พาราสาวะถี

แม้จะอยู่ในช่วงของการลาพักผ่อน แต่ เศรษฐา ทวีสิน ก็อดไม่ได้ที่จะสื่อสารกับประชาชน โดยวันวานได้มีการทวิตข้อความแสดงความเป็นห่วงเรื่องของอัตราการเกิดของคนไทยที่พบว่าต่ำสุดในรอบ 71 ปี


แม้จะอยู่ในช่วงของการลาพักผ่อน แต่ เศรษฐา ทวีสิน ก็อดไม่ได้ที่จะสื่อสารกับประชาชน โดยวันวานได้มีการทวิตข้อความแสดงความเป็นห่วงเรื่องของอัตราการเกิดของคนไทยที่พบว่าต่ำสุดในรอบ 71 ปี ถือเป็นโจทย์ใหญ่ที่จะต้องกำหนดแนวทางในการแก้ไข ขณะที่วันนี้ (22 ธันวาคม) หลังเที่ยงวันถือเป็นเวลาสิ้นสุดการลาของนายกรัฐมนตรี โดยที่ช่วงค่ำจะเดินทางไปชมศึก ONE ลุมพินี 46 ที่สนามมวยลุมพินี บางเขน ซึ่งรายการดังกล่าวถือเป็นปรากฏการณ์ซอฟต์พาวเวอร์ของมวยไทย เพราะได้เปลี่ยนโฉมวงการมวยในสายตาชาวโลก ซึ่งก็ตรงกับแนวทางที่รัฐบาลได้วางแผนการขับเคลื่อนเอาไว้

หลังจากนั้นวันเสาร์ก็จะบินไปจังหวัดน่านในช่วงบ่ายสองโมง เพื่อติดตามการเจรจาแก้หนี้ในพื้นที่ โดยจะมีการประชุม 2 วงคือ หน่วยงานราชการ ชาวบ้านหรือลูกหนี้ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ที่ศาลากลางจังหวัดน่าน ตามสโลแกนทำงานไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย ส่วนประเด็นทางการเมืองก็ปล่อยให้เป็นหน้าที่ของรัฐมนตรีที่สังกัดพรรคเพื่อไทย และพรรคแกนนำรัฐบาลชี้แจงกันไป ในเวลานี้ก็มีเรื่องร้อนเกี่ยวกับ ทักษิณ ชินวัตร ที่ถูกมองว่าเป็นนักโทษเทวดานั่นเอง

กระบวนการตรวจสอบเรื่องการเจ็บป่วยที่เข้ารักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาลตำรวจ วัชระ เพชรทอง อดีต สส.ของพรรคประชาธิปัตย์ ใช้การยื่นร้องผ่านคณะกรรมาธิการตำรวจ สภาผู้แทนราษฎร ที่มี ชัยชนะ เดชเดโช สส.นครศรีธรรมราช พรรคเดียวกันเป็นประธาน ประชุมกันเป็นนัดที่สองต่อเนื่อง โดยวันวานมีการเชิญ พันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง รัฐมนตรียุติธรรมมาชี้แจง แต่มีการมอบหมายให้รองอธิบดีกรมราชทัณฑ์มาชี้แจงแทน รวมถึงแพทย์จากโรงพยาบาลตำรวจด้วย

มีการจี้ถามถึงเรื่องทักษิณรักษาตัวอยู่ตลอดเวลาจริงหรือไม่ การที่ออกจากเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ไปที่โรงพยาบาลตำรวจ ในช่วงเที่ยงคืนของวันที่ 23 สิงหาคม นายแพทย์ที่รักษาอดีตนายกรัฐมนตรี ได้มีการตรวจจริงหรือไม่ มีความจำเป็นที่จะต้องไปรักษาที่โรงพยาบาลตำรวจใช่หรือไม่ แน่นอนว่า ฝ่ายกรมราชทัณฑ์ก็ยกเอาระเบียบต่าง ๆ มาชี้แจง ขณะที่แพทย์ก็จะอธิบายได้ถึงความจำเป็น แต่ไม่สามารถเปิดเผยรายละเอียดของโรคและกระบวนการรักษาได้

ส่วนการครบระยะเวลารักษา 120 วันแล้ว จำเป็นต้องรักษาตัวต่อหรือไม่ ขึ้นอยู่กับดุลพินิจของแพทย์และกรมราชทัณฑ์ที่จะต้องวินิจฉัยร่วมกัน อย่างไรก็ตาม ความกังขาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น ภูมิธรรม เวชยชัย ยืนยันว่าเรื่องดังกล่าวเป็นไปตามกระบวนการและระเบียบต่าง ๆ ที่มีอยู่ ทักษิณเข้ามาตามกระบวนการ และคำพิพากษาก็เป็นไปตามกระบวนการยุติธรรม การเจ็บป่วยก็มีระเบียบรองรับอยู่แล้ว และกรมราชทัณฑ์ก็มีหน้าที่ดูแลอยู่ ยืนยันว่า ไม่มีใครไปเกี่ยวข้องหรือแทรกแซง เรื่องดังกล่าวเป็นเรื่องของแพทย์

กรณีที่เกิดขึ้นไม่ว่าจะเป็นใครโดยเฉพาะอย่างยิ่งคนในรัฐบาลยิ่งมาจากพรรคเพื่อไทยอธิบาย ฝ่ายที่ตั้งป้อมหรือพวกขาประจำไม่มีทางที่จะรับฟังอยู่แล้ว ขึ้นอยู่กับสังคมส่วนใหญ่ว่าจะมองไปในทิศทางใด แต่ต้องไม่ลืมว่า เมื่อทุกอย่างอยู่ในกระบวนการก็ต้องยอมรับ ไม่ว่าระเบียบราชทัณฑ์ที่ออกมาใหม่ หรือกฎหมายใดที่เกี่ยวข้อง ไม่ใช่การนำมาใช้เพียงเพื่อคน ๆ เดียว แต่นักโทษรายอื่นที่เข้าเงื่อนไขก็สามารถใช้สิทธิได้เช่นเดียวกัน

เพียงแต่ว่าการโหมประโคมข่าวด้านหนึ่งก็ต้องยอมรับความจริงว่าเป็นเรื่องทางการเมือง เมื่อเจตนาให้เป็นการเมืองมันย่อมนำมาซึ่งข้อถกเถียง และท้ายที่สุดก็นำไปสู่ความขัดแย้ง ถามว่าคนส่วนใหญ่ต้องการให้เป็นเช่นนั้นหรือไม่ ที่หนักไปกว่านั้น มีพวกเสี้ยมชี้ว่าถ้าทักษิณได้รับการดูแลขนาดนี้ ต่อไป ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ก็น่าจะเดินทางกลับมารับโทษเหมือนกัน เป็นการให้ร้ายชนิดไม่ได้มองถึงความเป็นจริงว่าเงื่อนไขมันต่างกัน โดยเฉพาะเรื่องอายุของสองพี่น้อง รายของทักษิณนั้นเข้าเงื่อนไขที่จะได้รับการดูแลตามระเบียบ และกฎหมายทุกประการ

แต่รายของอดีตนายกฯ หญิงเป็นไปได้ยากที่จะได้รับอานิสงส์จากข้อกฎหมายต่าง ๆ เท่านี้ก็พอจะทำให้เห็นแล้วว่า ระเบียบ กฎหมายต่าง ๆ ที่ออกมาในช่วงของรัฐบาลเผด็จการ คสช.และเผด็จการสืบทอดอำนาจนั้น ไม่ได้เป็นการเอื้อประโยชน์ให้ทักษิณแต่อย่างใด ความจริงที่ต้องยอมรับกันอีกประการคือการจัดระเบียบในเรือนจำที่มีความแออัดนั้น เป็นไปตามข้อเสนอแนะของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ หรือ กสม. และเพื่อให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล

คำประกาศของ ชัยธวัช ตุลาธน หัวหน้าพรรคก้าวไกลในฐานะผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎรที่ว่า จะไม่ค้านแบบหัวชนฝา อะไรที่ร่วมกับรัฐบาลในการผลักดันเพื่อให้เกิดประโยชน์กับประชาชนได้ก็จะทำ ต้องดูร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียมที่ ครม.เห็นชอบและมีการนำบรรจุเข้าสู่วาระพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร ทั้งแกนนำฝ่ายค้านและรัฐบาล จะจับมือกันจนสามารถนำกฎหมายไปสู่ภาคปฏิบัติได้หรือไม่ หากสำเร็จก็ถือเป็นนิมิตหมายอันดีของมิติทางการเมือง

ส่วนร่างกฎหมายอื่นที่น่าจับตามองหลังสิ้นปีไปแล้วคงมีอยู่ 2 เรื่องคือ ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 และร่าง พ.ร.บ.กู้เงิน 5 แสนล้านบาทเพื่อใช้ในโครงการดิจิทัลวอลเล็ต โดยอย่างหลัง จุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยคลังแย้มมาแล้วว่า ให้รอฟังคำตอบจากคณะกรรมการกฤษฎีกาภายในต้นปีหน้า ซึ่งน่าจะไม่ใช่สัปดาห์แรกหรือสัปดาห์ที่สอง นั่นหมายความว่า กฎหมายงบประมาณจะเข้าสู่กระบวนการพิจารณาก่อน

แต่ขณะนี้ ผลการหารือ 4 ฝ่ายคือ วิปรัฐบาล วิปฝ่ายค้าน ผู้นำฝ่ายค้านและรัฐบาลยังไม่ได้ข้อสรุป จะพิจารณากันในวันที่ 3-4 มกราคม หรือ 10-11 มกราคมแน่ ฝ่ายค้านขอให้ยืดเวลาออกไป ด้วยเหตุผลให้ สส.มีเวลาศึกษารายละเอียด อย่างไรก็ตาม เมื่อเป็นเรื่องงบประมาณการจะถูกดึงให้ช้าจึงไม่น่าจะใช่ เพราะถือเป็นผลประโยชน์ของบ้านเมือง ประชาชน ที่สำคัญนักเลือกตั้งก็จะได้รับผลประโยชน์ไม่ว่าในแง่ใดก็ตาม ดังนั้น ไม่ว่าจะพิจารณาช่วงเวลาไหน เชื่อว่ากระบวนการจะเร็วและจบกันไม่เกินเดือนมีนาคม ถ้าเป็นไปตามนี้ แสดงว่าฝ่ายนิติบัญญัติที่ดูเหมือนจะขัดแย้งอาจไม่ได้เป็นอย่างภาพที่เห็นกันก็ได้

Back to top button