สินมั่นคงฯ จ่อถูกปิด

เส้นทางการดำเนินธุรกิจของ SMK น่าจะเหลือค่อนข้างสั้น เชื่อว่าผู้บริหารของบริษัท บุคคลในวงการประกันภัย รวมถึงหน่วยงานกำกับอย่าง คปภ. น่าจะคาดการณ์ไว้แบบเดียวกันนี่แหละ


เส้นทางการดำเนินธุรกิจของ บริษัท สินมั่นคงประกันภัย จำกัด (มหาชน) หรือ SMK น่าจะเหลือค่อนข้างสั้น

เชื่อว่าผู้บริหารของบริษัทฯ บุคคลในวงการประกันภัย และรวมถึงหน่วยงานกำกับอย่าง สำนักงานคณะกรรมการกำกับ และส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย หรือ คปภ. น่าจะมองหรือคาดการณ์ไว้แบบเดียวกันนี่แหละ

ปัญหาของสินมั่นคงเริ่มจากการขายประกันโควิด-19 แบบ “เจอ จ่าย จบ”

ทว่า ปัญหาการระบาดของโควิดที่อยู่นอกเหนือการคาดการณ์

ส่งผลคนติดเชื้อเป็นวงกว้าง

และสินมั่นคงฯ เอง มีการขายประกันประเภทดังกล่าวนับแสนฉบับ

ส่งผลทำให้มียอดเคลมสินไหมมากกว่า 3 หมื่นล้านบาท จนเกิดปัญหาด้านสภาพคล่องทางการเงิน

เดิมนั้น สินมั่นคงฯ พยายามแก้ปัญหาด้วยการส่งจดหมายยกเลิกกรมธรรม์ไปยังผู้เอาประกันภัย

แต่กลับถูก คปภ.สั่งเบรก และให้ดำเนินการจ่ายสินไหมตามสัญญา

บริษัทฯ ทราบดีว่า ไม่มีกำลังจ่ายเงินที่มีมูลค่านับหมื่นล้านบาทแน่ ๆ ขณะที่เงินกองทุนลดต่ำลง

หากเป็นเช่นนั้น อาจจะถูก คปภ. สั่งหยุดรับประกันภัย

บริษัทฯ จึงเลือกแนวทางที่จะยื่นแผนฟื้นฟูกิจการต่อศาลล้มละลายกลาง เพราะอย่างน้อย ให้อำนาจบริหารจัดการมาอยู่กับ ศาลฯ และตนเองยังสามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้

แต่ปัญหาไม่ได้จบแค่นั้น

เพราะในกระบวนการทำแผนฟื้นฟูฯ ทางกลุ่มเจ้าหนี้ไม่โหวตให้ผ่าน

สินมั่นคงฯ จึงสู้ต่อด้วยการแจ้งคัดค้านการโหวตของกลุ่มเจ้าหนี้ไปยังศาลฯ

แต่ศาลกลับมีคำสั่งยกเลิกแผนฟื้นฟูกิจการของสินมั่นคงฯ และบริษัทฯ น่าจะพอทราบชะตากรรม จึงเลือกที่จะประกาศหยุดการรับประกันภัยก่อนที่ทาง คปภ.จะแจ้งออกมาเป็นทางการ

เมื่อเป็นเช่นนั้น ทำให้อำนาจการควบคุมกลับเข้ามาอยู่กับ คปภ.ทันที

ส่วนแนวทางที่ สินมั่นคงฯ จะต้องดำเนินการต่อนับจากนี้

นั่นคือ การเร่งแก้ไขปัญหาทางการเงิน และเงินกองทุนที่ต่ำกว่าเกณฑ์ ตามคำสั่ง คปภ.

ส่วนวิธีการนั้นแก้ไขโดยทั่วไปนั้น เช่น 1.การเพิ่มทุนจากกลุ่มผุ้ถือหุ้นเดิม และ 2.มีกลุ่มผู้ถือหุ้นใหม่ใส่เงินเข้ามาเพื่อซื้อหุ้นหรือซื้อกิจการ

แน่นอนว่า บริษัทที่มีหนี้สินจากค่าสินไหมมหาศาล แทบจะเป็นไปไม่ได้เลยที่จะมีกลุ่มทุนใหม่ใส่เงินเข้ามา เพราะต้องมารับช่วงหนี้ต่อ ส่วนกลุ่มผู้ถือหุ้นเดิม ก็คงไม่มีเงินเติมเช่นกัน

หากสถานการณ์เป็นไปตามนี้

ขั้นตอนต่อไปที่ คปภ.จะดำเนินการคือ “การเพิกถอนใบอนุญาต” (ปิดกิจการ) สินมั่นคงฯ เหมือนกับ 4 บริษัทที่ถูกปิดตัวไปก่อนหน้านี้ คือ บมจ.เอเชียประกันภัย 1950, บมจ.เดอะวันประกันภัย บมจ.อาคเนย์ประกันภัย และ บมจ.ไทยประกันภัย

ส่วนหนี้ที่เกิดจากค่าสินไหมจะถูกโอนไปยังกองทุนประกันวินาศภัย (กปว.)

ปัจจุบัน กปว.มีภาระอยู่แล้วกว่า 5 หมื่นล้านบาท จากการที่ คปภ.สั่งปิด 4 บริษัทประกันภัย

ดังนั้น หากรวมกับภาระของสินมั่นคงฯ อีกกว่า 3 หมื่นล้านบาท

ทำให้ กปว.จะมีภาระหนี้สินไหมที่ต้องจ่ายพุ่งเป็น 8 หมื่นล้านบาท

ถามว่า แล้วกลุ่มลูกค้าที่ซื้อประกันกับสินมั่นคงฯ จะเป็นอย่างไร? กรณีนี้ โดยกรมธรรม์ที่ยังมีผลบังคับ จะมีการโอนไปยังบริษัทประกันภัยแห่งอื่น ๆ ที่จะเข้ามารับช่วงต่อ

มีการคำนวณกันคร่าว ๆ ว่า

กลุ่มเจ้าหนี้ค่าสินไหมของสินมั่นคงฯ และรวมของบริษัทประกันภัยอีก 4 แห่งที่ปิดไปก่อนหน้านี้

กว่าจะได้รับเงินครบทั้งหมดนั้น

น่าจะใช้เวลาระหว่าง 15-20 ปี

หรืออาจจะมากกว่านั้น

Back to top button