สะพาน กับ แม่น้ำแฉทุกวัน ทันเกมหุ้น
นายขจรศิษฐ์ สิ่งสรรเสริญ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และผู้ถือหุ้นใหญ่อันดับหนึ่งในบริษัท แมกซ์ เมทัล คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ MAX เป็นกรณีล่าสุดอีกแล้วที่รายงานตลาด ด้วยจำนวนหุ้น 1.186.70 ล้านหุ้น ราคาหุ้นละ 0.21 บาท รวมแล้วได้เงินเข้ากระเป๋าไป 249.20 บ้านบาท
นายขจรศิษฐ์ สิ่งสรรเสริญ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และผู้ถือหุ้นใหญ่อันดับหนึ่งในบริษัท แมกซ์ เมทัล คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ MAX เป็นกรณีล่าสุดอีกแล้วที่รายงานตลาด ด้วยจำนวนหุ้น 1.186.70 ล้านหุ้น ราคาหุ้นละ 0.21 บาท รวมแล้วได้เงินเข้ากระเป๋าไป 249.20 บ้านบาท
เทียบกับต้นทุนหุ้นที่ได้มาตอนซื้อราคาหุ้นละ 0.05 บาท มีกำไรหุ้นละ 0.16 บาท
ขายหุ้นได้ราคาดีกว่าต้นทุน ไม่มีปัญหา เพราะราคาซื้อขายอยู่ที่คนซื้อคนขายจะตกลงกัน แต่ ประเด็นมันอยู่ตรงที่ว่า ตอนที่นายขจรศิษฐ์ ทำการขายหุ้นไปเมื่อเดือนกันยายน 600 ล้านหุ้น ในราคาหุ้นละ 0.27 บาทนั้น เขาพูดเสียงดังฟังชัดเป็นสัญญาประชาคมว่า “หลังจากนี้ไปผมจะไม่ทำการขายหุ้นของ MAX อีก โดยจะยังคงเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่และเป็นผู้บริหารของ MAX ต่อไป ขณะเดียวกันยังคงเดินหน้าแผนการดำเนินงานทุกอย่าง เพื่อให้ MAX มีทิศทางที่เติบโตดีขึ้น..”
แผนงานที่ว่า ก็ของเดิมที่ยังไม่ได้ทำนั่นเอง คือ ให้ที่ปรึกษาทางการเงินอิสระ (IFA) ดำเนินการประเมินมูลค่าสินทรัพย์ในการที่ MAX จะเข้าซื้อบริษัท ไซมิส แอสเสท จำกัด (SA) และภายในเร็วๆ นี้ มีโอกาสที่จะซื้อหุ้นบริษัทอื่นๆ เข้ามาเพิ่มเติม เพื่อให้ MAX มีผลการดำเนินงานที่เติบโตขึ้น ซึ่งจะเป็นการรองรับหากไม่สามารถซื้อ SA ได้…ไม่รู้ทำไมช้าเหลือเกิน หลังจากที่เวลาผ่านมาปีเศษๆ แล้ว
แผนที่ยังไม่ได้ทำนี่แหละที่ทำให้คนตั้งคำถามว่า แท้จริงแล้ว กลุ่มของขจรศิษฐ์ ต้องการอะไรกันแน่ หลังจากที่หอบเงินกว่า 600 ล้านเข้ามาซื้อหุ้น12,000 ล้านหุ้น หรือคิดเป็น 60.50% ของสัดส่วนหุ้นทั้งหมด
ในขณะที่แผนเดิมในส่วนของธุรกิจของ MAX จะยังดำเนินธุรกิจเทรดดิ้งเหล็กต่อไป โดยปัจจุบันนี้ได้ซื้อเหล็กมาจากผู้ประกอบการเหล็กภายในประเทศ และทำการขายเหล็กให้กับกลุ่มผู้ซื้อที่มีความคุ้นเคยกัน
จะเห็นได้จากข้อมูลว่า ระหว่างที่ขจรศิษฐ์ใช้เวลารอให้แผนงานบรรลุผล (ตามที่อ้าง) ก็ถือโอกาสทยอยขายหุ้น หรือให้ยอมทิ้งหุ้นออกจากมือไปเป็นระยะๆ แต่ละครั้งก็จะบอกว่า จะไม่ขายอีกแล้ว…ไม่ขายอีกแล้ว..เหมือนแผ่นเสียงรุ่นเก่าตกร่อง
คำนวณแล้ว ทำกำไรชนิดเกือบถอนทุนได้หมดเกลี้ยง..
ปากบอกไม่ขาย แต่มือก็ปล่อยหุ้นทำกำไรไปเรื่อยๆ…มันเหมือนกับที่ นิกิต้า ครุสชอฟ อดีตผู้นำโซเวียต เคยแดกดันนักการเมืองอเมริกันในอดีตว่า “…พวกนี้ชอบพูดถึงการสร้างสะพาน โดยที่ยังไม่รู้เลยว่าตรงนั้นมีแม่น้ำหรือไม่…”
ปี 2558 ปีเดียว ขจรศิษฐ์ ปล่อยหุ้นออกจากมือไปแล้ว 4 ล็อตใหญ่ ทั้งขายและให้ยืม (ดูในตารางประกอบ) รวมแล้วมากกว่า 2,000 ล้านหุ้น หรือประมาณ 10% เศษ… แล้วจะให้เข้าใจว่ากำลังสร้างสะพานโดยไม่มีแม่น้ำอย่างนั้นหรือ
หากย้อนดูข้อเท็จจริง พบว่า นับแต่ขจรศิษฐ์กับพันธมิตร (ที่อ้างว่าไม่รู้จักกัน) ขนเงินเข้ามาซื้อกิจการ MAX เมื่อกลางปี 2557 ก็ยังมิได้ดำเนินธุรกิจอะไรเป็นชิ้นเป็นอัน 9 เดือนแรกของปีนี้ มีรายได้เพียงแค่ 80.07 ล้านบาท ขาดทุนไป 25.04 ล้านบาท เมื่อเทียบกับส่วนผู้ถือหุ้น 915.07 ล้านบาท ก็เป็นแค่บริษัทที่มีแต่เงินสดถือไว้เฉยๆ
หากว่า MAX ยังคงทำธุรกิจเทรดดิ้งเหล็กในประเทศแบบซื้อมาขายไปตามที่อ้างกัน ก็แสดงว่า ธุรกิจนี้มีธุรกรรมน้อยถึงน้อยมาก แถมยังขาดทุนอีก ก็แสดงว่า เป็นธุรกิจที่ “ทำมาค้าไม่ขึ้น”…ก็ไม่รู้จะทำไปทำไม
จากรูปการณ์ แสดงว่า ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น แผนเดิมเรื่องของการทำแบ็กดอร์ฯที่เคยสร้างความฮือฮา นับแต่กลุ่มนี้เข้ามาซื้อกิจการจาก MAX แล้ว ด้วยการวางแผนเพิ่มทุนอีก 1,983.32 ล้านหุ้น (ประมาณ 8% ของจำนวนหุ้นที่มีอยู่เดิม) ในราคาพาร์หุ้นละ 1 บาท เสนอขายแบบ RO ให้แก่ผู้ถือหุ้นเดิม ในราคาใหม่ หุ้นละ 1.30 บาท แถมเงื่อนไขว่า หากผู้ถือหุ้นเดิมไม่ซื้อ จะเอาไปขายแบบ PP ให้พันธมิตรแทน เพื่อเปิดทางให้ SA กลายเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของ MAX โดยปริยาย ซึ่งสาระคือ การเทกโอเวอร์แบบย้อนศร หรือ reversed takeover ซึ่งถูกตั้งคำถามในปีก่อนว่า นี่คือ การ “ปล้นกลางแดด” คือความหวังหลัก…ใช่หรือไม่
คำตอบ…ยังล่องลอยอยู่ในสายลม
คำถามส่งท้ายปีนี้คือ เส้นทางของ MAX ในปีหน้า ภายใต้กำมือของขจรศิษฐ์ จะวนเวียนซ้ำรอย “ทางเกวียนเดิม” จากการที่เป็นบริษัทในตลาดหุ้นที่มีประวัติอันโชกโชนกับการปรับโครงสร้างหนี้และปัญหาการเงิน รวมทั้งการเปลี่ยนมือผู้ถือหุ้น กับเปลี่ยนชื่อมาหลายระลอก นับแต่ชื่อเดิม บริษัท ไทยเอนจิน เมนูแฟ็คเจอริ่ง จำกัด (มหาชน) หรือ TEM ซึ่งทำธุรกิจผลิตและจำหน่ายเครื่องยนต์ดีเซลขนาดเล็ก “AMAC สิงห์คะนองนา” มาเป็น บริษัท อะโกร อินดัสเตรียล แมชชีนเนอรี่ จำกัด (มหาชน) หรือ AMAC แล้วมาเป็น MAX พร้อมกับวิศวกรรมการเงินซ้ำซากในลักษณะ “ใส่ตะกร้าล้างน้ำ”
ถือเป็นประเด็นที่นักลงทุนต้องพิจารณากันเอาเอง..การลงทุนมีความเสี่ยง แต่การลงทุนในบริษัทที่สร้างสะพานโดยไม่มีแม่น้ำ…ยิ่งกว่าเสี่ยง พะยะค่ะ