ทิศทางลมรถ EV สัญชาติญี่ปุ่น
การเดินทางเยือนประเทศญี่ปุ่น เพื่อเข้าร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียน-ญี่ปุ่น สมัยพิเศษเพื่อฉลองวาระครบรอบ 50 ปี ความสัมพันธ์อาเซียน-ญี่ปุ่น
การเดินทางเยือนประเทศญี่ปุ่น เพื่อเข้าร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียน-ญี่ปุ่น สมัยพิเศษเพื่อฉลองวาระครบรอบ 50 ปี ความสัมพันธ์อาเซียน-ญี่ปุ่น ณ กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ช่วงปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง มีการหารือกับผู้บริหาร 7 ค่ายรถยนต์ญี่ปุ่น
ไฮไลต์สำคัญคือการเร่งให้แต่ละบริษัทลงทุนผลิตรถ EV ให้เร็วขึ้น เพราะบริษัทเหล่านี้มีการลงทุนในไทยมานาน รวมทั้งหารือถึงการใช้พลังงานสะอาด ที่จะเป็นหัวข้อหลัก ในการประชุมสุดยอดอาเซียน-ญี่ปุ่น สมัยพิเศษ เพื่อฉลองวาระครบรอบ 50 ปีความสัมพันธ์อาเซียน-ญี่ปุ่นด้วย
ทำให้เห็นท่าทีทิศทางและมุมมองการลงทุน 7 ค่ายรถยนต์ญี่ปุ่นมากขึ้น
เริ่มจากค่าย “โตโยต้า” เป็นบริษัทที่ผลิตรถยนต์รายใหญ่สุดในประเทศไทย และทำตลาดมากว่า 60 ปีแล้ว จึงเข้าใจการทำธุรกิจในไทยเป็นอย่างดี ทั้งนี้รถกระบะโตโยต้าไฮลักซ์ เป็นรถที่มียอดจำหน่ายสูง โดยบริษัทมีแผนเริ่มผลิตรถกระบะ EV ภายในปี 2025 ประมาณ 5,000 คัน ถือว่าจำนวนไม่มาก เนื่องจากโตโยต้า มีความเป็นห่วงเรื่องสถานีชาร์จไฟฟ้า แต่โตโยต้า รับจะพิจารณาเร่งการผลิตรถกระบะ EV เร็วขึ้น หากรัฐบาลสนับสนุนการเพิ่มจำนวนสถานีชาร์จไฟฟ้าเพิ่มขึ้นมาก กระจายไปยังหลายจังหวัด
ตามด้วย “ฮอนด้า” มีแผนลงทุนในไทย 50,000 ล้านบาท ช่วงอีก 5 ปีข้างหน้า โดยรัฐบาลยืนยันให้ความสำคัญกับการเปลี่ยนผ่านการใช้พลังงานจากรถยนต์สันดาปสู่รถยนต์ไฟฟ้า (EV) โดยให้ผู้ประกอบการในประเทศสร้างโรงงานที่เป็น Green Energy และการติดตั้งปลั๊กอินไฮบริด เพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายดังกล่าว
ค่าย “นิสสิน” เป็นบริษัทที่เข้ามาทำตลาดรถ EV ในประเทศไทยยุคแรก ตั้งแต่ช่วง 10 ปีที่ผ่านมา นั่นคือ “นิสสัน ลีฟ” และบริษัทยืนยันว่าจะเข้ามาทำตลาดต่อเนื่องในเมืองไทย
ส่วน “มิตซูบิชิ” มีความต้องการพัฒนารถกระบะให้เป็นรถ EV โดยนายกรัฐมนตรีได้ขอให้บริษัทเร่งลงทุนให้เร็วขึ้น เพราะขณะนี้มีการเปลี่ยนแปลงที่ค่อนข้างรวดเร็ว จากการใช้รถสันดาปสู่ EV โดยมิตซูบิชิ จะเริ่มใช้ไทยเป็นฐานในการส่งออกรถกระบะช่วงอีกไม่กี่ปีนับจากนี้
ค่าย “อีซูซุ” ประกาศพร้อมลงทุนในไทยอีกประมาณ 32,000 ล้านบาท ช่วงอีก 5 ปีข้างหน้า หลังจากช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ลงทุนไปแล้วกว่า 20,000 กว่าล้านบาท
ส่วน “มาสด้า” ใช้ไทยเป็นฐานการผลิตรถเพื่อส่งไปจำหน่ายยังประเทศต่าง ๆ โดยมั่นใจว่ารถ SUV มีสมรรถนะที่ดี และพยายามลงทุนเพิ่มเติมในไทย โดยบริษัทมีการจ้างแรงงานไทยค่อนข้างมาก
ฟาก “ซูซูกิ” แม้เป็นบริษัทเล็ก แต่อยู่ในไทยมานานในการผลิตรถอีโคคาร์คือ ซูซูกิสวิฟ ได้ขอให้รัฐบาลไทยช่วยส่งเสริมการผลิตรถอีโคคาร์อย่างต่อเนื่อง โดยนายกรัฐมนตรี แนะนำให้ผลิตมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้า เพราะแนวโน้มขายดีในตลาดเมืองไทย
แม้ว่ากระแสรถ EV จากค่ายรถยนต์สัญชาติจีน กำลังร้อนระอุและเข้ามาตีตลาดรถยนต์สันดาปเดิมอย่างท้าทาย แต่ดูเหมือนท่าทีค่ายรถยนต์ญี่ปุ่น ที่มีรากเหง้าการลงทุนและทำตลาดในประเทศไทยมายาวนาน จะยังปรับกลยุทธ์เข้าสู่ตลาดรถ EV อย่างระมัดระวัง..อย่างยิ่งเลยทีเดียว