พาราสาวะถี

การเข้าใจความเป็นไปของการเมืองย่อมทำให้การบริหารประเทศภายใต้หัวโขนนายกรัฐมนตรีของ เศรษฐา ทวีสิน ดำเนินไปในลักษณะเป็นตัวของตัวเอง


การเข้าใจความเป็นไปของการเมืองย่อมทำให้การบริหารประเทศภายใต้หัวโขนนายกรัฐมนตรีของ เศรษฐา ทวีสิน ดำเนินไปในลักษณะเป็นตัวของตัวเอง โดยที่ฝ่ายตรงข้ามยังคงฝังหัวและปักใจเชื่อว่าทุกย่างก้าวของท่านผู้นำตกอยู่ภายใต้ร่มเงาของ ทักษิณ ชินวัตร เหมือนที่เจ้าตัวย้ำกับสำนักข่าวเกียวโดที่สัมภาษณ์ช่วงระหว่างเดินทางไปเยือนญี่ปุ่น ว่า “แม้ผมจะนั่งบอกคุณไปเรื่อย ๆ จนเลือดกลบปากว่าผมเป็นตัวของตัวเอง คนก็จะไม่เชื่อมันอยู่ดี”

เป็นเรื่องปกติธรรมดาไม่ว่าใครก็ตามที่ก้าวเท้าเข้ามาอยู่ภายในชายคาของพรรคนายใหญ่ ย่อมถูกมองว่าทุกกระบวนการขับเคลื่อนต้องถูกชี้นำโดยผู้ป่วยชั้น 14 โรงพยาบาลตำรวจ แน่นอนว่า ในส่วนของเพื่อไทยย่อมยืนยันว่าไม่ได้เป็นเช่นนั้น เพราะถ้าเป็นจริงก็เท่ากับถูกครอบงำซึ่งจะมีผลทางกฎหมายพรรคการเมืองถึงขั้นยุบพรรค แต่สำหรับเศรษฐาถามว่า มีปรึกษาและแลกเปลี่ยนหรือไม่ ก่อนหน้านั้นยังไงก็ต้องมี แต่หลังจากที่ก้าวเท้าขึ้นมาเป็นนายกฯ แล้ว ย่อมมีระยะห่าง 

ทุกอย่างมันถูกบังคับโดยเงื่อนไขทางการเมืองทั้งสิ้น เอาแค่การกลับมาบ้านเกิดแบบเท่ ๆ เข้าคุกแต่ไม่ได้นอนในเรือนจำ พักรักษาตัวอยู่แต่ในโรงพยาบาลจนจะครบเวลา 120 วันที่ทางกรมราชทัณฑ์จะต้องมีคำตอบให้กับสังคมว่า นักโทษป่วยด้วยโรคอะไร ทำไมต้องพักรักษาตัวนานขนาดนั้น ท่ามกลางเสียงเรียกร้องของพวกขาประจำ และเริ่มมีความเคลื่อนไหวของฝ่ายค้านอย่าง ชัยธวัช ตุลาธน หัวหน้าพรรคก้าวไกลแล้ว ย่อมเกิดเป็นประเด็นที่พุ่งเป้าไปยังการใช้อำนาจของรัฐบาล

ไม่ว่าจะมีกระบวนการตรวจสอบด้วยความสงสัย และเจตนาที่จะสั่นคลอนความน่าเชื่อถือของรัฐบาลเศรษฐาอย่างไร แต่ต้องอย่าลืมว่าการกลับมาประเทศไทยของทักษิณเกิดขึ้นในช่วงที่อำนาจเป็นของรัฐบาลรักษาการ การขอพระราชทานอภัยโทษก็ดำเนินการโดยผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจ ต่อเนื่องมากระทั่งการออกระเบียบกรมราชทัณฑ์ว่าด้วยการคุมขังนอกเรือนจำ ก็ล้วนแต่เป็นกฎหมายที่ถูกยกร่างและผ่านความเห็นชอบในยุครัฐบาลสืบทอดอำนาจทั้งสิ้น

ดังนั้น ทุกอย่างจึงไม่ใช่การเตรียมการ วางแผน เพื่อเอื้อประโยชน์ให้กับทักษิณ เหมือนอย่างที่ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ให้สัมภาษณ์กฎหมายที่เขียนและมีผลบังคับใช้กันก่อนหน้า ใครจะไปตรัสรู้ได้ว่าอดีตนายกฯ คนที่ 23 จะเดินทางกลับมาประเทศไทยวันไหน จึงไม่ควรตั้งข้อกังขากันแบบนั้น ที่สำคัญต้องไม่ลืมว่า เมื่อทุกอย่างอยู่ในสิ่งที่เรียกว่ากระบวนการยุติธรรม มันจึงเป็นไปตามเงื่อนไข ถ้าทักษิณจะได้รับประโยชน์คงโทษใครไม่ได้ หลักการคือ จะยึดความถูกต้องหรือถูกใจ

กรณีของเศรษฐากับข้อกล่าวหาถูกชี้นำ ครอบงำจากพรรคที่ผลักดันให้เป็นนายกฯ นั้น เจ้าตัวย้ำแล้วย้ำอีก การเป็นนายกฯ ของตัวเอง พร้อมที่จะรับฟังข้อเสนอแนะของทุกคนทุกฝ่ายไม่ว่าจะเป็นทักษิณ พิธา หรือ ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ  คำแนะนำจากใครก็ตามที่เข้าท่า จะรับไว้พิจารณาทั้งหมด เพราะท้ายที่สุด ต่างก็รู้ดีว่าอะไรที่เป็นอำนาจของนายกฯ นั้น ตนก็ต้องตัดสินใจด้วยตัวเอง ไม่อย่างนั้นคงไม่มาถึงจุดที่ตนเป็นอยู่ในทุกวันนี้ หากเพียงแต่ทำตามคำแนะนำของคนอื่น

เป็นธรรมดาของพวกขาประจำ พวกเสี้ยม ที่ต้องเปิดประเด็นหาเหตุทำทุกทางในการที่จะบั่นทอนความมั่นใจของเศรษฐา ขณะเดียวกัน ก็พยายามตีประเด็นการก้าวขึ้นมาเป็นหัวหน้าพรรคเพื่อไทยของ แพทองธาร ชินวัตร เพื่อที่จะกดดันและชี้ให้เห็นว่าพร้อมขึ้นเป็นนายกฯ ได้ตลอดเวลา หากผลงานของรัฐบาลไม่เป็นไปตามเป้าหมาย ทั้งที่ความเป็นจริงคนในต่างรู้ดีว่า ยังไม่ถึงเวลาของอุ๊งอิ๊ง ต้องบ่มเพาะประสบการณ์และสร้างบารมีอีกระยะหนึ่ง ซึ่งอาจจะนานไปจนถึงการเลือกตั้งครั้งหน้า

ไม่มีเหตุให้ต้องรีบร้อน ด้านความสัมพันธ์ระหว่างเศรษฐากับอุ๊งอิ๊งนั้น ก็เป็นไปด้วยไมตรีที่ดีนับตั้งแต่การร่วมเป็นผู้นำครอบครัวเพื่อไทยช่วงระหว่างหาเสียงเลือกตั้ง แม้กระทั่งทุกวันนี้ ทั้งคู่ก็ยังคงแลกเปลี่ยนให้คำแนะนำระหว่างกัน ตามที่เศรษฐาบอกกับนักข่าวญี่ปุ่น เราเคารพซึ่งกันและกัน สุดท้ายแล้ว เวลาจะบอกเอง ขณะที่ภายในพรรคแกนนำรัฐบาลเองก็รู้ดีว่า ภายใต้สถานการณ์ทางการเมืองที่เป็นอยู่ ทั้งฝ่ายบริหาร พรรค และฝ่ายนิติบัญญัติจะต้องทำงานเป็นหนึ่งเดียวกัน

ไม่เพียงแต่คนพรรคเดียวกันเท่านั้น รวมไปถึงพรรคร่วมรัฐบาลด้วย ปัญหาสภาล่มเกิดขึ้นได้แต่อย่าให้บ่อย เพราะมันจะกลายเป็นจุดอ่อนจนสร้างแรงกระเพื่อมต่อเสถียรภาพของรัฐบาล อย่างที่รู้กันว่า สมัยประชุมนี้นอกเหนือจากกฎหมายสำคัญที่จะต้องผ่านการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสภา แล้ว ฝ่ายค้านยังสามารถที่จะยื่นอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลได้ ไม่ว่าจะเป็นการอภิปรายเพื่อนำไปสู่การลงมติ หรืออภิปรายทั่วไปโดยไม่ลงมติ

นั่นหมายความว่า หากไม่สามารถคอนโทรล 314 เสียงให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน พร้อมกับการเร่งสร้างผลงานให้เป็นที่ประจักษ์ ย่อมจะกลายเป็นจุดอ่อนให้ฝ่ายค้านนำไปโจมตี โดยมีบททดสอบที่จะแสดงถึงความเป็นเอกภาพของพรรคร่วมรัฐบาลคือ การพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 ที่จะเข้าสู่กระบวนการของสภาฯ ในเดือนหน้า ถ้าผ่านจุดนั้นไปได้ด้วยความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน ก็น่าจะทำให้เศรษฐาและรัฐบาลเบาใจได้ว่า การยืนระยะแบบยาว ๆ อยู่จนครบวาระมีความเป็นไปได้สูง

สัญญาณอีกอย่างที่น่าจะทำให้รัฐบาลพบกับความลำบากใจน้อยลงในแง่ของงานในสภา คงเป็นท่าทีของพรรคประชาธิปัตย์ในฐานะพรรคร่วมฝ่ายค้าน การรับสนองพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง ชัยธวัช หัวหน้าพรรคก้าวไกลเป็นผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันพุธที่ผ่านมา ไม่ปรากฏว่ามี สส.ของพรรคเก่าแก่แม้แต่คนเดียวมาร่วมงาน ย่อมทำให้เกิดข้อสงสัยว่านี่อาจจะเป็นการทอดไมตรีไปยังรัฐบาล ผลพวงจากการรัฐประหารล่าสุดอาจนำพาประชาธิปไตยถอยหลังลงคลอง แต่อีกด้านมันก็ทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในแง่ของนักการเมือง และพรรคการเมือง หากไม่ปรับตัวโอกาสสูญพันธุ์สูงเป็นอย่างยิ่ง

Back to top button