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจของไทย โดยคาดว่ากำลังซื้อในประเทศจะเป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญในปี 2567 ทั้งนี้ CEO ส่วนใหญ่ เชื่อว่ากำไรสุทธิของบริษัทจดทะเบียนจะดีขึ้นบ้าง

ด้านการลงทุนในปี 2566 มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นและเพิ่มขึ้นต่อเนื่องในปี 2567 บริษัทจดทะเบียนในหมวดบริการรับเหมาก่อสร้าง หมวดขนส่งและโลจิสติกส์ หมวดสื่อและสิ่งพิมพ์ หมวดเงินทุนและหลักทรัพย์ คาดว่าจะลงทุนเพิ่มขึ้น

ปัญหาหนี้ภาคครัวเรือน คือความเสี่ยงสำคัญที่หลายฝ่ายต่างจับตา ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่าหนี้นอกระบบเป็นปัญหาที่ซับซ้อนในด้านสังคม คุณภาพชีวิต และเศรษฐกิจของภาคครัวเรือน เป้าหมายสำคัญของการแก้ปัญหาหนี้นอกระบบ ก็คือการทำให้ลูกหนี้กลับเข้ามาอยู่ในระบบ ซึ่ง “มาตรการแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนอย่างยั่งยืน” ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในช่วงก่อนหน้านี้ก็มีการเตรียมหลักเกณฑ์ Risk-based pricing สำหรับสินเชื่อไม่มีหลักประกัน เพื่อช่วยดูแลกลุ่มลูกหนี้นอกระบบด้วยเช่นกัน

ขณะที่ ประเด็นสำคัญของแนวทางการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบของภาครัฐ จะอยู่ที่กระบวนการตรวจสอบสถานะของทั้งเจ้าหนี้และลูกหนี้ รวมไปถึงการจูงใจให้เจ้าหนี้มาร่วมแก้ปัญหาให้กับลูกหนี้

สำหรับในระยะข้างหน้า คงต้องติดตามการแก้ปัญหาหนี้สินภาคครัวเรือนส่วนที่อยู่ในระบบ ซึ่งศูนย์วิจยักสิกรไทยประเมินว่า ยอดคงค้างหนี้ครัวเรือนจะขยับขึ้นไปที่กรอบ 16.4-16.5 ล้านล้านบาท ณ สิ้นปี 2566 คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 90-91% ต่อจีดีพี

มีการประเมินว่า หนี้นอกระบบของไทยอาจมีมูลค่าไม่ต่ำกว่า 50,000 ล้านบาท ซึ่งปัญหาหนี้นอกระบบเป็นภาพสะท้อนของปมปัญหาที่ซับซ้อนทางด้านสังคม คุณภาพชีวิต และเศรษฐกิจของภาคครัวเรือน

สำหรับบทสรุปส่งท้ายในสายตาของภาคเอกชน เช่น กกร. เห็นว่าในปี 2567 ประเทศไทยยังมีปัจจัยแปรผันที่อาจจะต้องเผชิญและอาจจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจได้ นอกเหนือจากปัจจัยเสี่ยงที่กล่าวมาทั้งหมด

ประเทศไทยมีความท้าทายจากศักยภาพการเติบโตของประเทศที่ลดลง การปรับตัวให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงของโลกเพื่อรักษาความสามารถการแข่งขัน ทั้งด้านเทคโนโลยี การเพิ่มผลิตภาพแรงงานเพื่อเผชิญกับการเข้าสู่สังคมสูงวัย และคาร์บอนเป็นศูนย์ จึงจำเป็นต้องเร่งปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจให้มีความพร้อม

นี่คือความท้าทายที่รออยู่ในปี 2567 ซึ่งเหลือเวลาอีกไม่กี่วันก็จะส่งท้ายปีเก่าเพื่อก้าวสู่ปีใหม่กันแล้ว

Back to top button