STEC รัฐสภาถึงสีชมพู.!

ถ้าพูดถึง STEC เป็น 1 ใน 3 บิ๊กรับเหมาก่อสร้างของไทย ที่มี “เสี่ยหนู” เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่..!! ซึ่งเรื่องนี้นักลงทุนคงรู้ดีอยู่แล้ว...


ถ้าพูดถึงบริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่งแอนด์คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ STEC เป็น 1 ใน 3 บิ๊กรับเหมาก่อสร้างของไทย ที่มี “กลุ่มชาญวีรกูล” ของ “เสี่ยหนู”-อนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย ปัจจุบันนั่งเป็นมท.1 หรือรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่..!! ซึ่งเรื่องนี้นักลงทุนคงรู้ดีอยู่แล้ว…

ขณะที่ ผลงานชิ้นโบว์ดำ…อุ๊ย โบว์แดงของ STEC ที่น่าจะติดตราตรึงใจคนไทยไม่เคยลืมเลือน คงหนีไม่พ้นการก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ หรือ “สัปปายะสภาสถาน” มูลค่า 12,280 ล้านบาท ที่ขอต่อเวลาแล้วต่อเวลาอีก (ล่าสุดอ้างว่าติดช่วงวิกฤตโควิด) จนทำให้การส่งมอบงานล่าช้ามาเนิ่นนานกว่า 2 ปี ถึงตอนนี้ก็ยังไม่รู้จะส่งมอบได้เมื่อไหร่..??

ส่งมอบงานล่าช้าไม่พอ ยังมีประเด็นเรื่องประติมากรรมน้ำตกกลางสภาฯ อยู่เป็นเนือง ๆ ยามเมื่อฝนพรำตามมาอีก…งามหน้าจริง ๆ…

กลายเป็นประเด็นวิพากษ์วิจารณ์กันให้แซดถึงฝีมือการก่อสร้างของ STEC..!!

เรื่องเก่าไม่ทันเคลียร์…ก็มีเรื่องใหม่งอกขึ้นมาอีกแล้ว กับกรณีรถไฟฟ้าสายสีชมพู หรือ “น้องชมพู” ช่วงแคราย–มีนบุรี รวม 30 สถานี ที่อยู่ระหว่างเปิดบริการทดลองนั่งฟรีมาตั้งแต่วันที่ 21 พ.ย. 2566 และกำหนดเปิดให้บริการเชิงพาณิชย์แบบเก็บค่าโดยสาร 15-45 บาท ในวันที่ 3 ม.ค. 2567 เป็นต้นไป

จู่ ๆ เกิดเหตุไม่คาดฝัน เมื่อรางจ่ายกระแสไฟฟ้าร่วงหล่นเป็นทางยาวกว่า 5 กิโลเมตร บริเวณหน้าตลาดกรมชลประทาน ทำให้รถยนต์ได้รับความเสียหาย 3 คัน เมื่อช่วงเช้ามืดวันอาทิตย์ที่ 24 ธ.ค.ที่ผ่านมา จนต้องปิดให้บริการ 7 สถานี ตั้งแต่ศูนย์ราชการนนทบุรี-เลี่ยงเมืองปากน้ำ

ดีนะเนี่ย…ที่ไม่มีคนได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิต…ไม่งั้นคงงามไส้มากกว่านี้…จริงมั้ย.??

งานนี้นอกจากบริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) หรือ BTS ของ “เจ้าสัวคีรี กาญจนพาสน์” ในฐานะเจ้าของโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู ต้องรับผิดชอบความเสียหายที่เกิดขึ้นแล้ว…STEC ในฐานะเป็นผู้รับเหมาก่อสร้าง และมีการลงทุน JV ในบริษัท นอร์ทเทิร์น บางกอกโมโนเรล จำกัด (NBM) ที่เป็นผู้ดำเนินงานในรถไฟฟ้าสีชมพู 15% ก็ต้องร่วมรับผิดชอบด้วย

โอเค…ในแง่ของการชดเชยค่าเสียหาย ก็คงเป็นหน้าที่ของบริษัทประกัน…ก็ว่ากันไป

แต่เมื่อเกิดเหตุการณ์ลักษณะนี้ ก็ไม่แคล้วเกิดข้อกังขาถึงมาตรการความปลอดภัย..?

แม้ภายหลังมีคำชี้แจงออกมาว่า “มีเศษดิน ที่เกิดจากบริษัทของผู้รับเหมา ที่กำลังจะคืนพื้นที่ในการก่อสร้าง ยกเครนขึ้นเพื่อจะไปดึงชีทไพล์ไม่ให้ดินถล่ม แล้วพอดึงชีทไพล์ขึ้น เศษดินก็ไปติดรถตรวจการ ทำให้พอมีดินมาติด รางที่จ่ายไฟเกิดแรงกระชากแล้วล้มลงมา พอล้มลงมา ก็ไปพาดสายไฟ และทำให้เสาไฟฟ้าล้มลงมา ซึ่งเรื่องนี้ไม่ใช่เหตุการณ์ที่เกิดกับขบวนโดยสารรถไฟฟ้า” ก็ตามเถอะ

ตอนนี้ประชาชนที่ใช้บริการรถไฟฟ้าสายสีชมพูเค้าไม่มั่นใจ กลัวว่าวันดีคืนดีอาจจะมีอะไรหล่นลงมาอีกอ๊ะป่าว..? หรือซ้ำร้ายอาจเกิดเหตุการณ์ขบวนรถไฟฟ้าหล่นลงมาก็ได้…ใครจะไปรู้

ในขณะที่รางจ่ายไฟฟ้าดังกล่าว NBM ได้ว่าจ้างผู้รับเหมาสัญชาติฝรั่งเศสเจ้าหนึ่งทำ ไม่ได้อยู่ใน Scope งานของ STEC ที่รับเฉพาะงาน civil…แต่แว๊บแรกคนก็จะเข้าใจว่าเป็นฝีมือของ STEC ในฐานะผู้รับเหมานั่นแหละ…

เอาเถอะ ไม่ว่าจะเป็นฝีมือ STEC โดยตรงหรือไม่..? แต่คงปฏิเสธความรับผิดชอบไปไม่ได้ ในฐานะผู้รับเหมาฯ โดยรวม ซึ่งถ้าย้อนมองจากรัฐสภาฯ มาถึงรถไฟฟ้าสายสีชมพู เอ๊ะ…STEC มือตกไปอ๊ะป่าว..??

แหม๊…อุตส่าห์จะปรับโครงสร้าง เตรียมขึ้นสู่ “โฮลดิ้ง คอมปานี” เพื่อสร้างการเติบโตระยะยาวทั้งที ดันมามีข่าวลบซะงั้น…

สงสัย “หนู” จะแพ้ทาง “กระต่าย” อุ๊ย… STEC จะชงส่งท้ายปีกระต่ายป๊ะเนี่ย..!?

…อิ อิ อิ…

Back to top button