ลดค่าไฟแบบมักง่าย
เมื่อปลายปี 2565 สมัย “รัฐบาลลุง” แก้ปัญหาค่าไฟแพงในงวดเดือน ม.ค.-เม.ย. 2566 ด้วยการขอรับบริจาครายได้ในกิจการโรงแยกก๊าซจากปตท. เดือนละ 1,500 ล้านบาท จำนวน 4 เดือน รวมเป็นเงิน 6,000 ล้านบาทเอาดื้อ ๆ
เมื่อปลายปี 2565 สมัย “รัฐบาลลุง” แก้ปัญหาค่าไฟแพงในงวดเดือน ม.ค.-เม.ย. 2566 ด้วยการขอรับบริจาครายได้ในกิจการโรงแยกก๊าซจากปตท. เดือนละ 1,500 ล้านบาท จำนวน 4 เดือน รวมเป็นเงิน 6,000 ล้านบาทเอาดื้อ ๆ
ก็แปลกดีนะ บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) แม้จะเป็นบริษัทที่รัฐถือหุ้นทั้งทางตรงและทางอ้อมอยู่ร้อยละ 63 มีสถานะเป็นรัฐวิสาหกิจอย่างไม่ต้องสงสัย แต่ก็มีอีกสถานะหนึ่งคือ เป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ที่ต้องรับผิดชอบต่อผู้ถือหุ้นที่เป็นทั้งนักลงทุนทั่วไป และนักลงทุนสถาบันทั้งในและต่างประเทศ
การใช้จ่ายเงิน ก็ต้องมีเหตุมีผล สามารถตอบคำถามสาธารณชนได้ แต่การต้องแบ่งรายได้หรือเงินบริจาค เพื่อนำไปอุดหนุนการลดค่าไฟฟ้า ก็ไม่รู้เหมือนกันว่า ปตท.จะบันทึกค่าใช้จ่ายรายการนี้อย่างไร และฝ่าคำถามผู้ถือหุ้นมาได้อย่างไร
หรือนี่จะเป็นคำตอบหรือเปล่าว่า ทำไมราคาหุ้นปตท.หรือ PTT ถึงนิ่งสนิท เคลื่อนไหวในระดับ 30-35 บาท ทั้งต่ำและไล่เลี่ยกับราคา IPO เมื่อ 20 กว่าปีก่อนเสียอีก ผลประกอบการงวดปี 2565 ที่ผ่านมา กำไร 91,174 ล้านบาท หากไม่มีรายการ “เงินบริจาค” 6,000 ล้านบาท กำไรก็จะเป็น 97,174 ล้านบาท
หย่อน 1 แสนล้านบาทไปไม่เท่าไหร่ ซึ่งปันผลผู้ถือหุ้นทั้งรัฐ-เอกชน ก็จะมีจำนวนสูงขึ้นด้วย
มาปีนี้ เอาไงดี? วิธีการลดค่าไฟในงวด ม.ค.-เม.ย. 67
ครม.วันอังคารที่ 19 ธ.ค.ที่ผ่านมา มีมติเห็นชอบมาตรการลดค่าครองชีพให้กับประชาชนด้วยการตรึงค่าไฟฟ้างวดใหม่โดยแบ่งเป็น 2 ระดับ
ระดับที่ใช้ไฟฟ้าเกิน 300 หน่วย/เดือน ให้ปรับลดอัตราค่าไฟฟ้าจากเดิม 4.68 บาท/หน่วย เป็นไม่เกิน 4.20 บาท/หน่วย และระดับครัวเรือนที่ใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 300 หน่วย/เดือน ประมาณ 17 ล้านครัวเรือน ให้ตรึงราคาไว้ที่ 3.99 บาท/หน่วย ใช้เงินอุดหนุนประมาณ 1,950 ล้านบาท
วิธีการลดค่าไฟ ที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาคแถลง พอจับใจความได้ว่า จะใช้เงิน “ชอร์ตฟอล” (Shortfall) ที่ “ผู้ขาย” ผิดสัญญา ไม่สามารถส่งก๊าซในแหล่งเอราวัณให้ “ผู้ซื้อ” ได้ตามกำหนด และจะต้องส่งมอบก๊าซส่วนที่ขาดไปในภายหลังด้วยราคาที่ลดลง คิดเป็นจำนวนเงิน 4,300 ล้านบาท
ปรากฏว่า เรื่องนี้ กกพ.หรือคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน ก็ได้มีหนังสือทวงปตท.มาทีหนึ่งแล้ว แต่ปตท.อุทธรณ์คำสั่ง เนื่องจากไม่มีความชัดเจนในเรื่องของความรับผิดชอบ ระหว่างเชฟรอนผู้รับสัมปทานเก่ากับปตท.สผ.ผู้รับสัญญาฯ ใหม่ ซึ่งเริ่มต้นในเดือน เม.ย. 65
นอกจากนี้ ก็ยังมีเรื่องของการเข้าพื้นที่ล่าช้าของปตท.สผ.ในแปลงเอราวัณถึง 2 ปี ซึ่งทางเชฟรอนก็ต่อรองจะรับผิดชอบค่ารื้อถอนแท่นผลิตตามสัดส่วนการลงทุนที่ปตท.สผ.จะใช้แท่นผลิตเก่า ไม่ใช่ความรับผิดชอบค่าใช้จ่ายรื้อถอนเต็ม 100 เปอร์เซ็นต์ตามสัญญาสัมปทาน
กระทรวงพลังงานโดยกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติไม่ยินยอม ซึ่งถ้าใช้หลักการธุรกิจเอกชนก็คงจะง่ายดายกว่านี้ โดยให้ปตท.สผ.รับผิดชอบส่วนลงทุนแท่นเก่าไป เชฟรอนก็ไม่ต้องมารับผิดชอบค่ารื้อถอนร้อยเปอร์เซ็นต์ ก็จบกันไป
แต่กระทรวงพลังงาน คงกลัวจะมีใครเอามาตรา 157 ทำให้รัฐเสียผลประโยชน์มาเล่นงานในภายหลัง การเข้าพื้นที่ของปตท.สผ.จึงล่าช้าไป 2 ปี และก็ทำให้กำลังผลิตตามสัญญา 800 ล้านลูกบาศก์ฟุต/วัน ล่าช้าอีก 2 ปีตามไปด้วย
ไม่รู้จะกล่าวอย่างไรดี แก้ปัญหาค่าไฟแพงกันแบบมั่ว ๆ ซั่ว ๆ เช่นนี้ หนหน้าขอให้หาวิธีดีกว่านี้และยั่งยืนกว่านี้หน่อยเถอะ คิดอะไรไม่ออก ก็หาเรื่องทุบปตท.กันสนุกมือ