TESG อาจไม่มาตามนัด
ล่าสุด วานนี้ (25 ธ.ค.) สมาคมนักวิเคราะห์การลงทุนเผยตัวเลขยอดซื้อ Thai ESG พบว่า มีการเปิดขายทั้งหมด 16 บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวม
ล่าสุด วานนี้ (25 ธ.ค.) สมาคมนักวิเคราะห์การลงทุนเผยตัวเลขยอดซื้อ “กองทุนรวมไทยเพื่อความยั่งยืน” หรือ Thai ESG
พบว่า มีการเปิดขายทั้งหมด 16 บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวม (บลจ.)
ช่วงเวลาเปิดขายผ่านมาแล้ว 15 วัน (8–22 ธ.ค. 66)
มียอดรวมกันเกือบ 3,000 ล้านบาท
เท่ากับว่า ณ เวลานี้ เหลือเวลาอีก 6 วัน (23-28 ธ.ค. 66) ที่จะเปิดขายกองทุนดังกล่าว
ต้องมาลุ้นกันว่าจะได้เงินลงทุนกว่า 1 หมื่นล้านบาท ตามที่มีการคาดการณ์กันไว้หรือเปล่า
ในช่วงปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา
มีโอกาสนั่งสนทนากับ CEO ของ บลจ.แห่งหนึ่ง
เขาประเมินตัวเลขของแต่ละ บลจ.ที่ขายกองทุน TESG ออกมา
สรุปตัวเลข น่าจะอยู่ระหว่าง 5.5–6 พันล้านบาท
ยอดขายหลัก ๆ จะมาจาก บลจ.ที่มีธนาคารเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ เช่น บลจ.กสิกรไทย บลจ.ไทยพาณิชย์ บลจ.บัวหลวง และ บลจ.กรุงศรี และ บลจ.เกียรตินาคินภัทร
ปรากฏว่า ตัวเลขที่สมาคมนักวิเคราะห์เผยออกมาวานนี้
เป็นตัวเลขที่ CEO คนนี้ประเมินไว้ได้ใกล้เคียงมาก
หรือคาดหมายได้เลยว่า บลจ.แห่งใด จะมียอดขายมากสุด และลำดับรองลงมาจะมีใครบ้าง พร้อมกับตัวเลขคร่าว ๆ
ส่วนตัวเลขของสมาคมนักวิเคราะห์ที่เผยออกมา สรุปได้ คือ
1.บลจ.กสิกรไทย (KAsset) ทำได้ 582 ล้านบาท ตั้งแค่กองเดียวเน้น ๆ ในแบบ Passive Fund หรือลงทุนแบบเกาะไปตามดัชนีอ้างอิง
อันดับ 2 บลจ.ไทยพาณิชย์ (SCBAM) มียอด NAV รวมกันทั้ง 6 กอง จำนวน 515 ล้านบาท
เท่าที่ดูตัวเลขรายกอง พบว่า แบบกองผสมมียอดซื้อมากสุด
และกองที่มีนโยบายปันผลมียอดสูงกว่ากองที่ไม่มีนโยบายปันผล
อันดับ 3 บลจ.บัวหลวง (BBLAM) ตั้งกองเดียวในแบบกอง Active เป็นกอง Active รวม NAV เท่ากับ 421 ล้านบาท
อันดับ 4 บลจ.กรุงไทย (KTAM) ใช้ยุทธวิธีออกเป็น 3 กอง ใน 3 แนวทางให้เลือก คือ
1.แบบผสมหุ้น ESG เกรด A กับตราสารหนี้ ในสัดส่วน 70/30
ส่วนแนวทาง 2.Active Fund ลงในหุ้น ESG เกรด A
และแนวทาง 3.หุ้น ESG 50 ตัวที่ใหญ่สุด
ทั้ง 3 กองมีนโยบายจ่ายปันผลเช่นเดียวกัน สามารถกวาดยอด NAV มาได้รวมกัน 277 ล้านบาท โดยกองที่ขายดีสุด คือกองแบบผสมหุ้นกับตราสารหนี้ 70/30
อันดับ 5 เป็นของ บลจ.เกียรตินาคินภัทร อาจจะเซอร์ไพรส์เล็ก ๆ
โดยมีการเสนอเป็น 2 กองทุนที่ต่างกัน 2 ขั้ว คือ กองพันธบัตรรัฐบาล กับกองหุ้นในแนว Active Fund นับเป็นเครือธนาคารเล็กที่กวาดยอดได้มากที่สุด รวมได้ถึง 231 ล้านบาท ที่น่าสนใจคือ กองพันธบัตรขายดีกว่ากองหุ้น
สมาคมนักวิเคราะห์ประเมินว่า
วันที่ 23-28 ธ.ค. 66 น่าจะมีผู้ที่ตามเข้ามาสมทบอีกจำนวนมาก
เพียงแต่ยังรอดูจังหวะ
และอาจยังใช้เวลาเลือกดูว่าจะไปเข้าที่กองทุนไหน กับเลือกของ บลจ.ไหน รวมถึงเทียบค่าบริหารกองทุนและค่าใช้จ่ายในชื่ออื่น ๆ ของแต่ละกองทุนมาเทียบกัน
มีการเปรียบเทียบกับกองทุน LTF จาก ผู้จัดการกองทุนก่อนหน้านี้ว่า
LTF ก็มักจะมียอดเข้ามาในช่วงสัปดาห์สุดท้ายของปีมากที่สุด
ต้องมาลุ้นกันว่า เม็ดเงินจะมาตามนัดหรือเปล่า
แต่จากการสอบถามไปยังผู้บริหาร บลจ.
หากได้ตัวเลขรวม ๆ ประมาณ 5-6 พันล้านบาท ถือว่าน่าพอใจแล้วล่ะ
แต่คงไม่ได้ช่วยกระตุ้นตลาดหุ้นอะไรได้มากนัก